รวมพลัง “ละอ่อนน้อยบ้านขุนแปะ” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะ

 

การปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมจากเกษตรเพื่อกินอยู่ ไปสู่การเกษตรเชิงเดี่ยว ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในทุกพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณค่าและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งผูกพันกับธรรมชาติถูกลบเลือนไป เนื่องเพราะในจิตใจมุ่งแสวงหาแต่ความสุข ที่ต้องแลกมาด้วย “เงิน” เพียงอย่างเดียว

รวมพลัง “ละอ่อนน้อยบ้านขุนแปะ” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะ

“บ้านขุนแปะ” เป็นหมู่บ้านชนเผ่า “ปกาเกอะญอ” ถึงแม้จะตั้งอยู่บนดอยสูงที่ห่างไกล และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายผูกพันกับธรรมชาติมาตลอด ก็ไม่อาจต้านทานกับการไหล่บ่าเข้ามาของกระแสทุนนิยมสมัยใหม่ได้ หลายครอบครัวหันไปทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เพียงหวังว่าจะได้ “เงิน” จำนวนมากๆ เพื่อมาใช้ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามสมัยนิยม สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ “ทุกข์ภาวะ” เพราะถึงจะมีรายได้มากขึ้น แต่ก็ไม่เคยพอจ่ายหนี้ สุขภาพจิตและสุขภาพกายก็ย่ำแย่ ซ้ำร้ายธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เสื่อมโทรมลง

ทาง เครือข่ายกองบุญข้าว และผู้นำชุมชน จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรยั่งยืนบ้านขุนแปะ” ขึ้นในปี 2549 เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรกรรมธรรมชาติพึ่งพาตนเอง ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ย ยา และสารเคมี นำภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ กลับมาใช้ในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพบนหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยปัจจุบันมีแกนนำทั้งสิ้น 24 ครัวเรือน

และเพื่อเป็นการสืบสาน และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ โครงการ “ขุนแปะยิ้มได้ด้วยพลังละอ่อนน้อยสร้างดอยเกษตรเพื่อสุขภาวะ” จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างแกนนำเยาวชน ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่วมกันรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่า ที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายลิเก วงศ์จองพร หัวหน้าโครงการฯนายลิเก วงศ์จองพร หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า กิจกรรมหลักๆ ที่ชักชวนเด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 60 คน อายุตั้งแต่ 10-24 ปี ในชุมชนมาร่วมกันขับเคลื่อนแนวคิดก็คือ การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของของทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและฮอร์โมน สารสมุนไพรไล่แมลง การผลิตและใช้น้ำส้มควันไม้ เรียนรู้เรื่องพืชอาหารและยาสมุนไพรในพื้นที่ โดยเน้นในเรื่องความรู้และทักษะในเรื่องของการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการปลูกฝังเรื่องของคุณค่าเชิงจิตวิญญาณ โดยชาวปกาเกอะญอจะมีสุภาษิตบทหนึ่งบอกว่า ความแกร่งของม้าอยู่ที่เล็บเท้า ความแกร่งของคนก็คือลูกหลาน เพราะฉะนั้นลูกหลานก็จะต้องเป็นคนรุ่นใหม่ ที่จะต้องสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน อย่างการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเช่น เตาเผาน้ำส้มควันไม้ ถ้าเรามองลึกลงไปในเรื่องของคุณค่าในเชิงจิตวิญญาณการที่ น้ำส้มควันไม้มาจากไหน ก็มาจากต้นไม้ ซึ่งตามความเชื่อของปกาเกอะญอมองว่า ต้นไม้ก็มีชีวิตเหมือนกับคน ต้นไม้ต้องสละชีวิตเอาเหงื่อมาเป็นน้ำส้มควันไม้ ตัวกลายเป็นถ่าน เพื่อรับใช้คน ทำให้พืชพรรณดีขึ้น ดินก็ดีขึ้น ซึ่งจิตสำนึกตรงนี้ ถ้าเด็กรุ่นใหม่ได้ทำและตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ ก็จะเกิดความยั่งยืนระหว่างคนและธรรมชาติในการอยู่ร่วมกัน” นายลิเกกล่าว

นายรักชาติ มูทู อายุ 42 ปี แกนนำเกษตรยั่งยืนบ้านขุนแปะเล่าให้ฟังว่า ราว 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนแห่งนี้เริ่มปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรสมัยใหม่ มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก ทำให้ดินและธรรมชาติก็เสื่อมโทรม ถึงจะมีรายได้ดีกว่า แต่ก็มีผลเสียต่อสุขภาพ หลายคนในชุมชนเจ็บป่วยบ่อย ต้องไปหาหมอในเมือง รายได้ที่ได้มากกว่าจึงหมดไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

รวมพลัง “ละอ่อนน้อยบ้านขุนแปะ” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะ

“คนโบราณเขาแนะนำทุกอย่างไว้ดีแล้ว แต่ว่าเรากลับหันไปใช้เคมีทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ มากมาย แต่ปัจจุบันจะทำเพื่อขายหรือกินก็ดีจะต้องใช้ปุ๋ยหมัก ใช้น้ำส้มควันไม้ ทดแทนการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทั้งหมด และเมื่อพวกเราได้ทำกันแล้ว ก็มาคิดว่าถ้าเราแก่ตัวลงไปใครจะมาสานต่อ จึงอยากให้เด็กๆ ได้มาสืบทอดให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนต่อไป ให้แนวคิดเรื่องของการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติ ได้อยู่ในชุมชนของเราต่อไป และให้พวกเขาได้ขับเคลื่อนต่อ” แกนนำชุมชนกล่าว

นางสาวสุภาพร วอบือ หรือ “น้องแอม” อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านขุนแปะ เล่าถึงความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนว่า ทำให้รู้ว่าการที่จะไล่แมลงหรือการใส่ปุ๋ยบำรุงพืชผักนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีอย่างเดียว โดยสามารถใช้สิ่งรอบตัวที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้

รวมพลัง “ละอ่อนน้อยบ้านขุนแปะ” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะ

“ถ้าจะทำสารไล่แมลงก็ใช้ ตะไคร้หอม ชะอม ขิง พริก มาทุบให้แหลกแล้วก็นำมาหมักทิ้งไว้ในถัง ก็จะได้น้ำยาไล่แมลงแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ความรู้ในเรื่องของอาหารและยาอีกด้วย เพราะทั้งๆ ที่เราเกิดและโตขึ้นมาในชุมชนแห่งนี้ เวลาป่วยก็คิดแต่ว่าจะไปหาหมอ ไปซื้อยามากิน มียาแต่ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ รอบๆ บ้านของเราก็มียาหลายอย่าง ขมิ้น เป็นได้ทั้งอาหารและยา ถ้าเป็นแผลก็ทุบขมิ้นประคบที่แผลทำให้แห้งและหายเร็ว รอบตัวของเรามียาเยอะมากจนอธิบายไม่หมด” น้องแอมระบุ

นายพรชัย กุสุมไพรวัลย์ หรือ “ชีวา” อายุ 23 ปี ปัจจุบันช่วยครอบครัวทำการเกษตร ทำนา ปลูกกะหล่ำปี ผักกาดขาว หอมแดง เล่าว่าได้นำความรู้ในเรื่องของสารไล่แมลงไปทำไว้ใช้พ่นผัก และทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุนโดยผสมกับกับการใช้ปุ๋ยเคมี

รวมพลัง “ละอ่อนน้อยบ้านขุนแปะ” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะ

“ยาฆ่าแมลงก็ใช้ แต่ปัจจุบันใช้น้อยลงแล้ว เพราะนำสารไล่แมลงตัวนี้ไปเสริม ผลดีช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาและสารเคมีคุณภาพดินดีก็ขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มพยายามปรับใช้สารเคมีต่างๆ ให้น้อยลง และทำให้รู้ว่าในชุมชนของเรายังมีสิ่งดีๆ อีกมากมาย บางกสิ่งเราไม่เคยเห็นคุณค่ามาก่อน แต่เราก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทำให้มีมีคุณค่าขึ้นมาได้” นายชีวากล่าว

ด้าน นางสาวชลธิชา แดงสวาท หรือ “น้องดา” อายุ 21 ปี บอกว่า พอมาเข้าร่วมโครงการทำให้รู้ว่าการใช้สารเคมีส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้กับแปลงปลูกผักของตนเอง

“ถ้าให้เลือกระหว่างใช้สารเคมี จะเลือกใช้สารธรรมชาติ เพราะไล่แมลงได้จริง ทดลองมาแล้ว แต่ต้องขยันพ่นสารไล่แมลงสักหน่อย พ่นบ่อยสองสามวันต่อครั้งถ้าจะให้ได้ผลดี” น้องดาระบุ

รวมพลัง “ละอ่อนน้อยบ้านขุนแปะ” สร้างดอยเกษตรสุขภาวะ

“ในอนาคตเราอยากจะเห็นชุมชนขุนแปะ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีต่างๆ หันกลับมาทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง พึ่งพาตนเอง พึ่งพาธรรมชาติ ผลดีก็คือป่า น้ำ ดิน ก็จะอุดมสมบูรณ์ สุขภาพของคนในชุมชนก็จะดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลงไป ทั้งในเรื่องของการซื้ออาหารเล็กน้อยๆ ตามร้านค้าทั้งๆ ที่เราสามารถปลูกได้ในครัวเรือน และสิ่งสำคัญก็คือ ปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าของธรรมชาติ อยากให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปขยายผลต่อกับครอบครัวของตัวเอง ลด ละ ละเลิก ใช้สารเคมี หันมาพึ่งพาวิถีแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาธรรมชาติที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป

 

ที่มา: ไทยพีอาร์ดอทเน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code