Young Happy สูงวัย ไม่แคร์ความเหงา
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
เพราะชีวิตคนในเมืองมีความโดดเดี่ยวสูง ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพใจมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มีผลวิจัยพบว่า ผู้สูงวัย ที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้สูงวัยที่อยู่ต่างจังหวัดถึง 60%
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ หรือ สสส. ยอมรับในเรื่องนี้ว่า ปัญหาผู้สูงอายุในเมืองเป็นประเด็นที่น่าห่วงใยจริง เพราะด้วยสภาพสังคมเมืองที่แยกกันอยู่ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและใจในหลายมิติ โดยจากการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ ปี 2560 พบสถิติผู้สูงอายุที่โสด อยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรส โดยไม่มีลูกหลานมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากต้องเผชิญปัญหาสุขภาพทางกาย ความเสี่ยงอุบัติเหตุ หรือความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาวะทางจิตสูงขึ้นไปจนถึงปัญหาฆ่าตัวตาย
"ในต่างจังหวัดเรามีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่สังคมเมืองอยู่อย่างตัวใครตัวมัน รวมตัวยาก ซึ่งในสถิติที่เราพบสะท้อนการอยู่ตามลำพัง มีลูกลดลง ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยเยอะขึ้น สสส.มองเห็นปัญหาดังกล่าว และมองว่า ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลาง มีความรู้ ซึ่งจริงๆ แล้วมีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่เรามองว่าเขาก็ต้องการดูแลจิตใจในช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน นอกจากการดูสุขภาพ การเข้าสังคม แต่ยังไม่มีใครเข้ามาส่งเสริมเขา" ดังนั้นการที่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งเกิดความท้าทายตัวเองในการที่อยากจะลุกมาแก้ปัญหาผู้สูงอายุ และนำมาสู่การก่อตั้ง ยังแฮปปี้ (Young Happy) ที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะแอพลิเคชัน คอมมูนิตี้ หรือแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะในฐานะอะไร เป้าหมายสูงสุดของ Young Happy มีเรื่องเดียวคือการเป็นตัวช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสุขมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สอนให้ผู้สูงวัยรู้จักเทคโนโลยี การใช้มือถือ การเรียนถ่ายรูป ตลอดจนกิจกรรมบันเทิงอย่างการท่องเที่ยว เต้นลีลาศ เรียนร้องเพลง ฯลฯ
หลังการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่สองแล้ว Young Happy ได้ขยายแนวคิดและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จนเป็น word of mouth ที่คนในสังคมกล่าวถึงและทำให้ทาง สสส.มองเห็นทางออกของการแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยกลุ่มนี้ร่วมกับทีมงาน Young Happy มากขึ้น ธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Young Happy เอ่ยว่า การที่ Young Happy หันมาโฟกัสผู้สูงวัยในเมืองนั้น เพราะมองเห็นช่องว่างว่ายังมีประชากรกลุ่มที่เป็น Active Senior กว่า 80% ที่ยังมีพลังและคุณค่า สามารถออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ ไปจนถึงสามารถเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น หากแต่คนกลุ่มนี้กลับกลายเป็นกลุ่มภาคนโยบายอาจมองข้ามไป "ผู้สูงวัยกลุ่มนี้เขาเหมือน Gap ในสังคมนะครับ ปัจจุบันรัฐอาจต้องเลือกช่วยกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มที่ยังต้องพึ่งพิงยากจน หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่จริงๆ คนกลุ่มนี้ก็มีความต้องการเหมือนกัน ที่อาจไม่ใช่เรื่องการเงินหรืออะไร แต่สิ่งที่เขาต้องการคือไม่อยากรู้สึก Loneliness"
