พลังงาน “น้ำ-ลม” ทางเลือกเพื่อชุมชน

ลดรายจ่ายสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน

 

พลังงาน “น้ำ-ลม” ทางเลือกเพื่อชุมชนพลังงาน “น้ำ-ลม” ทางเลือกเพื่อชุมชน

          ด้วยสภาพพื้นที่การเกษตรในตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีลักษณะเป็นเนินเขา เกษตรกรจึงมีปัญหาในเรื่องของการนำ น้ำที่อยู่ในพื้นที่ต่ำหรือในหุบเขาขึ้นมาใช้บนไร่นาในฤดูแล้ง และมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นค่าเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำ

 

          ประกอบกับสภาพพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่สูง และมีลักษณะเป็นร่องเขาระหว่างเทือกเขาภูหลวงและภูกระดึงทำให้มีกระแสลมพัดแรงตลอดเวลา สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงร่วมกันหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจัดทำ โครงการพัฒนาสาธิตการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนในเขตอำเภอภูหลวง จังหวัดเลยขึ้นมาโดยใช้พื้นที่ของ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงเป็นฐานเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือกให้กับชุมชน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

 

            นายดิรก สาระวดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากการทำแผนด้านพลังงานร่วมกันของตำบลเลยวังไสย์ และมูลนิธิเลยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งพื้นที่นี้ฐานเดิมเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรแบบธรรมชาติร่วมกับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 จึงเลือกใช้พื้นที่ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงเพื่อให้เป็นแหล่งขยายความรู้ ในเรื่องของพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมโดยชุมชนมีส่วนร่วม

 

          เป้าหมายของโครงการพลังงานทางเลือกอย่างน้อยเราอยากจะให้คนในชุมชนตำบลเลยวังไสย์ได้นำเอาศักยภาพในพื้นที่ที่มีอยู่ของตนเองมาใช้ โดยเฉพาะเรื่องของลมเนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีความเหมาะสมสูงมาก และเราพยายามที่จะสร้างครูภูมิปัญญาหรือครูพลังงานหรือปราชญ์ชาวบ้านด้านพลังงานทางเลือกเพื่อให้เกิดการต่อยอดได้เอง นอกจากนี้เราพยายามที่จะสร้างให้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ผสมผสานระหว่างป่าผืนใหญ่ วิถีชีวิตชุมชน และพลังงานทางเลือกอย่างเหมาะสมนายดิรกกล่าว

 

          โดยทางโครงการฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาด้านพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มปริมาณต้นไม้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทน ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นป่ารักษาแหล่งน้ำ ปลูกต้นไม้หัวไร่ปลายนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานชีวมวล กระตุ้นให้ชุมชนให้เกิดความรักและหวงแหนภูมิทัศน์อันสวยงามและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาและสาธิตการใช้พลังงานทางเลือกให้กับชุมชน ทั้งในเรื่องของเตาเผาถ่าน การผลิตน้ำส้มควันไม้ การพัฒนาเตาเศรษฐกิจเพื่อประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ แต่พลังงานทดแทนที่โดดเด่นและถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชนแห่งนี้ก็คือเรื่องของ กังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าและ เครื่องตะบันน้ำเพื่อสูบน้ำไปใช้บนไร่นา

 

พลังงาน “น้ำ-ลม” ทางเลือกเพื่อชุมชน

          นายอดิศร สุนทรารักษ์ รองเลขาธิการมูลนิธิเลยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิฯว่า จะเน้นในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาอาชีพของชาวบ้าน โดยผสมผสานสองคำนี้ให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งส่งเสริมในเรื่องของการทำ วนเกษตรหรือ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างและเห็นว่าน้ำเป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าการที่จะเอาน้ำมาใช้สนับสนุนในแปลงเกษตรของชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องยาก ชาวบ้านต้องไปซื้อน้ำมัน ซื้อเครื่องสูบน้ำขึ้นไปใช้บนเขา เลยมีความคิดว่าน่าจะนำเรื่องของพลังงานทดแทนมาใช้ จึงเป็นที่มาของกังหันลมและเครื่องตะบันน้ำ

