Safe – Fair – Fun วิ่งปลอดภัย ยุติธรรมและสนุกสนาน
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th / ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ / แฟ้มภาพ
“เสียงหายใจหอบที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับโถมแรงสุดท้ายที่มีใส่สปีตเต็มฝ่าเท้า มุ่งพาตัวเองเข้าเส้นชัย” นี่คือพฤติกรรมของนักวิ่งเกือบทุกคนที่กำลังแข่งขันกับตัวเอง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามที่ตั้งใจ บรรยากาศแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติของเทรนการวิ่งที่กำลังมาแรงในช่วงปี 2560 -2561 ที่ผ่านมา
ตัวเลขของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จำนวนนักวิ่งเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจาก 5 ล้านคนในปี 2549 เป็น 15 ล้านคน ในปี 2560 นับว่าเป็นยุค “รันนิ่งบูม” ของประเทศไทยเลยทีเดียว ไม่ว่าจากกระแสของภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน ตอน 42.195 หรือช่วงที่พี่ตูน บอดี้สแลม ออกมาวิ่งจากใต้สุดไปเหนือสุด เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล ก็เป็นการกระตุ้นให้คนไทยออกมาวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ การแข่งขัน ตามกระแส หรือใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่เป็นการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับชีวิตตัวเองมากขึ้น
แน่นอนว่า เมื่องานวิ่งในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นการเชิญชวนให้คนออกมาวิ่งกันมากขึ้นด้วย อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายจาก สสส. อดีตประธานสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และผู้ริเริ่มจัดงานวิ่ง จอมบึงมาราธอน บอกเราว่า ภายใน 1 ปี ประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมวิ่งมากกว่า 1,000 รายการ เฉลี่ยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 20 งาน ซึ่งมีผู้จัดและองค์กรมากมายที่จัดงานวิ่งขึ้น โดยมีความรับผิดชอบ ความสามารถในการจัดงานวิ่งที่แตกต่างกัน
ทำไมต้องมีมาตรฐานงานวิ่ง
เมื่อกระแสการวิ่งได้รับความนิยม และมีงานวิ่งไม่ต่ำกว่า 1,000 งาน ทั่วประเทศไทยนั้น ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีด้านการวิ่งที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันถอดบทเรียน และองค์ความรู้จากการจัดงานวิ่ง โดยยึดหลักการของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือInternational Association of Athletics Federations (IAAF) จนเกิดเป็น “คู่มือการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ”
ประเด็นหลักที่ต้องการจะสื่อสาของมาตรฐานการจัดงานวิ่ง คือ Safe – Fair – Fun : วิ่งปลอดภัย ยุติธรรม และสนุกสนาน Safe (ความปลอดภัย) เช่น 1. การปิดถนน การจราจร ความปลอดภัยของพื้นผิวถนน 2. การแพทย์และพยาบาล การประกันอุบัติเหตุ การให้ความรู้กับนักวิ่งหน้าใหม่ เพื่อให้นักวิ่งตระหนักและเตรียมความพร้อมของร่างกายให้แข็งแรง การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การป้องกันการบาดเจ็บ เพื่อช่วยเหลือทั้งตัวนักวิ่งเองและผู้อื่น 3. น้ำดื่ม เพราะร่างกายเราขาดน้ำไม่ได้ ยิ่งวิ่งระยะไกลและอุณหภูมิของอากาศที่สูง ทำให้ผู้จัดจำเป็นต้องเตรียมน้ำให้พร้อมสำหรับนักวิ่ง เป็นต้น
