The Basket ตะกร้าผักดีต่อใจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟนเพจเรื่องเล่าจากตะกร้าผัก


The Basket ตะกร้าผักดีต่อใจ thaihealth


"ระบบสมาชิก" ปลายทางด้านการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ลงตัวในวันนี้ ปรากฏการณ์ความไว้วาง ใจระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค ผลที่ได้ต่อสุขภาพทั้งคนกินและคนปลูกดีขึ้น


"The Basket" (เดอะบาสเก็ต) โครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกิดจากกลุ่มเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรธุรกิจ นักบริหารการจัดการโครง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เข้าไปทำงานส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและผลิตพืชผลทางการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยผลผลิตขายผ่านระบบสมาชิกที่จ่ายเงินค่าซื้อผักผลไม้เป็นรายเดือนได้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อกลางปี 2559 เริ่มต้นจากลงพื้นที่ไปสำรวจหากลุ่มเกษตรกรที่ต้อง การเปลี่ยนการทำเกษตรมาสู่ระบบอินทรีย์ ขณะเดียวกันได้เชิญชวนกลุ่มคนเมืองที่ต้องการพืชผัก ผลไม้ปลอดภัยโดยทางบาสเก็ตเป็นคนกลางในการหาแหล่งปลูกจนถึงขั้นตอนจัดส่งให้ถึงประตูบ้าน


ในกระบวนการหาเกษตรกรมาร่วมโครงการนั้นไม่ได้เพียงแค่จบอยู่ที่ตัวพื้นที่เท่านั้น โครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ผู้ทำต้องนำองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน ขณะเดียวกันมีระบบตรวจสอบโดยผู้บริโภค โดยโครงการบาสเก็ตพาผู้บริโภคลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกร ได้เห็นขั้นตอนกระบวนการปลูกเก็บเกี่ยว เพื่อยืนยันว่าผักที่ได้รับในตะกร้าล้วนมาจากความใส่ใจที่ดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น และผู้บริโภคยังมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และมีส่วนเกื้อหนุนให้ภาคเกษตรหยุดการใช้สารเคมีโดยอ้อม


The Basket ตะกร้าผักดีต่อใจ thaihealth


มนัส หามาลา หัวหน้าโครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ เล่าว่า ในเบื้องต้นขณะนี้มีเกษตรกรที่รวมกลุ่มกับบาสเก็ต 5 กลุ่ม อยู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี และเพชรบุรี ขณะที่สมาชิกมีประมาณ 30 ราย โดยภายในปี 2560 จะเพิ่มยอดสมาชิกให้ได้ 100 ราย มีจำนวนผักและผลไม้ส่งสัปดาห์ละ 800 กก. ซึ่งราคาค่าสมาชิกเริ่มต้นเดือนละ 1,280 บาทจนถึง 2,560 บาท จะได้รับผักเดือนละ 4 ครั้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาทต่อราย ซึ่งขั้นตอนการขนส่งยังเป็นระบบใช้รถส่งไปที่บ้านสมาชิกทุกวันเสาร์ยังไม่คิดค่าขนส่งหากบ้านอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 30 กม. จากย่านประชานิเวศน์ ในตะกร้าผักประกอบด้วยสินค้า 8 หน่วย ประกอบด้วยไข่ 5 ฟอง ข้าวสารครึ่งกิโลกรัม และผักผลไม้ตามฤดูกาล ระบบสมาชิกที่เก็บเงินมาก่อน เงินส่วนหนึ่งจะส่งต่อไปให้เกษตรกรเพื่อเป็นเงินลงทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์


ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โครงการชุมชนเกื้อเกษตรอินทรีย์ ได้พาสมาชิกและผู้สนใจลงพื้นที่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ใน อ.ท่ายาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพผลผลิต พี่ปลูกมะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะเขือม่วงหยดน้ำ มันเทศญี่ปุ่น แตงกวา ตำลึง พริก ฝรั่งกิมจู มะละกอ สับปะรด กล้วย เป็นต้น


