WHO เห็นชอบไทย ‘ส่งเสริมการเคลื่อนไหวลดโรค’

ที่มา : มติชนออนไลน์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


WHO เห็นชอบไทย 'ส่งเสริมการเคลื่อนไหวลดโรค' thaihealth


องค์การอนามัยโลกเห็นชอบแนวทางไทย 'ส่งเสริมการเคลื่อนไหวลดโรค'


นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะส่งผลต่อพัฒนาการในเด็กปฐมวัย สมาธิและการเรียนรู้ในเด็กและวัยรุ่น ความแข็งแรงของร่างกายและประสิทธิภาพการทำงานในวัยทำงาน และการชะลอการเสื่อมวัยของผู้สูงอายุ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นอกจากนี้ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการเดินทาง ได้แก่ การเดิน การปั่นจักรยาน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เป็นการลดมลพิษทางอากาศ ประหยัดพลังงาน แต่จากผลสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประชาชน 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจำนวนถึง 2 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ แต่กลับพบว่ามีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือการนั่งติดต่อกัน เป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น


“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561 – 2573 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับรอง และจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแห่งชาติ เพื่อให้การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนร่วมกับภาคีวิชาการ เพื่อศึกษาและพัฒนาข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายในประชาชนแต่ละกลุ่มวัย ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด เด็กปฐมวัย วัยเรียนวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ จนได้ข้อแนะนำที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดผู้บริหารองค์การอนามัยโลก ได้เห็นชอบร่างมติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Global action plan on physical activity) ที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำการเสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นพ.ปิยะสกล กล่าว


นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แต่ละกลุ่มวัยควรมีกิจกรรมทางกาย ที่แตกต่างกัน โดยหญิงตั้งครรภ์ สามารถมีกิจกรรมทางกายได้เหมือนคนปกติ แต่มีข้อควรระวังในบางไตรมาส และหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการกระแทกสูงหรือผาดโผน โดยให้เริ่มจากช้าไปเร็ว เบาไปหนัก เช่น การทำความสะอาดบ้าน การเดิน และระวังอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกจากช่องคลอด ท้องแข็งเกร็ง เด็กปฐมวัย 0-5 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายหนักเบาผสมผสานกัน วันละอย่างน้อย 180 นาที เช่น ชันคอ คลาน นั่ง ยืน เดิน วิ่ง กระโดด ช่วยทำงานบ้าน เด็กวัยเรียนวัยรุ่น ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก วันละอย่างน้อย 60 นาที เช่น เดิน ปั่นจักรยาน ทำความสะอาดห้อง ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ส่วน ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือระดับหนัก 75 นาที ฝึกสมดุลร่างกายเพิ่มเติมในผู้สูงวัย เช่น เดิน ปั่นจักรยาน เดินขึ้นลงบันได ลุกจากที่นั่งขยับกายทุก 1-2 ชั่วโมง หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งการสังเกตระดับของกิจกรรมทางกายอย่างง่ายคือระดับปานกลาง เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเริ่มเหนื่อยหอบ แต่ยังพูดเป็นคำได้ เช่น การเดินเร็ว ส่วนกิจกรรมระดับหนัก เป็นกิจกรรมที่ทำแล้ว หายใจหอบจนพูดไม่เป็นคำ เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ เป็นต้น


“ขณะนี้ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และถือเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งในการดำเนินงานส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ณ กรุงเจนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ประชุมบอร์ดผู้บริหารองค์การอนามัยโลก นำโดยเทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้ลุกขึ้นเต้นระหว่างการประชุม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นตามคำแนะนำของผู้แทนจากประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนให้ทุกองค์กรได้มีกิจกรรมทางกาย มีการเคลื่อนไหวยืดเหยียดระหว่างการประชุม เพื่อป้องกันการปวดเมื่อย เลือดไหลเวียนดี ส่งผลต่อจิตใจ ทั้งการคลายเครียด ช่วยให้แก้ปัญหา ตัดสินใจได้ดีขึ้น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างผู้ร่วมประชุมด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code