Fair (ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน) โดยการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข่าวสารทั้งหมดเกี่ยวกับงานวิ่งที่จัด การรับสมัครที่เป็นระบบและมีการบันทึกข้อมูลของนักวิ่ง ในวันแข่งขันมีการปล่อยตัวนักวิ่งตรงเวลา มีระบบการจับเวลาที่เป็นมาตรฐาน โดยนักวิ่งสามารถทราบผลการวิ่งได้ทันทีที่เข้าเส้นชัย หรือนักวิ่งแนวหน้าที่ได้รับรางวัลก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการและมีความยุติธรรมในผลการแข่งขัน
Fun (ความสนุกสนาน) โดยหลักการของนานาชาติ อนุญาตให้มีการสร้างสีสัน การแสดงประจำท้องถิ่น และนักวิ่งแฟนซี เพื่อสร้างความบันเทิงระว่างเส้นทางวิ่ง ซึ่งเป็นการสร้างความสนุกสนานและให้กำลังใจนักวิ่งด้วย
มุมมองของนักวิ่งถึงมาตรฐานงานวิ่งประเทศไทย
ออม – ปวันรัตน์ พันธ์นิกุล
ปี 2555 เป็นปีแรกของการเข้าสู่วงการวิ่งอย่างเต็มตัวของ ออม – ปวันรัตน์ พันธ์นิกุล ร่วมพูดคุยกับทีมเว็บไซต์ สสส. ว่า ก่อนหน้านี้ออกกำลังกายที่ฟิตเนสเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการจัดงานวิ่งของแบรนด์เสื้อกีฬายี่ห้อหนึ่งที่เธอชอบ จึงลงสมัครวิ่งและด้วยบรรยากาศที่สนุกสนานของการวิ่ง ทำให้เธออยู่ในวงการวิ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา
มันเป็นยุคของรันนิ่งบูมจริงๆ ในระยะสองปีหลังที่ผ่านมานี้ จากเมื่อก่อนที่มีงานวิ่งไม่กี่งานใน 1 เดือน กลายเป็นว่าปัจจุบันภายใน 1 อาทิตย์มีงานวิ่ง 2-3 งาน และเส้นทางวิ่งที่จัดในกรุงเทพฯ ก็จะเหมือนเดิม ในส่วนของผู้จัดงานวิ่งก็เยอะขึ้นจากเดิม หลายๆ องค์กรก็เลือกที่จะจัดงานวิ่ง เพราะคิดว่าน่าจะได้กำไร และยังเป็นช่องทางของอาชีพใหม่ๆ ด้วย และที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ก็พบว่า มีงานวิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2561 1,000 กว่างาน จากเดิมในปี 2558 มีงานวิ่งประ มาณ 500 งาน ซึ่งเห็นถึงการเติบโตขึ้นเยอะมาก
ในมุมมองของนักวิ่งและนักการตลาดที่เฝ้ามองการเติบโตของวงการวิ่งที่ผ่านมา ออม ให้ความเห็นว่า การจัดงานวิ่งไม่ใช่แค่อยากจัดแล้วได้ทำ แต่มันคือการมองแบบใส่ใจรายละเอียดให้เหมือนการจัดอีเว้นท์ใหญ่ ไม่ใช่แค่ดูเส้นทาง เสื้อ เหรียญ จุดให้น้ำ ฯลฯ แต่ต้องดูให้ครอบคลุมและต้องมีแผนสำรอง A B C รองรับเสมอ เพื่ออุดช่องว่าง หรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ เรามีคนนับหมื่นคนในงานวิ่งและความปลอดภัยต้องเป็นหลัก รวมไปถึงการเห็นใจผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย
ราวๆ ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เธอยังได้เข้าร่วมวิ่งในเรซ EvaAirMarathon 2018 ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ได้มีโอกาสเห็นการจัดการงานวิ่งที่เป็นระบบ เธอแลกเปลี่ยนให้ฟังว่า ทางเรซการแข่งขันจะให้ข้อมูล และรายละเอียดของการแข่งขัน กฎ กติกา การปิดถนน สิ่งที่นักวิ่งควรทราบ อย่างชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนสมัครเข้าร่วมแข่งขัน และยังแจก Race Information สำหรับนักวิ่งทุกคนอย่างละเอียดในวันรับ Race kits
“เราได้รับ Race Information รวมถึงกระเป๋าสำหรับฝากของที่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยข้อมูลที่อยู่ใน Race Information เราได้อ่านครบ เพราะคือกฎ กติกา รายละเอียดทั้งหมดของงาน ทำให้เราสามารถวางแผนการวิ่ง ซึ่งบอกถึงจุดอำนวยความสะดวก เช่น รู้ว่ามีจุดน้ำ จุดอาหาร และการเปิดปิดไฟจราจรที่จุดไหน เวลาเท่าไหร่ ข้อมูลนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะนักวิ่ง แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับคนใช้รถใช้ถนน เพื่อได้วางแผนการจราจรด้วย รวมไปถึงการห้ามขาย BIB และถ้านักวิ่งมาไม่ทันในเวลาปล่อยตัว หลังจากนั้น 15 นาที จะไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผู้จัดได้บอกทั้งหมดในหน้าเว็บไซต์ ก่อนการรับสมัครวิ่งเรียบร้อยแล้ว”
