WHO เรียกร้อง “หนังต้องปลอดบุหรี่”
ป้องกันเด็กเลียนสูบบุหรี่จากภาพยนตร์
องค์การอนามัยโลก เรียกร้องผู้สร้างภาพยนตร์ทั่วโลกร่วมปกป้องเด็ก ๆ จากการเริ่มหัดสูบบุหรี่ด้วยการไม่ให้มีฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ โดยกำหนดเป็นมาตรการที่มีผลทางกฎหมาย
จากแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาของ ศ.สแตนตันแกรนซ์ ระบุถึงความสำคัญของการทำให้ภาพยนตร์ที่ฉายทั่วโลกเป็นภาพยนตร์ที่ปลอดบุหรี่ เพราะปัจจุบัน ภาพยนตร์ถูกบริษัทบุหรี่ใช้เป็นสื่อในการกระตุ้นให้เด็ก ๆ หัดสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นที่เห็นดาราที่เขาชื่นชอบสูบบุหรี่ในหนังมีโอกาสริเริ่มการสูบบุหรี่เป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ได้ดูหนังที่มีการสูบบุหรี่
องค์การอนามัยโลกจึงเสนอแนวทางปฏิบัติแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะในวงการฮอลีวู้ด และบอลลีวู้ด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สร้างรายใหญ่ที่ได้กำไรมหาศาลจากการสร้างหนังและส่งหนังไปขายทั่วโลก ให้ร่วมรับผิดชอบต่อชีวิตเด็ก ๆ และเยาวชนทั่วโลกโดย
ต้องไม่มีฉากสูบบุหรี่ หรือแสดงผลิตภัณฑ์บุหรี่ในหนัง หรือมีได้เท่าที่จำเป็น เช่นหนังที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือชีวประวัติของบุคคลก็สามารถมีได้เพื่อความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องจัดเรทหนังที่มีการสูบบุหรี่ให้อยู่ในเรทอาร์ หรือเหมาะกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป นอกจากนี้จะต้องมีการจัดฉายสปอตรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงหนัง ทั้งก่อนและหลังฉายหนังเรื่องที่มีการสูบบุหรี่ ซึ่งรวมถึงหนังที่ถูกบันทึกลงแผ่นวีซีดี และที่นำมาฉายทางเคเบิลทีวีด้วย สุดท้ายให้ผู้สร้างหนังและดาราที่แสดงในหนังที่มีฉากสูบบุหรี่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการว่าไม่ได้รับเงินจากบริษัทบุหรี่
อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ได้ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ทำวิจัยเพื่อศึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาเกณฑ์การปรากฏตัวภาพบุหรี่ในสื่อภาพยนตร์ ตามระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนต่อ พรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2552 ที่อยู่ในระหว่างการร่างกำหนดการจัดเรทภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในประเทศไทย โดยหลังจากมีการประชุมร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ก็มีข้อเสนอไปในแนวทางเดียวกันว่า การผลักบุหรี่ออกจากภาพยนตร์จะเป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะลดทอนการริเริ่ม ลองสูบบุหรี่ของเยาวชนและทุกภาคส่วนก็ยินดีที่จะร่วมมือกันเพื่อเด็ก ๆ ของเรา”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลในปี พ.ศ.2546 พบว่า หนังที่ฉายในโรงสำหรับเด็กอายุ 6-17 ปี มีฉากแสดงการสูบบุหรี่ 1.2 พันล้านครั้ง และรวมทั้งสิ้น 6.5 พันล้านครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.2542-2546 การมีฉากสูบบุหรี่ในหนัง นอกจากจะสอนให้เด็ก ๆ สูบบุหรี่แล้ว ยังทำให้เด็ก ๆเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ และคิดว่าใคร ๆ ก็สูบบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วจำนวนคนสูบบุหรี่ในชีวิตจริงนั้นมีน้อยกว่า ดังนั้นหากเราสามารถลดบุหรี่ในหนังลงได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และขอชื่นชมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหนังไทยที่สนับสนุนแนวคิดหนังปลอดบุหรี่”
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :
คุณสถาพร จิรัตนานนท์
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โทร. 0-2278-1828
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
update 01-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์