มหันตภัยโรคซึมเศร้ามาแรงสูสีโรคหัวใจ
ชี้เสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20 เท่า
สาธารณสุขเผย “ซึมเศร้า” โรคยอดฮิตของประชากรโลกที่ส่อความรุนแรงในลำดับต้นๆ หากผู้ป่วยไม่ได้เยียวยารักษาโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า “รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต” ระบุจากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก ปี 2563 จ่อคิวขึ้นรั้งอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ขณะที่ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตชี้ชัด คนกรุงเทพฯครองแชมป์ โดย 2 ใน 3 เพศหญิง อายุระหว่าง 35-54 ปี
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกพบว่า ภายในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะ ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชากรโลกเป็นเท่าตัวและเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น กรมสุขภาพจิตจึงได้กำหนดนโยบายให้ ปี 2552-2563 เป็นทศวรรษแห่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า ซึ่งจะมีมาตรการในการป้องกันโดยเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพการดูแลรักษา ลดอัตราการป่วยของโรค และบูรณาการเข้าไปในระบบสุขภาพทุกระดับ
โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่รุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของภาวะโรคทั้งหลายทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้เป็นโรคเรื้อรังผู้ป่วยอาจมีความคิดเรื่องฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตนเอง ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า แต่กลับมีข้อมูลอัตราการเข้าถึงบริการเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2550-2552 ว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน ได้รับการดูแลรักษาเพียง 4 คน หรือแค่ 3.94% เท่านั้น
จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพ จิตปี 2551 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณร้อยละ 2.39 แบ่งเป็น อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ ร้อยละ 3.47 อันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.77 อันดับ 3 ภาคใต้ ร้อยละ 2.11 อันดับ 4 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.95 และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคกลาง ร้อยละ 1.70 โดย 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 35-54 ปี
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า โดยปกติคนเราต้องเผชิญกับภาวะอารมณ์เศร้าและความรู้สึกสูญเสีย ผิดหวัง รู้สึกท้อแท้หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่เรายังคงสามารถทำงาน หรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ และภาวะอารมณ์เช่นนี้จะอยู่กับเราไม่นาน เพราะเราสามารถปรับตัวรับมือ และผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไป ได้แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงนานเกิน 2 สัปดาห์และส่งผลกระทบจนเราทำงานไม่ได้ นอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเดือนเหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายของโรคซึมเศร้า
การดำเนินงานในครั้งนี้ได้กำหนดให้เป็นนโยบายทศวรรษระยะเวลาต่อเนื่อง 10 ปี โดยมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มบริการ พัฒนาแบบคัดกรองอย่างง่าย และรณรงค์ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และสามารถ คัดกรองตนเองรวมทั้งพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในทุกระดับให้สามารถคัดกรอง ผู้ป่วยได้ ซึ่งการป้องกันโรคซึมเศร้าที่ได้ผล คือ การตรวจคัดกรองและหากตรวจพบต้องให้การช่วยเหลือทันทีตั้งแต่เริ่มมีภาวะซึมเศร้า โดยกรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเครื่องมือคัดกรองอย่างง่าย และมีความไวเหมาะสำหรับใช้ในชุมชน เรียกว่า “แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม หรือ 2q” ซึ่งผู้ที่ได้รับผลบวกจากเครื่องมือนี้มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วย “แบบประเมินภาวะซึมเศร้า 9 คำถาม 9q” และตามด้วยการประเมินแนวโน้มการฆ่าตัวตาย ด้วยแบบประเมิน 8 คำถาม 8q เพื่อนำไปสู่การได้รับความช่วยเหลือต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ download แบบคัดกรองซึมเศร้าด้วยตนเองได้ที่ www.dmh.go.th หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323, 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง และสายด่วนสุขภาพจิต กทม. 0-2246-3201 ในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
update 01-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์