ในฝั่งประเทศไทยบ้านเราเอง อยากให้ผู้จัดงานเตรียมข้อมูลตามความจริงให้พร้อมทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนสมัครวิ่ง ถ้ามี Race Information ที่ดี นักวิ่งจะรู้ว่าเราเหมาะกับสนามนี้ไหม เราจะต้องซ้อมยังไง และถ้าปิดถนนวิ่งจริงๆ ก็อยากปิดให้ได้ 100 % และชี้แจงเรื่องการเปิด – ปิดเส้นทางให้พร้อม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งนักวิ่ง ผู้ใช้รถใช้ถนน และควรมีมาตรฐานของการจัดงานวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรฐานกลางที่เหมือนกัน คำนึงถึงความปลอดภัยของนักวิ่ง และถ้าทำได้ชัดเจน สื่อสารถึงนักวิ่งตั้งแต่ต้น จะทำให้ปัญหาเรื่องการจัดงานวิ่งลดลง
จูน – พรมณี คุณสิริประภารัตน์
ด้านสาวสวยขาแรงของวงการวิ่งอีกคนหนึ่ง จูน – พรมณี คุณสิริประภารัตน์ แลกเปลี่ยนถึงบรรยากาศงานวิ่งเมื่อ 3 ปีก่อน ที่เข้าสู่วงการวิ่งว่า ช่วงนั้นงานวิ่งยังไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จักเล่าให้ฟังว่า ค่าสมัครไม่ได้แพงเหมือนปัจจุบัน แค่ 250 บาทก็สมัครวิ่งได้แล้ว และมีคนลงงานวิ่งไม่เยอะแบบนี้
“ตอนนั้นเราก็เลือกลงงานวิ่งตามเพื่อนๆ แต่เพียงแค่ดูว่า งานนั้นๆ มีน้ำให้เรากินทุก 2 กิโลเมตรหรือเปล่า เพราะน้ำสำคัญสำหรับเรามาก ส่วนงานวิ่งที่หักค่าใช้จ่ายและมอบเป็นการกุศลเราก็ว่ายิ่งดีเลย เพราะเราชอบทำบุญแบบนี้อยู่แล้ว ทำให้เราได้อะไรที่มากกว่าคำว่าสุขภาพ”
จูน แลกเปลี่ยนถึงกระแสงานวิ่งในปัจจุบันต่อว่า งานวิ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมมาก เฉลี่ยแล้วอาทิตย์ละ 4-5 งาน และมีองค์กรหรือผู้จัดมากมายที่จัดงาน จริงๆ แล้วการจัดงานวิ่ง 1 งาน มีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากมาย ซึ่งไม่ใช่การยึดมาตรฐานเดิมที่เราเคยจัด แต่เมื่อเรารับสมัครนักวิ่งจำนวนมากขึ้น ก็ต้องยกระดับการดูแลนักวิ่ง และมาตรฐานอื่นๆ ให้มากขึ้นตาม ไม่สามารถยึดการจัดการแบบเดิมในขณะที่รับนักวิ่งจำนวนมากได้
“เราเคยลงงานวิ่งที่เป็นนานาชาติ แต่มีเรื่องการไม่ยุติธรรมในเรื่องผลการแข่งขัน โดยไม่ได้แจ้งนักวิ่งให้ทราบชัดเจน ทำให้เราพลาดอันดับไป จริงๆ ควรแจ้งนักวิ่งให้ราบชัดเจนถึงกติกา การมอบรางวัล ฯลฯ จะเขียนชัดเจนเลยก็ได้ เราจะได้เตรียมตัวและวางแผนในการแข่งขัน”
จากที่เราเคยลงงานวิ่งเพราะเสื้อสวย เหรียญสวย ปัจจุบันนี้เราเลือกลงงานวิ่งโดยมองเรื่องการจัดงานก่อนว่า มีการดูแลนักวิ่งอย่างไร มีระบบการขจัดงานแบบไหน มีความรับผิดชอบดูแลนักวิ่งโดยให้ข้อมูลตั้งแต่ก่อนสมัครหรือไม่ เรื่องความปลอดภัย การปิดถนน การพยาบาล และเรื่องของน้ำที่ต้องมีทุกๆ 2 กม. มีหรือไม่
เราอยากให้งานวิ่งโดยเฉพาะงานที่ระบุว่าเป็นระดับนานาชาติ มีการยกระดับและมีมาตรฐานการจัดการที่ชัดเจน และถ้ามี มี Race Information ที่ชัดเจนทั้งก่อนรับสมัคร และย้ำอีกครั้งวันรับ BIB ก็จะทำให้นักวิ่งเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าเขาจะอ่านหรือไม่อ่าน แต่อย่างน้อยทางผู้จัดก็ได้แจ้งรายละเอียด กฎ กติกาที่ชัดเจนแล้ว เพื่อยกระดับงานวิ่งที่รองรับทั้งคนไทยและคนต่างชาติด้วย
ถ้าประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งที่มีมาตรฐานเดียวกัน ก็เชื่อแน่ว่าจะร่วมกันยกระดับงานวิ่งในประเทศไทยไปสู่ระดับนานาชาติได้อีกหลายงาน ผู้จัดหรือองค์กรสามารถดาวน์โหลดคู่มือมาตรฐานงานวิ่งได้ที่ ข้อปฏิบัติที่ดีในการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน http://llln.me/Vvu5LWW และ คู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนของ IAAF http://llln.me/SdfNF7j