ตั้งกรรมการฟื้นฟูวัฒนธรรม
แก้ปัญหาชาวเล
รมต.สำนักนายกฯ ลั่นขอเป็นเจ้าภาพประสานทุกฝ่าย ตั้งกรรมการฟื้นฟูวัฒนธรรม แก้ปัญหาชาวเล ที่ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกิน แฉนายทุนเสนอ 10 ล้านขอซื้อที่สุสาน รุกเขตพื้นที่วัฒนธรรม เตรียมนำร่องประกาศเขตวัฒนธรรม จากพื้นที่โฉนดชุมชน ด้านกรมอุทยาน ประกาศให้ชาวเล ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้
เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนามเป้า โครงการสื่อสารสุขภาวะเพื่อคนชายขอบ จัดเสวนาโต๊ะกลมตอบคำถามและชี้แจงประเด็นข่าวกรณีปัญหาของชาวเลและการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่อันดามัน โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ร่วมรับฟังความคิดเห็น
ดร.นฤมล อรุโนทัย ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวเลจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากเดิมชุมชนชาวเลสามารถอาศัยบริเวณแนวชายฝั่งทะเล โดยไม่มีปัญหาเรื่องที่ทำกิน แต่หลังจากการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว ส่งผลให้ชุมชนชาวเลมากกว่า 50% มีปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ทั้งที่เคยอยู่มาก่อน ซึ่งวิถีชีวิตของชาวเลคือ เคลื่อนย้ายไปมาและกลัวราชการจึงไม่เคยต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน จนเกิดเหตุการณ์สึนามิที่มีการรื้อฟื้นการครอบครองสิทธิทางที่ดิน ทำให้เป็นการเปิดแผลของปัญหาให้เห็นชัดขึ้น โดยพบว่าชุมชนชาวเล กลายเป็นผู้บุกรุกเพราะไม่มีโฉนด บางพื้นที่เป็นที่สุสานของบรรพบุรุษ และยังเกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากินในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอแนะต่อการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมของชาวเล โดยเครือข่ายชุมชนชาวเล คือ ขอให้สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยใช้โฉนดชุมชน และขอให้มีการจัดทำเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล และขอให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ได้ ซึ่งกรณีของชาวเลถือเป็นกรณีตัวอย่างให้ชนพื้นเมืองที่อื่นๆ
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประกาศให้มีเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของชาวเลให้เป็นที่นำร่อง ซึ่งการเดินหน้าเรื่องแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ต้องเปลี่ยนในเรื่องกรอบความคิดใหม่ ต้องทำความเข้าใจในวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขา โดยการจะนำสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในชุมชน ก็ต้องคำนึงว่าจะไม่กระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งปัญหาพบว่า เรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ เรื่องที่ดินทำกิน ดังนั้นจะเริ่มจากพื้นที่ที่เป็นโฉนดชุมชน ให้เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษด้วย ซึ่งโฉนดชุมชนขณะนี้มีอยู่ 88 พื้นที่ เฉพาะพื้นที่พังงา ภูเก็ต ประมาณ 14-15 พื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยาน การประกาศโฉนดชุมชนจะให้อุทยานให้ความเห็นชอบให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกกระทรวงให้ความร่วมมือ ซึ่งการจัดทำโฉนดชุมชนเป็นการแก้ปัญหาพื้นที่ที่คนไปอยู่ในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งขณะนี้มีอยู่เกือบ 10 ล้านคน จึงเป็นการแก้ไขปัญหาโดยไม่นำคนออกจากพื้นที่
“ขณะนี้พบว่าในพื้นที่สิเหร่ ได้มีเอกชนเสนอเงินถึง 10 ล้านบาท เพื่อขอซื้อพื้นที่สุสานของชุมชนชาวเล แต่เขาไม่ขาย เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อของเขา ซึ่งเป็นปัญหาการปะทะระหว่างทุนสมัยใหม่กับวิถีชีวิตดั้งเดิม ส่วนแนวทางฟื้นฟูเขตวัฒนธรรมนั้น ผมขอเป็นเจ้าภาพเพื่อประสานทุกฝ่าย โดยจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมโดยเร็ว” นายสาทิตย์ กล่าว
ด้านนายสุวิทย์ รัตนมณี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ชาวมอแกนมีส่วนในการทำกินในพื้นที่ ถือเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานอยู่แล้วในการอนุรักษ์ทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและบุคคลให้คงอยู่ ส่วนการเร่รอนของคนเกิดขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิ ที่มีคณะกรรมการระดับชาติมาตั้งที่อยู่อาศัยให้กับคนมอแกน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา ซึ่งเป็นการดำเนินงานของหลายหน่วยงาน จึงเป็นสิ่งที่ต้องลงไปแก้ไขในพื้นที่ให้คงวิถีชีวิตตามความต้องการของเขา เพราะวิถีชีวิตของชาวมอแกน จะอพยพตามถิ่นฐานในที่ต่างๆ แล้วเวียนกลับมาถิ่นเดิม ซึ่งกรมอุทยานฯ ไม่ได้ดำเนินการที่ก่อปัญหากับวิถีชีวิตของชาวมอแกน การทำมาหากินเล็กน้อยของชุมชนในพื้นที่สามารถทำได้ โดยกรมอุทยานฯ ไม่มีมาตรการขับไล่ และหากมีปัญหาในพื้นที่สามารถเสนอได้ที่กรมอุทยานฯ
Update : 09-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร