WHO ประกาศอหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินใหญ่ ไทยยันควบคุมได้ ผู้ป่วย 4 ราย หายดี ไม่มีป่วยเพิ่ม

ที่มา: pptvhd36

                  นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของอหิวาตกโรคเป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่” เนื่องจากพบผู้ป่วยจำนวนมากและมีหลายประเทศที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นนั้น เพื่อให้ทุกประเทศมีความตระหนักและร่วมกันป้องกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศเหมือนการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา

                  ในส่วนของประเทศไทย มีการเฝ้าระวังอหิวาตกโรคมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็น 1 ใน 57 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมาย โดยหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในชเวโก๊กโก่ ประเทศเมียนมา ซึ่งติดกับชายแดนจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดี ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2567 มีผู้ป่วยสะสม 4 ราย แบ่งเป็น ชาวต่างชาติ 2 ราย คนไทย 2ราย- และมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อีก3ราย ต่างชาติ 2 ราย คนไทย 1 ราย ทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิต

                  “อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันอหิวาตกโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มีการเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน จะมีความเสี่ยงเกิดการแพร่เชื้อได้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากเรื่องสุขอนามัย สุขาภิบาลอาหารและน้ำ จึงต้องเน้นให้ความรู้การป้องกันโรค โดยเฉพาะเรื่องของการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และเข้มงวดผู้ประกอบการอาหาร เครื่องดื่ม และตลาด” นพ.สุภโชคกล่าว

                  นพ.สุภโชคกล่าวต่อว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันโรค

  • เจ้าของตลาดทุกประเภททุกแห่ง ให้ล้างตลาด ห้องสุขา ตามหลักการสุขาภิบาล รวมทั้งให้มีการฆ่าเชื้อทุกวัน และให้เจ้าของประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม รถเข็น หาบเร่ แผงลอยทุกชนิดดำเนินการตามหลักการสุขาภิบาล ปฏิบัติตามสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร รวมถึงผู้สัมผัสอาหารทุกคน
  • หน่วยงานราชการ โรงเรียน ศาสนสถาน องค์กร เอกชน ผู้รับผิดชอบห้องสุขาสาธารณะ ให้ล้างทำความสะอาดห้องสุขาตามหลักการสุขาภิบาล รวมทั้งให้มีการฆ่าเชื้อทุกวัน
  • หน่วยงาน องค์กร เอกชน ผู้รับผิดชอบระบบประปา ให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาตามมาตรฐาน โดยกำหนดให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำต้นท่อจ่ายไม่น้อยกว่า 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) ปลายท่อจ่าย ไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm)
  • ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันสมควรสงสัยติดเชื้ออหิวาตกโรค มารับการตรวจคัดกรองหรือรักษา จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค
  • ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานที่ผลิตน้ำดื่ม/น้ำแข็ง ที่มีอหิวาตกโรคเกิดขึ้นหรือมีเหตุว่าปนเปื้อนเชื้อ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการตรวจคัดกรองโรคและกำจัดเชื้อ หรือทำลายเชื้อ และ 6.ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน สื่อสารข้อมูลความรู้การป้องกัน การปฏิบัติตัว ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง
Shares:
QR Code :
QR Code