พบยาฆ่าแมลงโผล่ปลาร้า-ปลาแห้ง

แนะผู้บริโภคสังเกตก่อนซื้อ

 

 พบยาฆ่าแมลงโผล่ปลาร้า-ปลาแห้ง

          เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางด้านอาหาร ของหน่วยเคลื่อนที่ กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในปี 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการเก็บตัวอย่าง ปลาร้า ปลาแห้ง และปลาเค็ม ในตลาดสด ตลาดนัด และห้างสรรพสินค้า จาก42 เขตในกรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ยาฆ่าแมลง โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น จีที-เทสต์

          

          คิท (gt-test  kit) ซึ่งสามารถตรวจหาสารเคมีได้ 2 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต เป็นสารกำจัดศัตรูพืช ผลปรากฏว่าพบยาฆ่าแมลงในผลิตภัณฑ์ปลาร้า ปลาแห้งและปลาเค็มจำนวน 85 ตัวอย่างจาก 200 ตัวอย่าง คิดเป็น 42.50% ส่วนอีก 115 ตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อน

         

          เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ถึงแหล่งที่มาของยาฆ่าแมลงสันนิษฐานว่า มีสาเหตุ 3 ประการ คือ

         

          1.วัตถุดิบที่เป็นปลาอาจมียาฆ่าแมลงตกค้างจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร ที่ลงสู่แหล่งน้ำอันเป็นที่อาศัยของปลา แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด 2.อาจเกิดจากกระบวนการผลิตเนื่องจากผู้ผลิตฉีดพ่นเพื่อป้องกันและขับไล่แมลงวันระหว่างที่นำไปตากแดด และ 3.อาจมาจากพ่อค้าแม่ค้าฉีดยาฆ่าแมลง ระหว่างที่วางจำหน่ายเพื่อป้องกันแมลงวันมาตอมและวางไข่โดย 2 สาเหตุหลังมีความเป็นไปได้มากที่สุด

        

           นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า การตรวจพบในครั้งนี้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวการตรวจพบยาฆ่าแมลงในอาหารจำพวกปลาแห้งเช่นกัน โดยได้มีการแจ้งเตือนประชาชนมาโดยตลอด สำหรับกรณีของปลาร้า ความจริงแล้วไม่น่าจะใช้ยาฆ่าแมลง เพราะกระบวนการ

         

          ผลิตหากหมักด้วยเกลือที่เค็ม เก็บในภาชนะปิดฝาสนิท หรือ หาอะไรมาคลุมก็น่าจะป้องกันแมลงวันได้ เว้นแต่ว่าเป็นการหมักจืด คือ ใส่เกลือไม่เยอะ ก็อาจจะทำให้มีโอกาสเกิดหนอนได้ ดังนั้นจึงฝากเตือนไปยังผู้ผลิต และพ่อค้าแม่ค้าว่าไม่ควรใช้ยาฆ่าแมลง และคิดว่าผู้ผลิตปลาร้าส่วนใหญ่คิดว่าคงไม่มีใครที่คิดจะใช้ยาฆ่าแมลงอยู่แล้วส่วนการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า

         

          นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า กรณีของปลาร้าก็คงเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ผลิตและแจ้งเตือนไปยังประชาชนเท่านั้น เพราะตามกฎหมาย อย.ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นสินค้าพร้อมปรุงไม่ได้บรรจุอยู่ในภาชนะ ยกเว้นแต่มีโรงงานผลิตเป็นอุตสาหกรรม หรือ ผลิตเป็นปลาร้าที่อยู่ในภาชนะ ดังนั้นคงจะใช้วิธีการแจ้งเตือนและประสานไปยังท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

         

          ด้าน ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.กองควบคุมอาหาร อย. กล่าวว่า ในผลิตภัณฑ์ปลาร้า ปลาแห้ง และปลาเค็มจำนวน85 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบยาฆ่าแมลงแบ่งเป็นปลาร้า 51 ตัวอย่าง ปลาแห้ง 29 ตัวอย่างและปลาเค็ม 5 ตัวอย่าง ทั้งนี้หากรับประทานปลาที่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อนเป็นระยะเวลานาน จะเกิดการสะสมในร่างกายส่งผลต่อระบบสมอง และระบบประสาททำให้ความจำเสื่อม สมาธิสั้น ตับ และไตทำงานเสื่อมสภาพ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอทำให้ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย เป็นหมันในเพศชาย และก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ

         

          “หากต้องการเลือกบริโภคให้ปลอดภัยก็ควรจะต้องมีการสังเกตเวลาซื้อโดยสังเกตจากสภาพแวดล้อม เนื่องจากปกติแล้วอาหารจำพวกปลาร้าจะมีแมลงวันตอม แต่หากไม่มีแมลงวันตอมก็อย่าได้วางใจซื้อ และก่อนนำมารับประทานควรนำมาผ่านความร้อนก่อน สำหรับผู้บริโภคที่สนใจจะหาความรู้ในการเลือกซื้อปลาร้าและอาหารต่าง ๆ มาบริโภค ตลอดจนการเตรียมอาหารก่อนบริโภคที่สามารถลดการสะสมของยาฆ่าแมลงได้ เช่น การคัดเลือก การล้าง การปรุงอาหาร เพื่อให้อาหารมีความปลอดภัยก่อนที่จะนำมาบริโภค ได้จากหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของ อย. ที่ไปประชาสัมพันธ์ในสถานที่ต่าง ๆ ใกล้บ้าน”ผอ.กองควบคุมอาหาร กล่าว.

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update 14-12-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติยา  ธนกาลมารวย

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code