Persona Health คัดข้อมูลสุขภาพที่ใช่ ให้ตรงกับตัวคุณ
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งาน “TALK & SHARE : เปิดตัวความร่วมมือ Persona Health คัดข้อมูลสุขภาพที่ใช่ ให้ตรงกับตัวคุณ” และหนังสือจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
ข้อมูลจาก Global Review 2021 พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉลี่ยเป็นเวลาวันละ 8 ชั่วโมง 44 นาที การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางโลกดิจิทัล จึงกลายเป็นเรื่องปกติ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ การค้นหาข้อมูลทางสุขภาพ หลากหลายคำถาม หลากหลายข้อสงสัย ถูกค้นหานับพัน นับหมื่นครั้ง เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่ทำให้คนเราหันมาสนใจข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และการดูแลสุขภาพมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ ณ ขณะนี้
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) จึงจัดงาน “TALK & SHARE : เปิดตัวความร่วมมือ Persona Health คัดข้อมูลสุขภาพที่ใช่ ให้ตรงกับตัวคุณ” เพื่อพัฒนานวัตกรรมกลไกที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ด้วยรูปแบบและช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราได้รับ มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ ดังนั้น เรื่องความรอบรู้สุขภาพจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ สสส.พยายามขับเคลื่อนในเรื่องของการใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รู้วิธีการเช็กข้อมูล ค้นหาข้อมูลที่ถูกต้อง เราจะต้องคิด วิเคราะห์ ก่อนตัดสินใจที่จะนำไปใช้หรือเผยแพร่ต่อ โดยในเบื้องต้นสามารถเช็กได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ https://cofact.org/ หรือผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ที่ @Cofact
การสังเกตข่าวปลอม หรือ Fake News มีเทคนิค 10 ข้อ ดังนี้
1. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และเครื่องหมายอัศเจรีย์
2. สังเกตที่ URL หาก URL หลอกลวงหรือดูคล้าย อาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากมีเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน "เกี่ยวกับ" เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
5. การพิจารณารูปภาพ ข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริงแต่ไม่เกี่ยวกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากไหน
6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
7. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจจะระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
8. ดูรายงานอื่น ๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมหากมีรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบ Persona Health สื่อเฉพาะคุณว่า สสส. สะสมองค์ความรู้ เครื่องมือ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพไว้มากมาย หลากหลายด้าน หลากหลายรูปแบบ สำหรับกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น สสส.จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศ “Persona Health สื่อเฉพาะคุณ” ขึ้น ซึ่งถือเป็นระบบคลังข้อมูลสุขภาพเฉพาะบุคคลที่มีการรวบรวมชุดความรู้ คู่มือ และสื่อรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ กว่า 10,000 ชิ้น โดยนำมาจัดกลุ่มให้เหมาะสมกับข้อมูลด้านสุขภาพแต่ละบุคคลมากขึ้น เช่น จัดกลุ่มเพศ อายุ ประเด็นสุขภาพ โรคประจำตัว การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
โดยนำคลังข้อมูลจากระบบสารสนเทศมาเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของ สปสช.ในรูปแบบของปุ่มฟังก์ชันที่อยู่บนแอปพลิเคชัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งต่อข้อมูลและแนวทางการสร้างเสริม เป็นกลไกสำคัญสู่การดูแลตัวเองในยุคดิจิทัล ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า เรามีวิทยาการ และความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สสส. จะพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางสุขภาพให้หลากหลาย ครอบคลุม และเหมาะสมกับแต่ละคนมากขึ้น โดยตั้งใจให้ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน และเข้าถึงคนไทยให้ได้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนได้เข้าถึงฐานข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องได้อย่างสะดวก และไร้ข้อจำกัดมากขึ้น”
“สุขภาพเป็นของเรา อย่าฝากสุขภาพของเราไว้กับคนอื่น อย่าฝากสุขภาพไว้กับหมอ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญใดๆ แต่ให้พึ่งพาเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น สิ่งสำคัญ คือ ในเบื้องต้นเราควรรู้จักสภาวะสุขภาพของตนเอง ว่าตอนนี้เรามีความเจ็บป่วยอย่างไร สุขภาพแข็งแรง ปกติดีหรือไม่ มีข้อจำกัดอะไรบ้าง และมีคำตอบหรือวิธีการใดที่จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน และสสส. จะช่วยทุกคนให้ทำหน้าที่ต่อตนเองตรงจุดนี้ให้ดีที่สุด” ดร.สุปรีดา ฝากทิ้งท้าย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า Persona Health สื่อเฉพาะคุณ มีจุดเด่น คือ การจับคู่ประวัติส่วนบุคคล (Matching Personal Profile) กับข้อมูลการสร้างเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง ที่จะช่วยให้ประชาชนตระหนักรู้ด้านสุขภาพและการดูแลตนเองในเบื้องต้นเพียงคุณเข้าใช้งาน Persona Health สื่อเฉพาะคุณ ผ่านแอปพลิเคชัน “ สปสช.” ก็เปรียบเหมือนการพกพาเครื่องมือดูแลสุขภาพติดตัวไปด้วยทุกแห่ง เพราะข้อมูลอยู่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคน สามารถค้นหาข้อมูลสุขภาพได้ทุกที่ ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัวมากขึ้น
“การดูแลสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ดี ดีกว่ารอให้เจ็บป่วยแล้วมารักษา ดังนั้น การดูแลสุขภาพประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เราควรจะดูแล หากมีโอกาส อยากเชิญชวนทุกคนให้ใช้แอปพลิเคชัน “ สปสช.” เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพ เชื่อว่าจะเป็นผลดีกับประชาชนทุกคน รวมทั้งเป็นผลดีต่อระบบการป้องกันสุขภาพของประเทศด้วย” นพ.จเด็จ กล่าว
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้สะสมองค์ความรู้ และส่งต่อทักษะสุขภาพมากมาย และจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ ด้วยความหวังที่จะเห็นคนไทยมีความรอบรู้ และทักษะสุขภาพในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง เหมาะสม ป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ลดภาระค่ารักษาพยาบาล รวมถึงรักษาสมดุลให้กับระบบงานป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ ร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Persona Health สื่อเฉพาะคุณ สามารเข้าใช้งานได้ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th