บันทึกการเดินทางสีเขียว สู่การท่องเที่ยวไทยไร้มลพิษ

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : กิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียว ณ อุทยานแห่งชาติแม่วาง – อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

บันทึกการเดินทางสีเขียว สู่การท่องเที่ยวไทยไร้มลพิษ จ.เชียงใหม่

                    กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เป็นหนึ่งกลยุทธสำคัญ ที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาบ้านเมืองและได้กลายเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถทำรายได้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ  ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน 

บันทึกการเดินทางสีเขียว สู่การท่องเที่ยวไทยไร้มลพิษ จ.เชียงใหม่

                    แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ตามมา คือ มลภาวะสำคัญที่เกิดขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่ยังมีการเผาถางป่า ก่อเกิดมลภาวะ อาทิ ฝุ่น PM2.5 ได้อย่างรุนแรง, พื้นที่ป่าไม้ลดลง เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาในหลาย ๆ มิติ ล้วนทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมคุณภาพทั้งยังทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ร่างกาย และส่งผลต่อจิตใจในลักษณะรู้สึกไม่ประทับใจ และไม่อยากมาเยือนซ้ำอีกในโอกาสต่อไป

สสส. บันทึกการเดินทางสีเขียว สู่การท่องเที่ยวไทยไร้มลพิษ จ.เชียงใหม่

                    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมสานพลังภาคีเครือข่าย สนับสนุนการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Green and Health Tourism) เพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

                    โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการทำคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ เพื่อปลูกจิตสำนึกจากการท่องเที่ยว ด้วยการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และ สุขภาวะที่น่าประทับใจต่อผู้มาเยือน  

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส.

                    “…ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวมีความมุ่งใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Development)”

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส.

                    นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานยกระดับบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว และ ความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติสีเขียวสู่ระดับสากล ณ อุทยานแห่งชาติแม่วาง และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส.

                    โดยวาดหวังว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่สสส. มีส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไปแล้วในพื้นที่ 2 ดอย 1 ผา ในจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างแผนการท่องเที่ยวแบบบูรณาการระหว่างจังหวัดที่ติดกัน ทำให้เกิดการกระจายรายได้ระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลสามารถนำไปขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวต่อไป  

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.)

                    อีกเสียงหนึ่งจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) บอกว่า “การท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นกลไกสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การสนับสนุนพื้นที่การท่องเที่ยวสีเขียว จะเป็นตัวสร้างรายได้ใหม่จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงขึ้น และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับสุขภาพขณะท่องเที่ยว”

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.)

                    “สสส.เป็นองค์กรสำคัญในการทำงานกับภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการในอุทยานแห่งชาติสีเขียวสู่ระดับสากล เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาทิ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วางและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และยังมีเป้าหมายยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติสีเขียวต้นแบบ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า” ผศ.สุภาวดี กล่าว

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

                    ด้านบทบาทในการทำงานของ สสส. ในกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. บอกว่า… “สสส. สนับสนุนทั้งนักวิชาการ งานวิชาการ การวางแผนเชิงเทคนิค รวมรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งจาก ปราชญชาวบ้าน ชุมชน และทำภาพรวมของงานให้มีคุณภาพ และเกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

                    เห็นได้จากการลงพื้นที่ แก้ปัญหาได้ในทุกมิติ การพัฒนา การวิจัย ทั้งปัญหาการจัดการขยะ ปัญหา PM 2.5 ที่ทำให้การท่องเที่ยวมีความซบเซาลง ดร.ชาติวุฒิ กล่าวย้ำให้เห็นภาพบทบาทสำคัญของชุมชนในการสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม และสื่อสารให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงการลดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายรับ และมีศักยภาพในการดูแลตนเองได้มากขึ้นด้วย

ปางช้างภูตะวัน จ.เชียงใหม่

                    จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ เราได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ลดคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ หลายแห่ง

ปางช้างภูตะวัน จ.เชียงใหม่

                    ภาพน่าประทับใจที่ ปางช้างภูตะวัน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวทุกคน ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมากมาย ทั้งการล่องแพ เลี้ยงช้าง อาบน้ำช้าง และให้อาหารช้าง ด้วยผลผลิตทางการเกษตร จากชาวบ้าน และชุมชนใกล้เคียง ที่มีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน จากการขนส่งผลผลิตจากแหล่งใกล้เคียง รวมไปถึงการลดการเผาพืชไร่ แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารช้างอีกด้วย

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

                    อีกความรู้สึกที่โปร่งเบากับอากาศที่ทุกคนสามารถหายใจได้เต็มปอดแบบอยากจะเก็บเอามาฝากทุกคนที่อยู่ข้างหลัง เมื่อเหยียบย่างเข้าสู่พื้นที่ 301,184 ไร่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ 269,539 ตัน ด้วยนโยบายของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ผู้มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้สังคมคาร์บอนต่ำ และเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนทราบถึงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่แนวทางลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนลง

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

                    อีกทั้งชื่นชมกับการร่วมสร้างองค์ความรู้ในส่วนของเจ้าหน้าที่อุทยาน ผู้ประกอบการร้านค้า และร้านอาหารบริเวณอุทยาน เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประกอบอาหาร และการจัดทำเมนูอาหารคาร์บอนต่ำ (Sustainable Menu) ของแต่ละร้านค้า

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

                    สสส.และภาคีเครือข่าย ขอบันทึกการเดินทางสีเขียวไว้เพียงเท่านี้ และขอกล่าวในนามผู้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจะมุ่งเน้นสานพลัง สร้างองค์ความรู้ให้แก่ชุมชน นักท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคน และสร้างบันทึกการเดินทางสีเขียวในใจของทุกคน ให้เดินหน้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกนี้ยังคงสวยงามต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code