Social Distancing เว้นระยะห่างทางสังคม ลดเสี่่ยงโควิด-19

ที่มา : ไทยโพสต์


Social Distancing  เว้นระยะห่างทางสังคม ลดเสี่่ยงโควิด-19  thaihealth


แฟ้มภาพ


การระบาดทะลุเกินหลักร้อย ต้นตอมาจากพฤติกรรม "การพบปะทางสังคม" ของคนบางกลุ่มที่ไม่ตระหนักรับผิดชอบสังคม ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้พยายามสื่อสารมาตลอด รณรงค์ให้ประชาชนงดเว้นการทำกิจกรรมทางสังคมที่มีคนชุมนุมกันมากๆ และการระมัดระวังในการพบปะผู้อื่นควรทิ้งระยะห่าง 1-2 เมตร หรือที่เรียกว่า Personal distancing 


การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ข้างนอกบ้าน คำแนะนำได้ไล่ระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการรณรงค์ให้ทำงานที่บ้าน งดการเดินทาง ที่สำคัญคือการงดพบปะสังสรรค์ทางสังคม และให้ยึดหลัก Social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม การพยายามอธิบายถึงผลเสียของการชุมนุมว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  และจะก่อผลกระทบทำให้เกิดการแพร่ระบาดแผ่ขยายในวงกว้างทั้งประเทศ เพราะการติดเชื้อนั้นจะเริ่มจากการกระจายไปที่คนรอบข้าง ทั้งเพื่อน เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว และผู้อื่น เพราะผู้ติดเชื้อบางรายไม่แสดงอาการ ทำให้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้คนอื่นมีโอกาสสัมผัสและได้รับโรคจากผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว


Social distancing หรือ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" จะมีผลดีอย่างไร มาตรการเคร่งครัดของจีนโดยเฉพาะการห้ามออกนอกบ้าน ห้ามมีกิจกรรมทางสังคม เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ หลายวันที่ผ่านมาจีนสามารถหยุดการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้แล้ว แม้ว่าจะเป็นระยะแรกที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป แต่ก็เป็นแบบอย่างที่หลายประเทศควรนำไปปฏิบัติ รวมทั้งประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเข้าสู่ระยะ 3 ก็ต้องนำหลักการ Social distancing มาเป็นอาวุธต่อสู้ในสงครามเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน


นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้ว่า คำว่า Social distancing เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 1918 ที่เกิดการแพร่ระบาดไข้หวัดสเปนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีคนตายหลายสิบล้านคน ต่อมามีคำแนะนำว่าผู้คนควรทิ้งระยะห่างระหว่างกัน คำว่า Social distancing จึงเริ่มเกิดขึ้น มีการรณรงค์งดเว้นการทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน พอผู้คนเริ่มนำไปปฏิบัติ ก็ทำให้โรคไข้หวัดที่สเปนที่กำลังพุ่งสูงสุดเริ่มซาลง และค่อยๆ หายไปในที่สุด ซึ่งสำหรับประเทศไทยเชื่อว่าหากคนในประเทศเข้าใจ ยึดหลักการนี้ การเว้นระยะห่างในสังคม อยู่แต่ในบ้าน การปิดเมืองก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น


ด้าน นพ.รัฐพงษ์ บุรีวงศ์ รองผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค หรือหมอลอยด์ กล่าวว่า ถ้าออกมาตรการระดับรัฐ เช่น การปิดเมือง ก็เหมือนกับประเทศเราตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่ ซึ่งใช่ว่าจะได้ผล ถ้าระดับบุคคลยังไม่ตระหนัก ใส่ใจ ในเรื่อง Social distancing ก็ไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ และแม้ว่าผู้แทนองค์การอนามัยโลกจะชื่นชมไทยว่าสามารถรับมือกับโควิด-19 อย่างดีเยี่ยม และยกย่องกระทรวงสาธารณสุขที่นำนโยบาย Social distancing มาใช้กับประชาชน แต่คำชมขององค์การอนามัยโลกอาจจะสูญเปล่า ถ้าไม่มีการยกระดับการทำ Social distancing ให้เป็นข้อปฏิบัติหลักของผู้คนทั้งประเทศ


เมื่อถามถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่รักษาระยะห่าง จะนำมาใช้ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเฝ้าระวังเพื่อสังเกตอาการได้หรือไม่ ผศ.ดร.วรภัทร์กล่าวว่า กรณีที่มีกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่แสดงอาการ จำเป็นต้องกักตัวให้อยู่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน เราสามารถจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี จัดห้องที่มีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี เปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องถึง มีการจัดการแยกขยะ โดยใช้ถุงดำสองชั้น กรณีกลุ่มเสี่ยงออกนอกห้อง เพื่อทำกิจวัตรประจำวันในห้องครัวหรือห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รวม จะต้องสวมใส่หน้ากาก และรักษาระยะห่างกับคนอื่น อย่าเข้าใกล้คนอื่นมากเกินไป หรือเลือกไปในเวลาทำงานหรือเช้าตรู่แทน


social distancing ยังรวมถึงการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโต้ตอบอย่างใกล้ชิด เว้นระยะห่างการสื่อสารต่างๆ ที่เหมาะสม จะลดโอกาสติดโรค ต้องตระหนักเสมอว่า เรามองไม่เห็นเชื้อโรค แต่เชื้อโรคร้ายนี้แพร่กระจายในอากาศและอยู่ตามพื้นผิวสัมผัส อยากให้ใช้ยาแรงไว้ก่อน ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

Shares:
QR Code :
QR Code