"พี่มล" หรือ น.ส.วิมล ฝั่งทะเล ประธานกลุ่มฯ เล่าว่า กลุ่มมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 28 ครอบครัว พื้นเพเป็นคน จ.พระนครศรีอยุธยาทั้งหมด เดิมทีปลูกผักและทำนาโดยเช่าพื้นที่ทำกินทั้งหมดรวมกัน 80 ไร่ ในแต่ละปีต้องจ่ายค่าเช่าที่ปีละ 100,000 บาท แต่เมื่อปีที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการทางด่วนผ่านชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน กลุ่มฯ จึงยื่นขอที่ดินทำกินกับรัฐบาล จนได้ที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่ที่บ้านหนองโรง อ.ท่ายาง ซึ่งเดิมทีเป็นพื้นที่สนามกอล์ฟที่รุกพื้นที่ป่าจึงถูกยึดคืนมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกิน ซึ่งการเข้ามาบุกเบิกของกลุ่มมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2559 เริ่มมาด้วยกัน 14 ครอบครัวก่อน ส่วนที่เหลือยังติดภารกิจที่ต้องดูแลครอบครัวและผู้สูงอายุ ขณะที่มีสมาชิก 3 ครอบครัว ได้รับการจัดสรรที่ดินคนละ 15 ไร่แล้ว ส่วนที่เหลือเป็นขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร โดยทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะทำปุ๋ยหมัก ทำสารชีวภาพ ลงแรงร่วมบุกเบิกพื้นที่ และปลูกกล้วยเป็นแปลงเกษตรรวมที่


The Basket ตะกร้าผักดีต่อใจ thaihealth


"ตอนนี้แต่ละคนได้พื้นที่เฉลี่ยคนละ 1 ไร่ ในการทำแปลงผักของตัวเอง ผลผลิตที่ได้จะขายให้กับกลุ่มฯ และหัก 10% เข้ากลุ่ม เพื่อเป็นค่าการตลาดและการดำเนินการ โดยพี่จะไปอบรม แล้วนำองค์ความรู้มาถ่ายทอด รวมถึงการเพาะต้นกล้าเพื่อแจกจ่าย"  พี่วิมล บอกเล่ารูปแบบการบริหารการจัดการของกลุ่ม


กลุ่มปลูกผักในพื้นที่ท่ายาง นอกจากกลุ่มพี่มลแล้วยังมีกลุ่ม "พี่เมียด" มัลลิกา ดีประเสริฐ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทย อดีตของพี่เมียดคือพนักงานออฟฟิศ ในเมืองกรุงผันตัวเองมาทำเกษตร มุ่งหวังพัฒนาที่ดินมรดก 25 ไร่ ให้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ และอยากให้คนในชุมชนหลุดพ้นการเป็นหนี้เป็นสินจากการทำเกษตรเคมี


พี่เมียดเล่าว่า ได้ปันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้คนในชุมชนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองทำเกษตรอินทรีย์ ทำแปลงปลูก พริก คะน้า บวบ ผักสลัด มะละกอฮอลแลนด์ กล้วยหอม โดยรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยหมัก และสารชีวภาพไล่แมลง ขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 12 ครอบครัว หลังจากตั้งกลุ่มมาแล้วประมาณ 1 ปี


สิมิลัน ปัญญาดี คุณแม่วัย 40 ปี สมาชิก THE BASKET บอกเล่าภายหลังลงเยี่ยมชมแปลงผักของกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวว่า เมื่อได้เห็นแปลงผักแล้วยิ่งสบายใจว่าผักที่เราเลือกจ่ายแบบรายเดือนแล้วปลอดสารเคมีจริงๆ แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าผักที่เราซื้อกว่าท้องตลาด 20-30% แต่แลกกับเวลาที่ไม่ต้องเดินไปซื้อ "ยังได้เห็นการเกื้อกูลของสังคม มุมหนึ่งเขาอยู่ได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ขณะที่เราได้คุณภาพชีวิตที่ดี"


เบื้องหลังการทำเกษตรอินทรีย์ของ THE BASKET จนได้ ผลิตผลมาสู่ตะกร้าผักส่งถึงปากท้องคนในเมือง เต็มไปด้วยเรื่องราวของความเกื้อกูล เป็นมิติการกินที่อิ่มวนจากกายไปถึงใจได้อย่างงดงาม

Shares:
QR Code :
QR Code