มาตรการทางสังคม สร้างส่วนร่วม เฝ้าระวังพนันบอล
จับตามอง แจ้งเบาะแส
ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ!ภาคประชาสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างมาตรการในการเฝ้าระวัง จับตา รวมทั้งทำงานรณรงค์เพื่อกระตุ้นสังคม
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยของมีเดีย มอนิเตอร์กล่าวว่าการพนันเป็นธุรกิจที่ให้ผลประโยชน์มหาศาล เงินใต้ดินที่งอกงามก่อผลสะเทือนในรูปแบบอาชญากรรมร้ายแรง ขโมย
ปล้นจี้ ชิงทรัพย์ ขายบริการทางเพศ เม็ดเงินมหาศาลจากการพนันไม่ได้กระตุ้นจีดีพีหรือก่อรายได้แต่กลับสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากอาชญากรรมทางสังคมในรูปแบบต่างๆ
หลายคนอาจจะกล่าวอ้างว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเปิดเสรีการพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้
หมายความว่าสังคมไทยจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีผลการศึกษาทั้งเรื่องพฤติกรรม นิสัยและการจัดการทางการเงิน แต่ไม่ได้หมายความว่า หากเรามีระเบียบวินัยทางการเงินแล้ว เราจะยอมรับเพราะการพนันเสรีเป็นหนึ่งในอบายมุข5 และอยู่ภายใต้ข้อห้ามทางศีลธรรมของสังคมไทย นโยบายของรัฐจะต้องทำหน้าที่ในการควบคุม ป้องกันและปราบปราม ไม่ใช่สนับสนุนเสรีภาพการพนัน
ธาม ขยายภาพให้เห็นว่า การพนันฟุตบอลทำได้ง่ายๆเกิดขึ้นทั่วไป ใต้หอพัก ร้านเฟรชมาร์ท ร้านเกมส์หรือระหว่างเพื่อนกับเพื่อนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเข้าสู่วงจรการพนัน
สำหรับยุทธศาสตร์เชิงป้องกันที่ต้องทำ คือ 1. เน้นไปที่ตำรวจในเรื่องการปราบปรามโต๊ะรับแทงพนันฟุตบอลโดยเฉพาะเกี่ยวข้องหรืออยู่ใกล้สถาบันการศึกษา เฝ้าระวังทั้งผู้กระทำผิดกฏหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปมีส่วนในวงจรพนันฟุตบอล 2.มาตรการเชิงป้องกันเน้นการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคม เน้นเรื่องการให้ความรู้ 3.การปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการสร้างพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต เช่น ไม่อยากรวยทางลัด ทั้งนี้ สื่อมวลชนต้องมีบทบาทในการสนับสนุนมาตรการหยุดการพนันไม่ใช่”เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดวงจรการพนัน”
อย่างไรก็ตาม องค์กรทางสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา (การพนัน) รัฐ องค์กรสื่อมวลชน สถาบันวิชาชีพสื่อมวลชน สถานศึกษา ภาคประชาสังคม ต้อง
ทำงานร่วมกันแล้ววางเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ
ธามเชื่อว่า กีฬาเป็นสิ่งที่ดี หากเราช่วยกันหรือกระตุ้นให้สื่อมวลชนนำเสนอในมุมมองเสริมให้เกิดพลังของความรักและสามัคคี พัฒนาศักยภาพวงการฟุตบอลมากกว่าผลประโยชน์จากการหาโฆษณาหรือทายผลการแข่งขันเขาอธิบายว่า กีฬาถูกการตลาดทำให้เป็นธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่และซับซ้อน เน้นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมากกว่าพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬา โดยเฉพาะสื่อมวลชนไทยที่ไม่ได้เอื้อให้คนเสพกีฬาเพื่อการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาสังคมเขาตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ไม่มีฟรีทีวีหรือรายการทีวีช่องไหนที่วิเคราะห์ฟุตบอลโลก เจาะลึกทางด้านการบริหารจัดการทีมหรือสโมสร การฝึกซ้อม การเตรียมการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันของแต่ละทีม
สื่อมวลชนทำหน้าที่เพียงวิเคราะห์การเล่นเชิงเทคนิคเพื่อฟันธงเกมส์ว่าทีมไหนจะเป็นฝ่ายชนะ ทีมไหนจะเป็นฝ่ายแพ้เราเห็นเกมส์กีฬา (ฟุตบอล) เป็นเพียงวัฒนธรรมบันเทิง เช่นนี้แล้วจะไม่ให้คนเข้าสู่วงจรการพนันได้อย่างไร …?
มีเดีย มอนิเตอร์ เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เอาไว้ 4 แนวทาง คือ 1.องค์กรภาครัฐจะต้องบังคับใช้มาตรการทางกฏหมายอย่างเด็ดขาดและเกิดผลในทางปฏิบัติ 2.องค์กรภาคประชาสังคมต้องจับตา เฝ้าระวังให้ความรู้และตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน 3.องค์กรภาคธุรกิจสื่อมวลชน ทำหน้าที่กำกับเนื้อหาและตรวจสอบการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง 4.องค์กรด้านสื่อวิชาชีพจะต้องยอมรับเงื่อนไขเชิงวิชาชีพในการนำเสนอข่าวสารด้านการกีฬา
มีเดีย มอนิเตอร์และเราทุกคนหวังว่า ฟุตบอลโลกครั้งนี้และครั้งต่อไป เราคงไม่ต้องมาพูดถึงปัญหาซ้ำๆ เดิมๆหากเราเชื่อว่า พลังของเราทุกคนสามารถสร้างสังคมปลอดอบายมุขทุกรูปแบบได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update: 29-06-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