 

          สิ่งที่เราอยากเห็นในพื้นที่นี้ก็คือชาวบ้านอยู่ได้อยู่ดีมีสุขภายใต้แนวคิดเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งตนเอง โดยเราจะสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีที่เหมาะสม อย่างกังหันลมชาวบ้านสามารถสร้างเองได้เกือบทั้งหมด ใบของกังหันก็ทำจากไม้ ยกเว้นอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องซื้อมาประกอบ แต่เรากำลังพัฒนาให้มีราคาถูกลงแต่ปัจจุบันยังมีราคาแพงโดยมีต้นทุนประมาณ 40,000 บาท แต่พลังงานที่ได้สามารถที่จะนำไปใช้กับเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งไฟส่องสว่าง อุปกรณ์สำนักงาน ส่วนเครื่องตะบันน้ำมีต้นทุนที่ถูกมากเพียง 2 พันบาทเท่านั้น ใช้กระสอบทรายทำ check dam ก็สามารถที่จะส่งน้ำขึ้นไปบนเขาที่สูงๆ ได้ไกลเป็นกิโลเมตร โดยสามารถสูบน้ำได้ชั่วโมงละประมาณ 200 ลิตร ซึ่งพลังงานทางเลือกทั้ง 2 ด้านก็จะไปตอบโจทย์ในเรื่องของน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตร ทำอย่างไรให้ลดต้นทุนในการนำน้ำขึ้นมาใช้ ส่วนพลังงานทางเลือกอื่นๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาเสริม ซึ่งถ้าเราได้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาช่วยก็น่าที่จะทำเรื่องของพลังงานทั้ง 2 ชนิดได้ดีมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของเครื่องตะบันน้ำน่าจะส่งเสริมง่ายเพราะมีต้นทุนต่ำ ง่าย ไม่ซับซ้อน นำไปใช้ได้จริง และแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในฤดูหนาวและร้อนไม่สามารถที่จะส่งน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงพื้นที่บนเขาได้รองเลขาธิการมูลนิธิฯกล่าว

 

          นายแสวง ดาปะ กำนันตำบลเลยวังไสย์ เล่าว่าเข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างสุขภาวะให้กับชุมชน ด้วยการสนับสนุนการจัดทำแปลงเกษตรตัวอย่างเพื่อให้มีการเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำการเกษตรแบบพออยู่พอกินพอใช้

 

          มีไร่อยู่บนภูเขาแต่มีน้ำอยู่ข้างล่างก็เลยคิดว่าทำอย่างไรจะนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยยึดหลักของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเรามีอะไรอยู่ก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นทุน เห็นว่าที่สวนมีลมแรงเพราะอยู่บนเนินเขา ทำอย่างไรที่จะเอาลมมาเป็นประโยชน์ได้ ก็เลยคิดว่าจะทำกังหันลมมาผลิตไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ ทางมูลนิธิฯ จึงพาไปดูงานและไปเรียนรู้กับ อาจารย์บรรจง ขยันกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อก่อนที่ใช้เครื่องสูบน้ำต้องใช้น้ำมันเบนซินวันละไม่ต่ำกว่า 4 ลิตร ช่วงน้ำมันแพงๆ ก็หมดเงินไปวันละหลายร้อยบาท ซึ่งเรื่องของพลังงานทดแทนชาวบ้านเริ่มสนใจกันมากขึ้น แต่ยังติดในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่แกนนำชาวบ้านกล่าว

 

          นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวถึงการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็เริ่มมีความตระหนักกันมากขึ้นเพราะว่ามีความเกี่ยวพันกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องของภาวะโลกร้อนซึ่งมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของคนในชุมชน

 

           ถ้าชุมชนหันกลับมาใช้พลังงานทางเลือกก็จะสามารถทำให้ชุมชนสามารถดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพโดยใช้พื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าชุมชนนำพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกมาใช้ก็จะสามารถพึ่งตนเองได้โดยเฉพาะชุมชนที่ห่างไกล นอกจากจะส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ด้านพลังงานและจะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและเกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องนางงามจิตต์กล่าวสรุป

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

 

 

update: 18-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code