Social Media อาวุธขับเคลื่อนปฏิรูป

เปลี่ยนสังคม

 

           ประสิทธิภาพ หรือ อิทธิพลของ Social Media เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยมีประสบการณ์ด้วยตนเองอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อ 10 เมษายน 2553 จนบานปลายมาถึงขั้นเผาบ้านเผาเมืองในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

 

          จะเป็นประสบการณ์ในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม…

 

          วันนี้..ผมว่าเราคงต้องยอมรับแล้วว่า พลังของการสื่อสารโดยประชาสังคมที่เรียกว่า Social Media หรือชุมชนออนไลน์ เป็นอาวุธหรือเครื่องมือที่เราปฏิเสธไม่ได้ หากต้องการเห็นอนาคตของประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปไปในทิศทางอันพึงปรารถนา และตามความคาดหวังที่เราอยากให้เป็น และต้องการให้ก้าวเดิน

 

          เมื่อไม่สามารถมองข้ามประเด็น Social Media เราก็คงต้องมาจัดระเบียบและสร้างยุทธศาสตร์ให้การใช้การสื่อสารในสังคมออนไลน์นี้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในยุคที่เรากำลังมีวาระแห่งชาติว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย เป็นเป้าหมายสำคัญ

 

          จากการเปิดเผยผลการศึกษาอย่างเป็นระบบด้วยความสนใจของ นายสุนิตย์ เชษฐา กรรมการผู้จัดการ Change Fusion ในหัวข้อ “Social Media เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม” ต่อที่ประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ในเวทีปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะของคนไทย

 

          ทำให้เราได้รับทราบสถานการณ์ในเชิงที่จะเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากมาย หากผู้รับผิดชอบหรือทำงานด้านการปฏิรูปประเทศไทย จะกำหนดยุทธศาสตร์ใช้พื้นที่ในสังคมออนไลน์เป็นอาวุธขับเคลื่อนวาระแห่งชาติครั้งนี้ให้เป็นจริง

 

          เพราะ Social Media นั้นคือเทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ตและการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้นใช้เพื่อแบ่งปันเรื่องราว, ความคิดเห็น, ข้อมูล และประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งกันและกัน ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถสื่อผ่านได้ในหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ, รูปภาพ หรือไฟล์วิดีโอ โดยผ่านทางบล็อก, เว็บบอร์ด สนทนา, วิกิพีเดีย และเว็บไซต์ Social networking ต่างจากคำจำกัดความของผู้ใช้ประโยชน์ของ Social Media ในทางธุรกิจ ระบุว่า หัวใจสำคัญของเว็บไซต์ Social Media นั้น ก็คือการให้ความสามารถในการโต้ตอบกับผู้อื่นได้ เพื่อที่ก่อให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์ และผลลัพธ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะได้จากเว็บไซต์ Social Media เหล่านี้ก็คือจะทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น การค้นหา, การแบ่งปัน หรือการแนะนำสินค้าบริการ หรือแม้แต่ทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นต้น

 

          ข้อมูลจากเนคเทค บอกว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 18.3 ล้านคน ในปี 2009 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะสูงกว่า 20 ล้านคน..นี่คือพื้นที่ที่ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และการปฏิรูปประเทศไทย..แน่นอน (แม้การประมูลระบบ 3G จะยังไม่ถึงฝั่งฝันก็ตาม)

 

          ศักยภาพหรืออิทธิฤทธิ์ของการสื่อสารของชุมชนออนไลน์ คงไม่จำเป็นต้องตอกย้ำซ้ำเติม เพราะเรามุ่งจะทำวันข้างหน้าให้ดี (ใช่ไหมครับ) เหมือนอย่างที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวสรุปได้อย่างน่าสนใจในที่ประชุมว่า

 

          “สังคมที่ซับซ้อน การใช้อำนาจไม่ได้ผล วิธีฝ่าความยาก ฝ่าวิกฤต ต้องเน้นทำ 2 เรื่องคือ การเปิดพื้นที่ทางสังคม และการเปิดพื้นที่ทางปัญญา อย่างกว้างขวาง ซึ่ง Social Media คือวิธีการหนึ่ง”

 

          การทำอนาคตให้ดี..วันนี้ผมว่า คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็คงต้องมาร่วมระดมสมองกันแล้วครับว่า  เราจะใช้สื่อสารทางชุมชนออนไลน์ให้ถูกทิศถูกทางและเป็นประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบอย่างไร เพราะผมเข้าใจว่า เวลานี้มีโครงการต่างๆ ที่ทำงานประเภทนี้เยอะแยะไปหมดในชุมชนบนอินเทอร์เน็ต ขาดแต่ว่ายังปราศจากช่องทางการนำเสนอ และการพัฒนาให้สอดคล้องไปกับนโยบายที่สามารถปฏิบัติให้เป็นจริง หรือผลักดันให้มีการดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงได้

 

          ข้อเสนอของกรรมการผู้จัดการ Change Fusion ที่ทำงานด้านสังคมมานาน ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจนำไปต่อยอดต่อไปครับ ไม่ว่าเป็นการบอกว่า หากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางบวกนั้น รัฐต้องลงมือก่อนเป็นอันดับแรก

          การลงมือของรัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถึงขั้นว่ารัฐไปสร้างกรอบ ควบคุมการสื่อสารของชุมชนออนไลน์ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดแน่นอน

 

          การลงมือของรัฐที่ดีและจะได้ผลคือ สร้างระบบเปิดเผยข้อมูลของรัฐ

 

          ต่อไปคนไทยต้องการรู้ข้อมูล สถิติ การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ วิธีการประมูล การได้มาซึ่งกฎหมายต่างๆ ก็สามารถเข้าไปโดยอิสระและได้รับข่าวสารทางตรง มิใช่บอกกันเหมือนเกมพรายกระซิบ สุดท้าย “ข้อมูลข่าวสาร” ก็ถูกเปลี่ยน บิดเบือน เบี่ยงเบน ตกหล่นไประหว่างทาง จนหาข้อเท็จจริงไม่เจอ

 

          นอกจากยุทธศาสตร์แรก ระบบเปิดเผยข้อมูลของรัฐแล้ว คุณสุนิตย์ยังได้เสนออีก 2 ยุทธศาสตร์ อันได้แก่ ระบบเชื่อมอาสาและการให้ และเปิดพื้นที่นโยบาย

 

          ผมคิดว่า ทำอันแรกให้เป็นจริงเมื่อไหร่ อันที่สองและสามก็จะตามมาในที่สุดครับ เพราะ…        ความโปร่งใส ตรงไปตรงมา จะเป็นระบบเชื่อมต่อความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และสะสมเป็นความเชื่อมั่น และศรัทธา อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเดินไปสู่เป้าหมายอย่างมีส่วนร่วมได้..จริงไหมครับ

 

          คนมีวิสัยทัศน์อย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน น่าจะเข้าใจได้ดีกับอาวุธยุคดิจิตอลเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ..รอแค่กดปุ่ม..คลิก..เท่านั้นแหละ

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดยนายใฝ่ฝัน..ปฏิรูป

 

 

 

 

Update : 07-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