Toolmorrow ปราบความเชื่อผิดๆ ในสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากแฟนเพจ Toolmorrow
เปิดแนวคิด สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ครีเอทีฟ ผู้อยู่เบื้องหลัง Toolmorrow แพลตฟอร์มที่ เปลี่ยนแปลงความเชื่อผิดๆ เพื่อสร้างสังคม ให้ดีขึ้น
"ตราบที่ชุดความเชื่อที่แตกต่างยังทำให้สังคม มีปัญหา และโลกนี้ไม่ได้มีแต่ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ความเชื่อที่ Toolmorrow จะหยิบมาดิสเครดิตก็ไม่มีวันหมด" นี่คือเสียงสะท้อนจาก เสกข์- สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ Toolmorrow ผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มด้านสังคม ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน ซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ การใช้สารเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ นำเสนองานผ่านรูปแบบ Social Experiment โดยหยิบเอาความเชื่อผิดๆ ของเยาวชนมาทดลอง เพื่อสร้างการตระหนักรู้และปรับทัศนคติ โดยเขาตั้งเป้าว่าอยากให้เครื่องมือแห่งอนาคตที่ตัวเองสร้างขึ้นมานี้ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคม
"ผมเริ่มต้นทำ Toolmorrow มาได้เกือบ 3 ปี จุดเริ่มต้นมาจากตัวผมเอง เริ่มเบื่อกับสิ่งที่ทำอยู่ ผมเคยเป็นนักล่ารางวัล ทำงานด้านครีเอทีฟมาตลอด จนวันหนึ่งผมเริ่มคิดว่า สิ่งที่ผมทำอยู่อาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากพอ ผลงานที่ทำหรือความสำเร็จที่ผมได้รับเป็นเพียงความภาคภูมิใจของผม คนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ผมทำก็เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้ทำให้สังคมหรือโลกนี้ดีขึ้น ผมเริ่มศึกษาเรื่องราวของหลายคนที่หันมาทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เลยสนใจลองมาทำ โดยผมเริ่มต้นด้วยการสมัครเข้าร่วมโครงการ 'พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม' ของบ้านปู"
จากความตั้งใจที่อยากจะเป็นพลังเล็กๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดเป็น Toolmorrow ซึ่งมาจากการตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังก่อน ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม
"อาจเพราะผมผ่านชีวิตช่วงวัยรุ่นที่เป็นเด็กเกเร เคยพลาดมาก่อน เลยสนใจอยากนำความเชื่อผิดๆ เพี้ยนๆ ในสังคม ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อดิสเครดิต ทำให้ความเชื่อผิดๆ ในสังคมหมดความน่าเชื่อถือ สาเหตุที่เริ่มจากปัญหาที่เกิดในกลุ่มเยาวชนก่อน เพราะอย่างที่บอกว่าผมเคยผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมา อีกอย่างคือ ผมมองว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ ถ้าเยาวชนวันนี้ยังอยู่กับความเชื่อเพี้ยนๆ อนาคตจะสร้างผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้อย่างไร"
คลิปแรกที่กลุ่ม Toolmorrow ทำ คือการ ดิสเครดิตความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่าสูบบุหรี่แล้วเท่ โดยทำในรูปแบบวิดีโอเชิง Social Experiment
"ตอนนั้นผมมีหลายโจทย์ที่คิดอยู่ในใจ แต่ที่เลือกทำเรื่องยาเสพติด เพราะผมไปค้นเจอ ผลงานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าสูบบุหรี่แล้วเท่ เลยอยากทดลองว่าจริงมั้ย ปรากฏว่าคลิปแรกที่ทำออกมาแล้ว ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี มียอดวิวเหยียบแสน มีวัยรุ่นที่ อินบ็อกซ์เข้ามาหาเรา"
หลังจากนั้น Toolmorrow ยังมีการทำอีกหลายคลิปออกมา ซึ่งได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี ที่ทำออกมาแล้วมียอดผู้ชมแตะหลักแสนก็มีอยู่หลายคลิป อย่างเช่น เรื่องอย่าให้การตามใจ…ทำร้ายลูกคุณ, เด็กสมัยนี้รู้ดีกว่าเรา ไม่ต้องไปสอนหรอก? หรืออย่างเรื่อง ปรึกษาเพื่อนว่าท้อง เป็นต้น
"ช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มทำคลิป ไม่ง่ายเลยด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เราสามารถผลิตคลิปออกมาเดือนละครั้ง แต่หลังจากทีมงานเราใหญ่ขึ้น จากตอนแรกมีแค่ผมกับน้องอีกคน ตอนนี้มี 10 คน เราก็สามารถผลิตคลิปออกมาได้ประมาณสัปดาห์ละครั้ง ความยากคือ เราจะคุมมาตรฐานของคลิปที่ออกมาอย่างไรให้ได้อย่างที่เราต้องการ"
จากวันแรกที่ทำมาถึงวันนี้ เสกข์ยอมรับว่าการวัดผลจากการเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ผิดของสังคมอาจเป็นเรื่องยาก เพราะหากมองในแง่การตระหนักรู้ อาจจะพอวัดผลได้บ้างจากยอดเข้าชมคลิป หรือคอมเมนต์ที่เข้ามาได้ แต่ในเชิงตัวเลขที่เป็น รูปธรรม อาจต้องมีการขยายผลเป็นแคมเปญใหญ่ ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในอนาคตเขาอาจมีการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างขึ้น สามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงความเชื่อได้
"ผมวาดภาพให้ Toolmorrow เป็นครีเอทีฟ เอเยนซี ที่นำเสนอเนื้อหาในเชิงสร้างสรรค์ ใช้ต้นทุนในการผลิตไม่สูง แต่ได้ผลกระทบในวงกว้าง เวลาไปเสนองานกับลูกค้า ก็ไม่เคยเรียกตัวเอง ว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมนะ เพราะเรามองว่า เราเป็นบริษัทหนึ่งทำธุรกิจแข่งกับคนอื่น แต่มี เป้าหมายลึกๆ ในใจชัดเจนว่าเราทำเพื่ออะไร ผมคิดว่าการทำธุรกิจธรรมดา หรือธุรกิจเพื่อสังคมก็เหมือนกัน เราต้องนำเสนอคุณค่าของสินค้าและบริการ รวมทั้งทางออกให้กับลูกค้า เพียงแต่ถ้าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ต้องนำเสนอทางออกที่พร้อมก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงสังคมด้วย"
เสกข์ อธิบายให้เห็นภาพถึงโมเดลการทำธุรกิจของ Toolmorrow ขณะนี้ว่า เป็นการรับผลิตวิดีโอในเชิงประเด็นสังคมให้กับสปอนเซอร์ ควบคู่ไปกับการรับผลิตวิดีโอให้กับเอเยนซี ที่ลูกค้าของเขามีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับ Toolmorrow
"ถามว่าเรามีรับงานเชิงพาณิชย์มั้ย ก็มีบ้าง แต่สุดท้ายเราทำไปแล้วรู้สึกว่า เราทำได้ไม่ดี เราขายของไม่เก่ง เลยคิดว่างานแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับเรา อาจจะมีเลี่ยงๆ บ้าง ที่ผ่านมาสปอนเซอร์ของเราส่วนใหญ่เป็นหน่วยงาน อย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดจนหน่วยงานเอ็นจีโอ"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขามุ่งมั่นทำอยู่ตอนนี้ ไม่ได้เพียงสร้างกระแส สร้างการตระหนักรู้เท่านั้น แต่เขาเชื่อว่าจะเป็นประตูเพื่อนำไปสู่อีกหลายโอกาสมากมาย ยกตัวอย่าง ช่องทางเฟซบุ๊กของกลุ่ม ที่เวลาแชร์ข้อมูลหรือคลิปแล้วมีแฟนเพจเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น คลังข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ สิ่งดีๆ ต่อไปในอนาคต
"ใครจะรู้ว่า ความคิดเห็นเหล่านี้ อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อสังคมอื่นๆ ให้ผมแตกไลน์ออกไปอีกก็ได้ ผมไม่ปิดโอกาสที่จะเข้ามา และยังมองว่า สิ่งที่เรากำลังทำเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือเพื่อสร้างการตระหนักรู้เท่านั้น แต่เรายังมีเครื่องมืออีกมากมายเพื่อต่อยอดออกไปอีก ไม่ต้องกังวลว่าโจทย์ของปัญหาสังคมที่เราตั้งใจจะทำลายความเชื่อจะหมด เพราะตราบที่โลกนี้ยังมีคำว่า 'ปัญหา' คนยังคิดต่าง เพราะมีชุดความเชื่อที่แตกต่าง นั่นคือ โอกาสของผม ในการที่จะทำลายความเชื่อเหล่านั้น และผมเชื่อว่าเราเป็นเจ้าแรกที่มีไอเดียในการทำธุรกิจที่หยิบเอาความเชื่อของสังคมมาเล่น"
เสกข์ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า จากนี้ไปเป้าหมายใหญ่ของ Toolmorrow คือ การเป็นครีเอทีฟสตูดิโอ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่จะขยายขอบเขตไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในระดับอาเซียน
"ภายใน 3-5 ปี ผมคิดว่าเราต้องไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ในการทำโปรเจกต์ เพื่อดิสเครดิตความเชื่อผิดๆ ในประเทศอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายขึ้น เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ผมเชื่อเสมอว่าโจทย์ที่ยากขึ้นทำให้เราเก่งขึ้น" เจ้าของธุรกิจเพื่อสังคมที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้นเพื่ออนาคตของลูกหลานกล่าว ทิ้งท้าย