จุดอันตรายเสี่ยงติดหวัด2009

ตัดวงจรไวรัสมฤตยู!

 

จุดอันตรายเสี่ยงติดหวัด2009          เพียงไม่กี่เดือนหลังการระบาดครั้งแรกที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ก็ระบาดลามกระจายสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก พร้อมคร่าชีวิตผู้คนอย่างรวดเร็ว

 

          สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า น่าจะมีคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 แล้ว ถึงประมาณ 200,000 คน แต่ที่ได้รับการตรวจยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการ และรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการมีประมาณกว่า 3,000 รายในขณะนี้ ขณะที่ตัวเลขการเสียชีวิต ณ วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 18 ราย และคาดว่านาจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้

 

          จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคโรคสหรัฐอเมริการะบุว่า ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ของโลกนี้ เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่มีหมูเป็นพาหะนำโรค และถูกเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และไข้หวัดใหญ่เข้าไปอยู่ในตัว ต่อมาเซลล์ในตัวหมูถูกไวรัสตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปโจมตี ทำให้หน่วยพันธุกรรมไวรัสดังกล่าวผสมปนเปกันระหว่างการแบ่งตัว กลายเป็นเชื้อพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

 

          ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 นี้ มีลักษณะพันธุกรรม หรือยีนที่ประกอบด้วยเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์รวมอยู่ด้วยกัน ได้แก่ เชื้อไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ เชื้อไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และเชื้อไข้หวัดหมูที่พบบ่อยในทวีปยุโรปและเอเชีย

 

          จากการผสมปนเปของเชื้อไวรัสนี้เอง ที่ทำให้จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า เชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ จริงๆ แล้วรุนแรงหรือไม่รุนแรงกันแน่น เพราะผู้ป่วยบางคนติดเชื้อ อาจจะไม่มีอาการเลย ขณะนี้บางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว

 

          แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งหมดและผู้เชี่ยวชาญต่างระบุตรงกันคือ เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 นี้ มีแนวโน้มจะระบาดต่อเนื่องไปอีก 1-3 ปี สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้เพื่อจะช่วยสกัดกั้น หรือตัดวงจรเชื้อไวรัสมฤตยูนี้คือ

 

          “แหล่งแพร่โรค”

 

          นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า โรงเรียนเป็นแหล่งที่มีการแพร่เชื้ออันดับแรก โดยดูจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เป็นนักเรียนถึง 70-80% แต่ไม่สามารถแยกได้ว่า ติดเชื้อมาจากโรงเรียนธรรมดา หรือโรงเรียนกวดวิชา

 

          คุณหมอคำนวณบอกว่า จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในช่วงนี้มีความเชื่อมโยงในจุดร่วมเดียวกันคือการไปเรียนโรงเรียนกวดวิชา นอกจากไปเรียนหนังสือตามปกติที่โรงเรียน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นพบว่า เด็กนักเรียนในละแวกเดียวกันมีจุดร่วมเดียวกัน คือโดยสารรถรับส่งนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ทำให้เป็นโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009

 

          คำถามที่ตามมาคือ นอกจากโรงเรียนแล้วมีจุดไหนอีกบ้างที่น่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคสำคัญที่ประชาชนควรหลีกเลี่ยง ข้อมูลจาก โครงการวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ ระบุว่า สถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่สำคัญ คือ

 

          1. รถโดยสาร

          2. เครื่องบิน

          3. ห้างสรรพสินค้า

          4. โรงภาพยนตร์

          5. โรงแรม

          6. โรงพยาบาล

 

          ส่วนจุดที่ตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุด อันดับต้นๆ ได้แก่ ที่จับรถเข็นในซุปเปอร์มาร์เกต เมาส์เล่นคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ราวจับบนรถเมล์ ลูกบิดประตูห้องน้ำ ปุ่มลิฟต์ และราวบันไดเลื่อน ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มจุดเสี่ยงอันตรายที่อาจจะมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มอีก 2 จุด คือ เวทีคอนเสิร์ตและโรงเรียนกวดวิชา

 

          สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในการแสดงคนเสิร์ต 1 รอบมีคนเข้าชมประมาณ 12,000 คน ในจำนวนนี้มี 5% ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 209 หรือประมาณ 500 คน อยู่ปะปนในสถานที่จัดคอนเสิร์ต ซึ่งมีความแออัดยัดเยียดและต้องใช้เวลาอยู่รวมกันอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะทำให้มีการแพร่โรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนเป็นจำนวนมากได้ง่าย

 

          ส่วนโรงเรียนกวดวิชา เป็นจุดที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคข้ามโรงเรียน เพราะมีนักเรียนจากหลายโรงเรียนมาเรียนรวมกัน และห้องเรียนมีขนาดเล็ก นักเรียนต้องนั่งรวมกันอย่างแออัด หากมีการติดเชื้อก็อาจจะทำให้แพร่กระจายไปในโรงเรียนต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว

 

          แม้จุดที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งแพร่โรคจะมีเพียง 8 จุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกสถานที่ที่มีคนไปรวมอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก น่าจะเป็น “จุดเสี่ยง” ทุกจุดสำคัญที่สุด คือ คนที่รู้ตัวว่าป่วย หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการไม่ออกไปอยู่ในที่สาธารณะที่มีคนมากๆ เพราะอาจจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องออกไปจริงๆ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือถ้าไม่มีหน้ากากอนามัย ก็ควรที่จะใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากเวลาที่ไอหรือจาม

 

          ส่วนคนที่ไม่ป่วยก็ควรป้องกันตนเอง ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ล้างมือบ่อยๆ เพราะทุกๆ วัน มือของเราต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวล จับโน่นจับนี่ แล้วก็เอามือมาจับหน้า จับจมูก หรือแม้แต่หยิบอาหารเข้าปาก ซึ่งก็อาจจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ทางที่ดีถ้าเจลแอลกอฮอล์ล้างมือพกติดตัวก็จะดีมากๆ เพราะเจลสามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้เกือบ 1,000 เท่า ส่วนน้ำกับสบู่ฆ่าเชื้อได้ 100 เท่า

 

          ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่ดีที่สุดในการเอาชนะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สิ่งที่ดีที่สุด การป้องกัน ทั้งป้องกันตนเองจากโรค ป้องกันการรับและแพร่เชื้อโรค หลีกเลี่ยงทุกจุด ทุกพฤติกรรมที่เป็นความเสียง ฯลฯ

 

          เพราะทุกโรค แค่เรารู้เท่าทัน ก็ช่วยป้องกันได้แล้ว!

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 กรกฏาคม 2552

 

 

Update 20-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

Shares:
QR Code :
QR Code