New Normal องค์กรสุขภาวะ ยุคโควิด-19
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายองค์กรให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Work from Home เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของพนักงานให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการทำงานรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมกับ New Normal ชีวิตวิถีใหม่ และสามารถนำองค์กรไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืน
ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ Happy Workplace จัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เปิดเมืองแล้ว แต่โควิด-19 ยังอยู่ องค์กรทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้พนักงานมีความสุขและมั่นใจในการทำงาน” เพื่อร่วมกันหาคำตอบในเรื่องนี้
“ดร.บุรเทพ โชคธนานุกูล” จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เปิดเผยผลสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันองค์กรของคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ พ.ศ. 2563 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า จากการเก็บข้อมูล 436 องค์กรใน 17 ประเภทกิจการ พบว่าภาพรวมความสุขในปี 2563 ในช่วงที่หลายองค์กรให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home พบว่ามีคะแนนความสุข 59.5 คะแนน พนักงานจิตใจยังดีแม้การเงินอาจติดขัดและมีความเครียดสูง ส่วนผลกระทบจากการระบาดของโควิดต่อคนทำงาน มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพ เครียดรู้สึกไม่ผ่อนคลาย และมีปัญหาการเงิน
สำหรับการทำงาน Work From Home พบว่าช่วยส่งเสริมความสุขให้กับพนักงานได้มากมายหลายด้าน แต่หลายคนต้องทำงานมากกว่าอยู่ที่ทำงานปกติ แม้จะไม่ต้องเดินทางไปทำงานแต่ก็ต้องประชุมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ขณะที่การออกกำลังกายลดลง เนื่องจากสถานที่ออกกำลังกายถูกปิดไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมได้ ขณะที่การปรับตัวในเชิงบวกต่อตัวพนักงานพบว่ามี 3 เรื่องคือ มีความใฝ่รู้ดีโดยเฉพาะเทคโนโลยี การได้อยู่กับครอบครัว และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น การทำตู้ปันสุข การทำอาหารแจก เป็นต้น
“ความสัมพันธ์ในครอบครัวและความมีน้ำใจดีต่อกันถือเป็นวัคซีนของสังคมไทย ซึ่งถ้าเราส่งเสริมให้พนักงานมีครอบครัวที่ดีมีน้ำใจ ก็จะเป็นการช่วยสร้างความสุขให้มีกำลังใจทำงานให้กับองค์กรดียิ่งขึ้น” ดร.บุรเทพ กล่าว
ด้าน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า สสส. ได้แบ่งมิติแห่งความสุขออกเป็น 8 ด้าน หรือที่เรียกว่า Happy 8 ซึ่งหากสามารถนำแนวคิดนี้เข้าไปอยู่ในนโยบายขององค์กรได้ พนักงานจะมีความรักผูกพันกับองค์กร เช่น ในองค์กรที่มีผู้หญิงมากก็สามารถทำมุมนมแม่เตรียมไว้ให้พนักงานปั๊มนม หรือการอนุญาตให้ลาคลอดได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยได้รับเงินเดือน หรือยามเกิดวิกฤติ เช่น การระบาดของโควิด-19 องค์กรก็ต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจพนักงานมากกว่าเดิม โดยต้องพยายามเก็บรักษาไว้ไม่ปลดออก เพราะพนักงานกำลังเผชิญกับวิกฤติอุปสรรค
“ความสุขของพนักงานทำให้รู้สึกรักและหวงแหนองค์กร พนักงานรู้สึกมีตัวตน ได้รับความเข้าอกเข้าใจจากคนในองค์กร ทุกคนได้รับการยอมรับ ดูแลเอาใจใส่จากผู้บริหาร สิ่งเหล่านี้ช่วยพลิกโฉมทำให้องค์กรธรรมดากลายเป็นองค์กรที่มีความสุข” ดร.สัมพันธ์ กล่าว
ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้หลายองค์กรเริ่มให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศบ้างแล้ว หลังจากต้อง Work From Home กันมานาน ซึ่งมีหลายสิ่งที่เป็นความท้าทายผู้บริหารและพนักงาน เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ Happy Workplace ในยุค New Normal ดังนี้
1. ออกแบบการทำงานให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal โดยต้องออกแบบการทำงานให้เข้ากับความต้องการของพนักงาน การใช้ชีวิตประจำวันทั้งที่ออฟฟิศและที่บ้าน เพราะต้องยอมรับว่ามีพนักงานจำนวนไม่น้อย ชอบการทำงานแบบ Work From Home
2. ต้องรับฟังคนในองค์กรให้มากที่สุด โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาในองค์กร เพราะแต่ละองค์กรจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนกัน อย่าไปอ้างอิงว่าที่นั้นทำงานแบบนั้นแบบนี้ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ออฟฟิศ หรือให้ Work From Home ก็มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาดูให้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมเวิร์คที่แข็งแรง
3. พนักงานต้องเพิ่มทักษะและทำงานเชิงรุก ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี เพราะทักษะเดิมอาจไม่เพียงพอ ซึ่งการทำงานแบบ Work From Home ถ้าไม่พัฒนาตัวเองก็อาจจะถูกคนจากประเทศอื่น มาทำงานแทนได้ เพราะสามารถ Work From Home เชื่อมโยงได้ทั่วโลก ดังนั้นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตลอดเวลา
4. ความปลอดภัยของพนักงานสำคัญที่สุด โดยองค์กรต้องสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่าจะปลอดภัยจากโควิด-19 เมื่อมาปฏิบัติงาน เช่น ใน 1 สัปดาห์จะต้องมีการตรวจโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกคน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้การดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่าการนำเอาแนวคิดองค์กรสุขภาวะ Happy Workplace ที่ สสส.และภาคีเครือข่าย พยายามส่งเสริมพัฒนาคนและความสุขไปพร้อมๆ กัน จะสามารถช่วยสร้างความสุขให้กับทุกคน และนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน