ORGANIC TOURISM โอกาสสำคัญของบ้านเรา

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


ORGANIC TOURISM โอกาสสำคัญของบ้านเรา thaihealth


Organic Tourism ไม่ใช่การท่องเที่ยวธรรมดาที่ มุ่งแสวงหารายได้ แต่เป็นการดำเนินงานของผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความสุขที่มากไปกว่าความพึงพอใจในการเดินทาง ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิค ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของระบบอาหารในสังคมโลก


ปัจจุบันความสนใจที่ว่านี้ได้กลายเป็นโอกาสธุรกิจของ Startup ที่เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมต่อ Demand กับ Supply ตัวอย่างเช่น "Farmcation" จากอเมริกา พาคนที่สนใจจาก Bay Area ไปท่องเที่ยว พบปะเกษตรกรที่ทำ Organic Farm ใน Central Valley ได้เดินทัวร์ เก็บสตรอเบอรี่ และปิคนิครับประทานอาหารจากวัตถุดิบในฟาร์ม ปรุงโดย Chef จากร้านอาหารใน San Francisco ผู้ก่อตั้ง Farmcation บอกว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ เป็นคนรักและสนใจเรื่องอาหาร โดยเขามองว่า มนุษย์ควรมีความสัมพันธ์กับอาหารมากไปกว่าแค่การซื้อหา จัดเตรียม แล้วนำมาบริโภคเท่านั้น แต่ควรเข้าใจต่อไป ถึงแหล่งที่มา ทั้งนี้วัตถุประสงค์การทำที่สำคัญของ Farmcation คือ การได้มีส่วนช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรรายย่อย อย่างไรก็ดี Farmcation เองก็ยังประสบปัญหาความไม่ลงตัวระหว่าง ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากใช้เวลาเพลิดเพลินให้มากที่สุดในฟาร์ม ซึ่งก็เท่ากับว่าเกษตรกรต้องจัดสรรเวลาเพื่อมารองรับความต้องการดังกล่าว ทำให้ต้องไปดึงทรัพยากรจากที่ใช้ทำการเกษตรเอาออกมาใช้


ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะกับคนที่คำนึงถึงเรื่อง ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ เมื่อ แล็บอาหารยั่งยืน ประเทศไทยจัดกระบวนการร่วมเรียนรู้และขับเคลื่อน "Organic Tourism" สนับสนุนโดยสสส. ขึ้นเมื่อ 18-20 มกราคม ที่ผ่านมา ทำให้มีการพูดคุยถึงโอกาส ธุรกิจนี้ที่สอดรับกับจุดแข็งของประเทศไทยทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและอาหาร


ในงาน Organic Tourism ได้มีการแชร์ประสบการณ์ของ "สามพรานโมเดล" ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างต้นน้ำ คือเครือข่าย เกษตรกรอาหารอินทรีย์ ที่มีมูลนิธิสังคมสุขใจเป็นแกนขับเคลื่อน กับปลายน้ำคือผู้บริโภค (หรือนักท่องเที่ยวในกรณี Organic Tourism) โดยมีกลางน้ำคือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร Travel Agent เป็นช่องทางประสานสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรเพื่อนำมาประกอบอาหารในโรงแรม เช่น ที่สามพรานริเวอร์ไซด์ สั่งวัตถุดิบ Organic จากเกษตรกรมาใช้ในโรงแรมคิดเป็นประมาณ 65% ของทั้งหมดและยังมีอีก 5% ที่มาจากโรงแรมทำ Organic Farm เองเป็นแหล่ง เรียนรู้ไปพร้อมกัน


นอกจากสั่งซื้อแล้วอีกกิจกรรมที่สำคัญคือการส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างคนในห่วงโซ่ โดยจัดให้มีการพบปะระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ รวมถึงคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น Chef ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขายของโรงแรม และที่สำคัญคือผู้บริโภค โดยผ่านกิจกรรม เช่น การจัด Farmer's Market


กิจกรรมข้างต้นในปัจจุบันยังอยู่ในระยะตั้งต้นเพื่อพัฒนาเป็นโมเดลให้ได้นำไปปรับใช้กันต่อและยังรอการขยายผลให้กว้างขวางออกไป โดยนอกจากผ่านการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดแล้วยังเป็นโอกาสการทำงานของธุรกิจ Startup ที่สามารถเข้ามาในหลายจุดเชื่อมต่อ เช่นการเป็น Platform กลางของการสั่งซื้อกระจายสินค้า ซึ่งปัจจุบันพบมีความพยายามจากหลายแห่งแต่ที่ดูยังติดขัดเป็น ที่การไม่ได้ไปทำงานร่วมกับเกษตรกรด้วยตัวเอง ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจบริบทต้นน้ำการผลิต จึงนำเสนอมาแบบแห้งๆ ขาดความลุ่มลึกในเรื่องราว และในแง่ปริมาณยังตั้งธงเอาเองในเชิงอุตสาหกรรม โดยขาดความเข้าใจว่าเกษตรกรมีความพร้อมจะผลิตมากขึ้นน้อยลง ในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร เหล่านี้ทำให้เมื่อนำเสนออกไปสู่ผู้บริโภคแล้วอาจทำให้เกิดความไม่สอดรับใน Demand กับ Supply ได้ เงื่อนไขสำคัญตรงนี้สำหรับ Startup จึงเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมทำความเข้าใจ Organic Food System


โอกาสธุรกิจ Startup กับ Organic Tourism ยังมีอีกมาก วันนี้ที่หมดรอบหน้าจะมาเล่าสู่กันฟังต่อค่ะ ระหว่างนี้ Startup ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www. organictourismthailand.com


Organic Tourism เป็นการดำเนินงานของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความสุขที่มากไปกว่าความพึงพอใจในการเดินทาง

Shares:
QR Code :
QR Code