TOBACCO-FREE YOUTH “เยาวชนรุ่นใหม่ร่วมใจต้านภัยบุหรี่”
คาดอีก 25 ปี ประชาชนจะเสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มเป็น 10 ล้านคน
ผู้ใหญ่ก็ร่วมด้วย
31 พ.ค.ของทุกปี ทราบกันดีว่าเป็นวันงดสูบบุหรี่โลกโดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้ให้คำขวัญไว้ว่าเป็น TOBACCO-FREE YOUTH หรือในภาษาไทยที่จัดประกวดกันจนได้ใจความว่า “เยาวชนรุ่นใหม่ร่วมใจต้านภัยบุหรี่”
เหตุที่ในปีนี้การรณรงค์เรื่องการงดสูบบุหรี่หันมาเน้นในเรื่องของเยาวชน คงไม่ใช่เพราะอื่นไกล คงเพราะปริมาณผู้สูบบุหรี่ในโลก อาจคงที่หรือเพิ่มขึ้นในปริมาณไม่มากนักเพราะค่านิยมในเรื่องของการสูบบุหรี่แล้วเท่ห์ รวมถึงการรณรงค์ถึงพิษภัยของบุหรี่สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น
จากการคาดการณ์ของหลายสำนักพบว่า ปัจจุบันมีประชากรปีละ 5 ล้านคน ที่ต้องเสียชีวิตจากพิษภัยของบุหรี่ และเชื่อว่าในอีก 25 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคน และข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้มีเยาวชนทั่วโลกอายุประมาณ 10-24 ปี ประมาณ 1.8 พันล้านคน โดยมากกว่า 85% ของเยาวชนทั้งหมดอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้เยาวชนทั้งหลายกำลังเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามทางสุขภาพจากบุหรี่ทั้งที่สุขภาพของพวกเขาแข็งแรงดีอยู่แล้ว
วกกลับมาในส่วนของประเทศไทยในงานวิจัยของน.ส.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการวิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2534-2549 พบว่า ผู้สูบบุหรี่เป็นประจำลดลง ชายสูบจำนวนมวนน้อยลง แต่หญิงกลับสูบจำนวนมวนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้สูบที่เป็นครั้งคราวกลับเพิ่มขึ้นถึง 93% เพิ่มจาก 5.91 แสนคนในปี 2534 เป็น 1.5 ล้านคนในปี 2549
นอกจากนี้กลุ่มที่มีอายุที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มอายุ 11-14 ปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงการสูบบุหรี่เป็นครั้งคราวเพิ่มมากขึ้นจากจำนวน 0.07% เพิ่มเป็น 0.28% และงานวิจัยนี้ยังพบว่ามีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณปีละ 3 แสนคนที่กำลังเข้าสู่วงการสิงห์อมควันแบบประจำและครั้งคราว ทั้งที่ไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ที่ห้ามขาย บุหรี่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี แล้ว ซึ่งเยาวชนเหล่านี้สามารถเข้าถึงบุหรี่ได้อย่างไร
ในฐานะมีหน้าที่ป้องกันรณรงค์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.สมาน ฟูตระกูล หัวหน้ากลุ่มควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกถึงทิศทางการรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกในปี 2551 ว่า เป้าหมายหลักของปีนี้จะเน้นการรณรงค์ที่ลดการเข้าถึงยาสูบในเด็กและเยาวชนที่อาจตกเป็นนักสูบหน้าใหม่ให้มากขึ้น
“โดยมาตรการที่ปีนี้จะเน้นให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจังคือเรื่องการห้ามโฆษณา การจูงใจ และที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือ การเพิ่มพื้นที่คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้สถานบันเทิงประเภทผับ บาร์ ร้านอาหาร ตลาดทุกประเภท ทั้งตลาดสด ตลาดขายเสื้อผ้า รวมถึงตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดนัดเปิดท้ายขายของต่างๆ ด้วย บังคับทั้งที่ติดแอร์และไม่ติดแอร์ ปลอดบุหรี่ทั้งหมด ซึ่งให้เวลาปรับปรุงและเตรียมตัวกันจนถึงวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้จะดำเนินการรณรงค์อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับปรับอย่างจริงจัง หากฝ่าฝืนเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่ มีโทษปรับ 2 หมื่นบาท ส่วนประชาชนที่สูบในเขตห้าม จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท”
นอกจากนี้คุณหมอสมาน บอกอีกว่า ขณะเดียวกันต้องพยายามตัดวงจรการที่เยาวชนเข้าเป็นนักสูบหน้าใหม่ในอีกหลายๆ ด้านพร้อมกัน อาทิ การขึ้นภาษีสรรพสามิตของยาสูบ ออกใบอนุญาตจำหน่ายยาสูบ ฯลฯ ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง
สิ่งที่คุณหมอวิตกคงเป็นอันตรายของเจ้าเครื่องมือสูบป้ายแดงที่เรียกว่า “บารากู่” หรือ “ฮุกก้า” มากกว่า เพราะราคาเริ่มต้นเพียง 250 บาท สามารถสูบได้ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่มีสารนิโคติน และสารทาร์จำนวนมากกว่าบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งการสูบผ่านน้ำ และการผสมกับผลไม้หรือกลิ่นต่างๆ ทำให้ความเข้มข้นของควันจางลง ทำให้ผู้สูบสูบได้ลึกมากขึ้น และสูบจำนวนมาก ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก และยิ่งเป็นการล่อให้เยาวชนติดกับดัก เพราะรูปร่างที่แปลก รสชาติที่มีการแต่งเติม อีกทั้งภายในหม้อยังมีการผสมส่าเหล้า ทำให้เกิดอาการเมาเหมือนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมากกว่าทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง
ในเมื่อการรณรงค์ต้านภัยบุหรี่ตัดวงจรให้สิงห์อมควันรุ่นใหม่เข้าสู่วังวนยาสูบได้ดำเนินการให้รอบด้านมากขึ้น แต่เมื่อเห็นจุดอ่อนที่อาจบ่อนทำลายสุขภาพอนาคตของชาติแล้ว ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้จะไม่ดำเนินการอื่นใดเลยหรือ
ดังนั้นการป้องกันไม่ให้มีผู้สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเด็กในวันนี้ ย่อมหมายถึงการลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากควันบุหรี่ในอนาคตได้ด้วย
ถึงเวลาแล้วที่ TOBACCO-FREE YOUTH “เยาวชนรุ่นใหม่ร่วมใจต้านภัยบุหรี่” และผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นอีกแรงด้วยเช่นกัน
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update:30-07-51