MOU แชร์ข้อมูลสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวด้วยดิจิทัล
ที่มา : มติชน
ภาพประกอบจาก สสส.
เด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นช่วงวัยช่วงชีวิตและจุดริเริ่มสำคัญที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งได้รับความท้าทายอย่างยิ่งของภาคส่วนต่างๆ ที่มีพันธกิจในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งมีหลากหลายมิติและแยกส่วนกัน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาด้านการบริหารงานแบบใช้ร่วมกันขององค์กร Shared-Service ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) รวมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในหัวข้อ "การพัฒนาต้นแบบ บริการร่วมระหว่างหน่วยบริการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวด้วยดิจิทัล (Seamless Transaction Dervices)" มีเป้าหมายในการพัฒนารูปแบบ การจัดบริการร่วมทุกภาคส่วนให้จัดวางเป็นแพลตฟอร์มสำหรับร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนที่มาจากครอบครัวเปราะบาง พร้อมไปกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิผล ด้วยการใช้วิทยาการข่าวสารแบบดิจิทัล ตลอดจนสามารถนำรูปแบบไปทดสอบและขยายผลให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ภาคีพันธมิตรผู้ร่วมเรียนรู้และพัฒนา มี 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มผู้ให้บริการ กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นเด็ก ครอบครัวและอาสาสมัคร และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับเขต คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก โดยร่วมกันวิเคราะห์ช่องว่างที่ต้องเติมเต็มระหว่างสถานการณ์ ที่กำลังคุกคามกัดกร่อนคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ผนวกเข้ากับนวัตกรรมแบบดิจิทัลของ สพร.
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า "หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ คือการดูแลสุขภาวะของเด็ก ไม่ว่าจะเป็น เด็กเล็ก หรือเด็กที่อยู่ในวัยของการศึกษา ซึ่งเราพบปัญหา ต่างๆ มากมาย ปัญหาหนึ่งคือเรื่องของข้อมูล เนื่องจากว่ามีการดูแลเด็กในหลายๆ หน่วยงานด้วยกัน เพราะฉะนั้นการร้อยเรียงข้อมูลเพื่อส่งต่อจากหน่วยงานหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่งยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการที่ทั้ง 4 ภาคีเครือข่าย มาร่วมกัน Shared-Service ซึ่งคิดว่าเป็นต้นแบบในการทำงานที่ไร้รอยต่อเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ทั้ง 4 องค์กรจึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่าต้องช่วยเหลือ ดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะมีโครงการนำร่องที่ศูนย์ลาดกระบังก่อนเป็นที่แรก"
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า "สพร. เป็นหน่วยงานกลางที่จะพร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการและการให้บริการกับประชาชน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่เราจะต้องช่วยและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยขับเคลื่อนกระบวนการทางภาครัฐ วันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ภาคีทั้ง 3 หน่วยงานให้เกียรติทาง สพร. เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้แก้ปัญหาเรื่องของฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชนให้มีความเชื่อมโยงกัน การบริหารจัดการที่สำคัญที่สุดอย่างแรกคือการเรียบเรียงข้อมูล การที่เรามีข้อมูลกระจัดกระจาย ย่อมเป็นอุปสรรคในการจัดการของบริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อให้ตรงกับความต้องการขอผู้รับบริการ"
คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ 3 หน่วยงานหลัก ในการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าเป็นต้นแบบ สสส. เองเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการที่อยากให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดีรอบด้านและทุกมิติ สสส. อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่
ประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสังคมสูงวัย มีผู้สูงวัยในสัดส่วนที่มากขึ้นรื่อยๆ ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในทุกมิติมีมากขึ้นอย่างที่เราได้ทราบกัน จึงมีการใช้เด็กเพื่อแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำ แก้โจทย์เรื่องของการพัฒนาประเทศ รวมทั้งแก้โจทย์การเป็นสังคมสูงวัย หากเราเริ่มต้นด้วยข้อมูลชุดเดียวกัน ไม่มีรอยต่อ ไม่มีช่องว่าง ถือว่าวันนี้เป็นโอกาสทองที่ทั้ง 4 หน่วยงานได้ทำงานร่วมกัน สสส. เองมองว่าสิ่งนี้เป็นการทำงานเชิงลึกอย่างแท้จริง เป็นการจัดการปัญหาที่มาจากต้นน้ำ เป็นหนึ่งโครงการที่เราคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มต้นการพัฒนาและขยายผลไปสู่โครงการอื่นๆ เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวต่อไป"
อาจารย์ธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตัวต้นแบบนี้ใช้เป็นพื้นที่ในการส่งเสริมศักยภาพ การเรียนรู้ของผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ กลไกคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับเขต และคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ให้มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านระบบการเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบดิจิทัลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลที่ไร้รอยต่อ ด้วยเจตนารมณ์ที่ทุกฝ่ายในครั้งนี้คาดหวังว่า จะเกิดผลสำเร็จได้เป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถจะขยายผลการใช้บริการร่วมกันขององค์กรหรือที่เราเรียกว่า Shared-Service เพื่อให้ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ในอนาคต"