Zumba Dance สุขภาพดีด้วยจังหวะละติน
ในโลกของผู้รักสุขภาพและต้องการความบันเทิงเริงใจ ตอนนี้ ใครไม่รู้จัก "ซุมบ้า แดนซ์" (Zumba Dance) "ปานมณี" ต้องขอบอกว่า คุณกำลังตกเทรนด์ หรือ "เอ้าท์" ไปแล้ว
"ซุมบ้า แดนซ์" เป็นการออกกำลังกายที่ผสมผสานดนตรีสไตล์ละตินและการเต้นแอโรบิกเข้าด้วยกัน โดยที่ผู้ออก กำลังกายจะได้ทั้งความสนุกสนานไปกับเสียงดนตรีและสุขภาพที่ดีจากการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่มีลิขสิทธิ์นำเข้ามาเผยแพร่โดย คุณชัชวาล สิงหเสนี หรือ ครูตั๋ง ครูสอนซุมบ้าแดนซ์ ผู้ได้ลิขสิทธิ์การสอนอย่างเป็นทางการจากประเทศออสเตรเลีย
และเมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้จัดมีการจัดกิจกรรมเอาใจกลุ่มฮิปเตอร์ "Balance Exercise ตอน ZUMBA DANCE" เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งได้รับการกล่าวขานกันอย่างมากมาย
ชัชวาล สิงหเสนี หรือ ครูตั๋ง ครูสอนซุมบ้า แดนซ์ ผู้ได้ ลิขสิทธิ์การสอนอย่างเป็นทางการจากประเทศออสเตรเลีย ได้อธิบาย ถึง ซุมบ้าแดนซ์ ว่า เป็นการออกกำลังกายแนวใหม่ด้วยการนำจังหวะรุมบ้า (Rumba) มาผสมกับ จังหวะแซมบ้า (Zamba) กลายเป็นสไตล์ ซุมบ้า (Zumba) โดยมี 4 ท่าพื้นฐานสไตล์ละติน ที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละส่วนแตกต่างกันออกไป ท่าแรก คือ เมอร์เรงเก้ (Meregue) ที่เน้นการเคลื่อนไหวของแขนซึ่งจะ ช่วยในการกระชับต้นแขน ท่าที่ 2 คือ ซัลซาร์ (Salsa) เน้นการ ส่ายสะโพก และการเคลื่อนไหวระหว่างสะโพกไปจนถึงหน้าอก สามารถช่วยกระชับหน้าอกและช่วงเอวได้ ท่าที่ 3 คือ คุมเบีย(Cumbia) จะเน้นที่สะโพกโดยตรง และท่าสุดท้าย คือ เร็กเก้(Reggae) โดยนำสไตล์ ฮิพฮอพ (Hiphop) ที่มีการออกท่าทาง ให้ดูแข็งแรงทั้งแขน และบอดี้เวฟ (Body wave) โดยเริ่มจากการไล่กระดูกจากด้านบนลงมาด้านล่าง ซึ่งได้ทั้งการกระแทกหน้าอก และสะโพก ที่สามารถช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี
ซุมบ้า แดนซ์ แบ่งออกเป็นหลายระดับเพื่อให้เหมาะ สำหรับคนในแต่ละช่วงวัย นับตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยของผู้สูงอายุ เช่น Zumba Fitness ที่เน้นการกระชับสัดส่วน, Zumba Toning สำหรับการเพิ่มกล้ามเนื้อ, Zumba Gold สำหรับ ผู้สูงอายุ, Zumba Tomic สำหรับเด็ก และ Aqua Zumba ซุมบ้าในน้ำ โดยทั้งหมดยังคงเน้นท่าพื้นฐานของสไตล์ละตินเป็นหลัก
ครูสอนซุมบ้า แดนซ์ ยังบอกด้วยว่า การเต้นในรูปแบบนี้ เป็นการคาร์ดิโอ สามารถเผาผลาญพลังงานได้ถึง 800-1,000 กิโลแคลอรี่ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 1 ชั่วโมง/ครั้ง สามารถทำได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ละ 1 ชั่วโมง จะมีเพลงประกอบ 5 เพลง ใน 1 เพลง จะมีท่าเต้นพื้นฐาน 3-4 ท่า ที่เพิ่มสีสันและจังหวะความสนุกด้วยการผสมจังหวะอื่นๆ ร่วมด้วย โดยมีการ เคลื่อนไหวลักษณะ ช้าและเร็วสลับกันไป-มาให้ร่างกาย ได้เคลื่อนไหวอย่างครอบคลุมทุกสัดส่วน ทั้งแขน สะโพก ช่วงเอว หน้าอก และต้นขา เพื่อเสริมสร้างความ ยืดหยุ่นและความ แข็งแรงให้แก่ร่างกาย อีกทั้งยังช่วยให้ระบบ หัวใจทำงานได้ดีขึ้นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจการออกกำลังกายในรูปแบบซุมบ้า แดนซ์ "ครูตั๋ง" แนะนำว่า ควรเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการเคลื่อนไหวและสวมรองเท้าที่ ช่วยป้องกันแรงกระแทก ทุกคนสามารถเต้นตามได้ทันทีโดยไม่ จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ขีดความจำกัดของร่างกายตนเองว่าสามารถเต้นได้มากน้อยเพียงใด ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคหัวใจและโรคความดัน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
คุณรัตยา เลื่อนผลเจริญชัย อายุ 40 ปี อาชีพแม่บ้าน เป็นผู้เข้าร่วมงานคนหนึ่ง ในกิจกรรมที่ สสส.จัดขึ้นในวันนั้น เธอบอกให้ฟังว่า การเต้นซุมบ้า แดนซ์เป็นการออกกำลังกายที่ได้ทั้งสุขภาพ และความสุขในเวลาเดียวกัน เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในเสียง ดนตรี นอกจากจะได้สุขภาพที่ดีแล้วยังทำให้มีสมาธิมากขึ้นด้วย
ส่วน นางสาวสุชญา โพธิ์วิเศษ อายุ 33 ปี และ นางสาววรรณภา วงศ์ขวัญจิตร อายุ 35 ปี พนักงานบริษัท เล่าให้ฟังว่า ได้เข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายกับ สสส. มาตลอด ทำให้ เห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งความยืดหยุ่น และความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่น้ำหนักที่ลดลงเท่านั้น แต่ยัง รวมถึงค่ามวลรวมต่างๆ ของร่างกายที่ดีขึ้น เนื่องจาก สสส. มีการทำ การตรวจวัดสุขภาพ (Health Check up) ทุกครั้งที่เข้าร่วม
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ปรารถนาอยากมีสุขภาพที่ดีแล้ว สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอย่าลืมเพิ่มการออกกำลังกาย แบบฮิปๆ อย่าง ซุมบ้า แดนซ์ เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตคุณจะได้รับการเติมเต็มความสุขเพิ่มมากขึ้น
สนใจ ซุมบ้า แดนซ์ แบบถูกหลักถูกวิธีติดต่อได้ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.thaihealthcenter.org
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า