พัฒนาสื่อที่ดี ต้องให้ความรู้-สร้างปัญญา

พัฒนาสื่อที่ดี ต้องให้ความรู้-สร้างปัญญา thaihealth


เครือข่ายทางสังคมจัดเสวนา สื่อคือโรงเรียนของสังคม แนะต้องเติมเต็มเนื้อหาให้ความรู้-สร้างสติปัญญาให้ผู้คน


เมื่อวันที่ 14 มี.ค. สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) ร่วมกับสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์ (มสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ร่วมกันจัดให้มีเวที “การศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” เพื่อให้เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะจัดประชุมร่วมกันทั้งหมด 12 เวที


สำหรับเวทีเสวนาในครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ “สื่อคือโรงเรียนของสังคม” ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุโกสินทร์


รศ.ดร.จุมพล รอดคำดี กรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันเรามีข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย แต่สื่อกลับไม่มีการนำเสนอ ทั้งที่มีคนเสพสื่อทุกวัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องบูรณาการสื่อและใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ เพราะสื่อถือเป็นโรงเรียนของสังคม เป็นโรงเรียนตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสิ่งที่คู่ขนานกับชีวิตทุกคนตลอด ไม่ได้เป็นโรงเรียนชั่วคราว หรือเฉพาะด้าน


"เรามีรายการวิทยุเพื่อเด็ก มีช่องทีวี และสื่อออนไลน์ แต่ก็มีข้อจำกัด และบ่อยครั้งสื่อเองก็ไม่ได้รับรู้ปัญหาโดยตรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีสื่อสารปัญหาเหล่านี้ออกมาให้มากขึ้น ที่ไม่เพียงแต่สื่อจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสาร หรือเป็นกระจกคอยสะท้อนสังคมแล้ว ยังต้องเติมเต็มเนื้อหาการให้ความรู้ และสร้างสติปัญญาความรู้ดีๆเข้าไปในสื่อด้วย โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก เพราะสื่อถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงสังคม"รศ.ดร.จุมพล กล่าว


ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส แสดงความคิดเห็นในเรื่องการใช้สื่อเพื่อขับเคลื่อนระบบปฏิรูปการศึกษา ว่าสภาวะความล้มเหลวจากการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยนั้น ต้นตอของปัญหาซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่า ความเป็นจริงเราควรโทษที่ตัวสื่อ หรือระบบการศึกษา เพราะจากประสบการณ์ทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ผ่านมา แม้ว่าสื่อเองจะพยายามนำเสนอในเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาของสังคม หรือความทุกข์ของประชาชนเพื่อนำมาซึ่งทางออกนั้น กลับไม่ได้รับความสนใจเท่ากับข่าวที่เป็นกระแสของสังคม นั่นเป็นเพราะคนยังขาดการเรียนรู้ที่จะเสพสื่อ หรือรู้เท่าทันสื่อหรือไม่


"ทุกครั้งเรามักจะโทษสื่อมาโดยตลอดว่า ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสื่อ แต่กลับไม่ได้มีกระบวนการเรียนรู้การเสพสื่ออย่างเป็นรูปธรรมว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ซึ่งทางออกก็ต้องมองย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษา คือการศึกษาถูกสังคมคาดหวังว่าจะเป็นทางออก แต่ขณะเดียวกันระบบการศึกษาเองก็กำลังเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้นนอกเหนือจากการปฏิรูปสื่อเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีแล้ว ทางออกของการปฏิรูปการศึกษาจริงๆแล้วคืออะไร และเราต้องการอะไรจากการปฏิรูปการศึกษา"บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส กล่าว


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code