“Spark U ล้านนา” ต้นแบบพลังเยาวชนสร้างสรรค์พื้นที่

ที่มา : สยามรัฐ


ภาพประกอบโดย สสส. 



ในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านั้นจะหายไปตามเวลา การรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ให้คงอยู่เป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากพลังเยาวชนและคนในพื้นที่ที่จะช่วยให้พื้นที่นั้นคงเอกลักษณ์เอาไว้ได้


ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสื่อศิลปะวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านร่วมกันจัดงาน 'เมืองสร้างสรรค์ เมืองมีชีวิตชีวา Spark U ล้านนา' ภายใต้โครงการ Spark Uล้านนา ที่ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และร่วมกันขยายพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาวะให้ครอบคลุมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ



"จุดประสงค์ของ Spark U คือการปลุกพลังให้คนหนุ่มสาวเข้ามาช่วยกันปลุกพลังคนในพื้นที่ให้เกิดสำนึกร่วมและออกมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น" ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์คณะกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สื่อศิลปะวัฒนธรรมมีศักยภาพในการหล่อหลอมความเข้มแข็งของจิตใจและสังคม หากสื่อดีจะส่งผลให้เกิดเป็นมิติด้านวุฒิปัญญาที่ดี มีสำนึกและสามารถตัดสินใจเรื่องของสุขภาวะของตนเองได้ ดังนั้นหากต้องการสร้างสำนึกคนในสังคมให้รู้เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม ต้องประกอบไปด้วยสื่อดี ภูมิดี พื้นที่ดี หรือที่เรียกว่า 3 ดี สสส.จึงได้สนับสนุนโครงการ Spark U และเกิดการแตกย่อยออกเป็นหลายโครงการที่น่าสนใจ เกิดการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น และการแบ่งปันสิ่งที่ตนเองมีสู่สังคม สู่ผู้ที่ด้อยโอกาส สู่กลุ่มชาติพันธุ์และผู้ที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ให้คนเหล่านั้นมีโอกาสได้เติบโตในสังคมโดยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากยิ่งขึ้น



ทางด้านนางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้เล่าถึงที่มาของ Spark U ว่า ต้องการจัดทำพื้นที่ต้นแบบที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่อื่นๆ โดยเริ่มจากการจัดงานเรื่อง เด็กบันดาลใจ ในกรุงเทพฯ และขยายแนวคิดออกสู่ภูมิภาคผ่านโครงการ 'Spark U :ปลุกใจเมือง' เพื่อทำให้ตัวพื้นที่สร้างสรรค์หรือกิจกรรมจุดเล็กๆ ได้เข้าไปปลุกประกายความคิดแรงบันดาลใจ และจิตนาการให้คนในเมืองลุกขึ้นมาอยากพัฒนาเมืองของตนเอง ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งตัวบริบทและภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันทำงาน แต่เป้าหมายที่ทุกคนมีร่วมกันคือการช่วยปลุก ช่วยกระตุ้นความคิดให้คนในแต่ละสังคมแต่ละบริบทรักเมืองของตนเอง เกิดการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ต่อไป



"Spark U ล้านนา เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่ง และมีกลุ่มขับเคลื่อนเมืองในหลายมิติภายใต้ความเชื่อว่า ความร่วมมือและกิจกรรมสร้างสรรค์" นายชัชวาล ทองดีเลิศกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Spark U ล้านนาและโครงการเชียงใหม่ เล่าว่า เดิมทีที่จังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มคนจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมกระจายอยู่โดยรอบเมื่อ Spark U เข้ามาจึงเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายของภาคเหนือเกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ และสะท้อนเป็นบทเรียนที่ดีให้ชุมชนอื่นนำไปเป็นต้นแบบ จนกลายเป็นโครงการ 'Spark U ล้านนา'ในที่สุด ด้วยเวลาดำเนินงานกว่า 2 ปี กิจกรรมต่างๆ เช่นปลูกหมากปลูกลาน ห้องสมุดทิพย์เนตร บ้านปันเสียง ได้ช่วยพัฒนาพื้นที่ที่เคยถูกมองข้ามหรือปล่อยปละละเลย ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์


"ด้วยการออกแบบการทำงานที่เป็นแนวราบ มีการเชื่อมโยงศักยภาพ เคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมจะขยับขยายให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานได้ตลอดเวลา Spark U จะกลายเป็นแบรนด์ที่ทำให้คนกลายเป็นผู้นำ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเท สร้างสรรค์ทั้งกลุ่มคนและเครือข่ายในที่สุด" นายชัชวาลกล่าวทิ้งท้าย "การทำงานในแต่ละพื้นที่เป็นไปในรูปแบบต่างคนต่างทำแม้จะมีการแลกเปลี่ยนกันบ้างแต่ก็ไม่เป็นกระบวนการ" 



นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เล่าถึงการทำงานกับโครงการ 'Spark U ใต้ ใช่เลย' โดยขยายความว่า ได้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ข้ามเครือข่าย กลายเป็นพหุวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชน รวมไปถึงคนทำงาน



ในขณะที่นางสุมาลี สุวรรณกร ผู้ประสานงาน Spark U ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกเล่าถึงการทำงาน 'Spark U อีสานบ้านเฮา' ว่า ได้ใช้พลังของคนในชุมชนในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ผ่านกระบวนการที่ทุกคนร่วมมือกัน โดยเริ่มจากเด็กและเยาวชนไปจนถึงครอบครัวและชุมชน ทำให้เกิดผลสำเร็จที่มีเป้าหมายเดียวกัน ก่อให้เกิดพลังการทำงานของทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมประสานให้เด็กสมัยใหม่ และผู้สูงอายุในชุมชนสื่อสารกันรู้เรื่อง ทุกคนเห็นความสำคัญของตัวเอง เข้าใจตัวเอง เข้าใจพื้นที่ของตนเองมากขึ้น


การดำเนินงานของโครงการ Spark Uตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้ปลุกพลังของพื้นที่ให้ตื่นขึ้น โดยการรวมพลังของเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างสรรค์สื่อและพื้นที่สุขภาวะจนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนพื้นที่ต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code