ธนากร ยกกรณีของ "ลุงอรรณพ" เป็นตัวอย่างให้ฟังว่า จากวัยทำงาน ลุงอรรณพเคยเป็นพนักงานประจำ แต่วันหนึ่งพอเกษียณมา รู้สึกว่าง ไม่มีอะไรทำ ต้องอยู่บ้านเฉยๆ ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ เหงา และ โดดเดี่ยว จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
"ทีนี้ความโดดเดี่ยว สุดท้ายมันโยง ไปเป็น Health Issue อีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งหากเราปล่อยให้ผู้สูงวัยกลายเป็นคนป่วยอัลไซเมอร์ แปลว่าต้องใช้ค่าดูแลไม่ต่ำกว่าเดือนละสามสี่หมื่นบาท ลูกหลานก็ต้องออกจากงานมาดูแลพ่อแม่
ดังนั้น การที่เราทำ Young Happy เรามีไมล์สโตนในใจว่า เพราะเราอยากให้ ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในภาวะแอคทีฟพีเรียดให้นานที่สุด ก่อนที่เขาจะสู่ภาวะติดบ้าน และติดเตียงที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น สมมติว่าจากเดิมเขาจะต้องเป็นตอนอายุ 75 ปี ถ้าเราสามารถช่วยผู้สูงอายุยืดระยะตรงนี้ได้ให้เขาแอคทีฟได้ถึง 80 ปีก็จะส่งผลดีในหลายมิติ"
โดย ธนากร ยังเสริมต่อว่า "ความจริงแล้วไม่ใช่แค่ลุงอรรณพที่เจอปัญหานี้ แต่เราสามารถพบผู้สูงอายุ ที่เป็นแบบลุงอรรณพได้รอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นในห้างศูนย์การค้า เป็นเพื่อนบ้าน ญาติ หรือคนในครอบครัว เราเลยมองเรื่องการมีพื้นที่ที่จะทำให้เขาได้รวมกลุ่ม สร้างปฏิสัมพันธ์กันผ่านกิจกรรมที่เราจัดขึ้น แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นเขาไปกองกันอยู่ในห้างหมด ดังนั้น โจทย์ของ Young Happy คือทำอย่างไรให้เขากลับมามีสุขภาพกายและใจดีขึ้น" ธนากรเอ่ย
ทว่าด้วยโครงสร้างของความเป็นเมือง ทำให้มีข้อจำกัดคือพื้นที่ส่วนกลางน้อยสำหรับผู้สูงวัย Young Happy จึงเลือกแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้เกิดการพบปะระหว่างกัน
Young Happy ยังเป็นศูนย์กลางสร้างสังคมใหม่ และเพื่อนใหม่ ผ่านแอพลิเคชันและเว็บไซต์ "Young Happy" สร้างคอมมูนิตี้ ชุมชนที่ผู้สูงวัยสามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก แต่เพื่อให้กิจการยังคงอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ทางทีมงานจึงดำเนินกิจการในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise โดยจากการเป็นมีฐานกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความแอคทีฟสูง ที่เชื่อว่าอาจตรงใจกับองค์กรใดที่สนใจหรืออยากทำซีเอสอาร์กับกลุ่มผู้สูงอายุ หรือต้องการสนับสนุนโครงการ ในอีกบทบาทของทีมงาน Young Happy จึงยังต้องรับหน้าที่เป็น creative organizer ไปพร้อมกัน
"ปัญหาอุปสรรคก็มีบ้างในแง่ธุรกิจ เราต้องพยายามเข้าใจทั้งสองฝั่ง มุมลูกค้า ต้องเข้าใจว่าเขาคาดหวังอะไร เพราะต้องบอกก่อนว่าประเทศไทยยังมีองค์กรน้อยแห่งที่จะให้ความสนใจซื้อสินค้าบริการจากธุรกิจ SE หรือบางทีก็ไม่เข้าใจรูปแบบ การทำงานที่ไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหากำไร เราเป็นเหมือน gate keeper เพราะต้อง Concern ผู้สูงอายุด้วย เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยหรือผลกระทบ จะฮาร์ดเซลก็คงทำไม่ได้ สิ่งที่ยากที่สุดกับการทำงานผู้สูงอายุคือการทำให้เขาเชื่อใจ อย่าลืมว่าปัจจุบัน ผู้สูงอายุก็ระวังตัวเพราะกลัวเจอถูก หลอกลวง มิจฉาชีพ หาผลประโยชน์ เคยมีบางคนเข้ามา ถามเราเลยว่า น้องจะมาหลอกขายอะไรพี่หรือเปล่า เราก็ต้องเข้าใจพี่ๆ เขามากขึ้น เราพยายามปรับตัว"
ล่าสุด Young Happy จึงมีนโยบายรับพนักงานสูงอายุมาทำงานสามคน ธนากรเอ่ยว่าข้อดีคือผู้สูงอายุเขาเข้าใจกันเองอยู่แล้ว อย่างเช่น พนักงานคอลเซนเตอร์ผู้สูงวัย จะรู้ว่าควรพูดหรือสื่อสารแบบไหนที่โดนใจคนวัยเดียวกัน หรือในด้านการคิดคอนเทนท์ Young Happy ก็จะมีผู้สูงวัยที่เกษียณแล้วมาเป็นที่ปรึกษาให้
สำหรับรายได้จากธุรกิจนอกจากจะนำมาบริหารจัดการ สร้างกิจกรรมภายใน ทางทีมงานยังตั้งเป้าที่จะจัดสรร 20% ของรายได้ เพื่อนำมาจัดตั้งกองทุน Fund Young Happy ที่จะสนับสนุนการทำงานในโครงการ Young Happy Time Bank หรือธนาคารเวลาของสูงวัยจิตอาสา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ตั้งเป้าขับเคลื่อน ในปีนี้
"Young Time bank เราเห็นคอนเซปต์ มานานในต่างประเทศ ในยุโรป ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมันตรงกับแนวคิดของ Young Happy ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้สูงอายุ สนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งนอกจากการเจอเพื่อน มีกิจกรรม เรามองว่า แล้วทำไงให้คนอีกกลุ่มที่เขายังมีคุณค่า ได้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง บางคนเขาอยากลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสา ถ้างั้นเราให้เขาสะสมชั่วโมงไว้ดีไหม เผื่อวันหนึ่งเขาอยากจะถอนไปใช้หรือเอาไปให้คนอื่นก็ได้"
Young Happy Time Bank หรือธนาคารเวลา เป็นหลักสูตรนักเปลี่ยนแปลงรุ่นใหญ่ โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำความดีเก็บสะสมชั่วโมงและนำมาแลกเป็นบริการต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต เช่น ส่วนลดคอร์สตรวจสุขภาพ เป็นต้น
ล่าสุด ประเดิมโครงการด้วยการนำร่อง กิจกรรมรวมกัน 2,000 ปี เล่นโซเชียลมีเดียฟรี ซึ่งเป็นการรวมผู้สูงวัยประมาณ 30-40 คน ให้อายุครบ 2,000 โดยได้รับกิจกรรม time bank ให้หนึ่งครั้งฟรีๆ
นอกจากนี้ทางธนากรยังคัด Active Senior กลุ่มแรก 15 คน เป็นรุ่นบุกเบิกโครงการ ที่จะได้รับการเติมความรู้บางอย่าง เพื่อให้มีความเข้าใจว่าโครงการเพื่อสังคมหรือการเป็นจิตอาสาที่ดีควรเป็นอย่างไร จึงร่วมมือกับสถาบันป๋วยอึ๊งภากรณ์ ทำหลักสูตรฝึกอบรมนักเปลี่ยนแปลงรุ่นใหญ่ เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
"โมเดล Time Bank ในต่างประเทศจะเน้นทำในชุมชนเล็กๆ ส่วนบ้านเราด้วยบริบทความเป็นสังคมเมือง ต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม จึงปรับวิธีการทำงาน เป็นองค์กรกับองค์กร ที่ผ่านมาเราลองทำงานกับทางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คลอง 6"
ธนากร เอ่ยต่อว่า ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปอาจเป็นเรื่องปกติที่ผู้สูงอายุจะกลับไปทำงานได้ ต่างกับเมืองไทย ที่ยังมีค่านิยมสังคมแบบเอเชีย เช่น ถ้าเราปล่อยพ่อแม่ให้ไปทำงาน สังคมจะมองเราละว่าทำไมไม่ดูแลพ่อแม่ เช่นเดียวกับการส่งผู้สูงอายุ อยู่ในบ้านพักคนชราเป็นเรื่องปกติในยุโรปแต่บ้านเราไม่ใช่ ขณะเดียวกันในเรื่องกฎหมายบ้านเราเองก็ยังไม่มีกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ เหมือนที่มีกฎหมายจ้างผู้พิการ
"เรื่องนี้สังคมไทยเองต้องปรับไมนด์เซ็ต ว่าการที่ผู้สูงอายุออกไปทำงานไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ซึ่งผู้สูงอายุ 15 คนนี้จะกลายเป็น ผู้นำ โดยมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนในอีกสองสามปีข้างหน้า Young Happy จะขยายไปหัวเมืองมากขึ้น"
ด้าน ภรณี เอ่ยเสริมถึงการทำงานกับผู้สูงอายุในแบบฉบับ สสส. ว่า การทำงานกับ Young Happy และผู้สูงอายุ ทำให้ได้ทราบ ถึงความต้องการหลายอย่างที่คาดไม่ถึง
"เราพบว่าผู้สูงอายุหลายคนเขาไม่รู้ถึงสิทธิ์พื้นฐานที่เขาควรได้รับ หรือแม้แต่ในการเดินทาง ด้วยวัยเขาไม่สะดวกที่จะทำอะไรเร็วๆ อาจขึ้นรถเมล์ช้าหรือไม่ทัน หรือจะเรียกแท็กซี่เขาก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ล่าสุด สสส. จึงประสานความร่วมมือกับทาง Grab Taxi และ All Thai Taxi เพื่ออบรมเพิ่มในด้านให้บริการผู้สูงอายุให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจมากขึ้นในการลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสา แต่สุดท้ายเป้าหมายสำคัญของเราคือ การที่ผู้สูงอายุต้องมีความสุขทั้งกายและใจ" ภรณีกล่าวทิ้งท้าย