Love Education เรื่องรักที่ต้องรู้
เรื่องโดย ชมนภัส วังอินทร์ team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก: นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการงานประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ
ครั้งที่ 3,สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ และสื่อสุขภาวะทางเพศ สสส.
ภาพประกอบโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th /แฟ้มภาพ
การนำเสนอเรื่องเพศในสังคมไทยเป็นเรื่องที่เปราะบาง แม้ว่าปัญหาที่เกิดจากเรื่องเพศจะมีมากพอ ๆ กับปัญหาที่เกิดจากยาเสพติด โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันวาเลนไทน์ กระแสค่านิยมของเยาวชนมุ่งเน้นไปที่การพลีกายเพื่อแสดงความรักต่อกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อการห้ามปรามไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่เป็นการรู้จักป้องกันที่ถูกต้องที่จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พ.ศ.2535-2558 พบอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 127.1 ต่อวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี หนึ่งแสนคน ที่แย่ไปกว่านั้นในปี พ.ศ. 2558 พบโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกวิธีมาก ถึง 8 โรค ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง เริมที่อวัยวะเพศ หูดที่อวัยวะเพศรวมถึงทางทวารหนัก และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการงานประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ยึดวัฒนธรรมในเรื่องของการแต่งงานก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่สามารถห้ามได้เพราะมีการปฏิบัติตามกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการลอกเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก เมื่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีพฤติกรรมเช่นนั้น ภาคสังคมจึงต้องปรับตัวและแก้ไขปัญหา สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น การติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่ออื่น ๆ
ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ชายรู้จักป้องกันโดยการสวมถุงยางอนามัย ผู้หญิงรู้จักคุมกำเนิด เพราะการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันอย่างถูกวิธีเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น นอกจากนี้หากไม่มีการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ผู้หญิงสามารถกินยาคุมฉุกเฉิน หรือใส่ห่วงอนามัยฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เกิน 5 วัน
“การเข้าถึงการบริการด้านสุขภาวะทางเพศเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมีหน่วยงานที่เป็นมิตรกับเยาวชนให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ผู้ชายสามารถขอรับถุงยางได้ฟรี สำหรับผู้หญิงมีบริการฝังยาคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยกำหนดให้วัยรุ่นอายุ 10-20 ปี สามารถขอรับบริการการใช้ยาฝังคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรได้ฟรี โดยฝังไว้ใต้ผิวหนัง ท้องแขน มีแบบชนิด 3 ปี และ 5 ปี นอกจากนี้ยังสามารถขอรับคำปรึกษากับสายด่วนปรึกษาเอดส์ และท้องไม่พร้อม โดยติดต่อทางโทรศัพท์ 1663 ที่เป็นความร่วมมือของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (path2health) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสริมสุขภาพ (สสส.) ที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาแบบไม่เปิดเผยตัวตน และเก็บข้อมูลเป็นความลับ เพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสบายใจทุกครั้งในการขอคำปรึกษา และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ไม่ทอดทิ้งให้วัยรุ่นและเยาวชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพัง” นพ.วิวัฒน์ อธิบาย
เมื่อทราบถึงปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่พร้อมแล้ว อีกหนึ่งจุดที่ต้องปักหมุดไว้และขยายคำโต ๆ ให้วัยรุ่นไทยได้ศึกษา คือ วิธีการคุมกำเนิดรูปแบบต่าง ๆ อย่างถูกต้องดังนี้
1. ยาเม็ดคุมกำเนิด สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 99.7 % แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ วิธีกินยาต้องกำหนดเวลาในการกินยาให้ตรงเวลา เช่น หากเริ่มกินยาภายใน 5 วันแรก นับจากวันที่มีประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที หากกินในช่วงอื่นต้องรออีก 7 วัน จึงจะสามารถป้องกันได้ ดังนั้นหากมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างนี้ต้องสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
2. การนับระยะปลอดภัย หน้า 7 หลัง 7 ใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีระยะการมาของประจำเดือนที่สม่ำเสมอเท่ากันทุกเดือน สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือคนที่มีระยะรอบเดือนสั้นกว่า 28 วัน ไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ สำหรับคำว่าหน้า 7 หมายถึง 7 วันก่อนมีประจำเดือน ส่วนคำว่าหลัง 7 หมายถึง 7 วันหลังจากประเดือนมาวันแรก เช่น ประจำเดือนมาวันแรกวันที่ 15 มีนาคม ให้นับย้อนขึ้นไป 7 วัน และนับรวมวันที่ 15 ไปด้วยอีก 7 วัน จะได้ระยะปลอดภัย คือวันที่ 8-21 มีนาคม เป็นต้น
3. ยาฉีดคุมกำเนิด ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 99.7 % แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ สามารถขอรับบริการฉีดยาคุมกำเนิดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีกำหนดฉีดยา ทุก ๆ 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน และควรฉีดภายใน 5 วันแรก นับจากวันที่มีประจำเดือน จึงจะมีผลป้องกันได้ทันที
4. ยาฝังคุมกำเนิด มีขนาดเท่ากับไม้ขีดไฟ ใช้โดยการสอดเข้าใต้ท้องแขนของผู้หญิง มีระยะการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3-5 ปีขึ้นอยู่กับชนิดที่ใช้ ซึ่งการฝังยาคุมกำเนิดจะต้องดำเนินการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
5. แผ่นคุมกำเนิด ใช้แปะบริเวณผิวหนัง ควรจะเปลี่ยนในวันเดียวกันของแต่ละสัปดาห์ รวมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และหลังจากใช้แผ่นคุมกำเนิด 3 สัปดาห์แล้ว ต้องหยุดพัก 1 สัปดาห์ เมื่อเริ่มสัปดาห์ใหม่ควรใช้ในวันเดียวกันของสัปดาห์เช่นเดิม
6. ห่วงคุมกำเนิด เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้สอดเข้าในมดลูกของผู้หญิงโดยแพทย์ ซึ่งใช้ได้ผลดีเป็นเวลา 5-10 ปี ไม่เหมาะกับผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน
7. ยาคุมฉุกเฉิน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 85% ประกอบไปด้วยยา 2 เม็ด โดยเม็ดแรกต้องกินภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ หลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมงจึงตามด้วยเม็ดที่ 2 ทั้งนี้ยิ่งกินเร็วเท่าไหร่ก็จะสามารถลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้มากเท่านั้น
8. ถุงยางอนามัย สามารถป้องกันการตั้งท้องได้ 98%
เห็นไหมว่าการคุมกำเนิดนั้นเป็นเรื่องไม่ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่ยาก คือ การมีวินัยรู้จักป้องกันตนเอง หากรู้ตัวว่ายังไม่พร้อมจะมีบุตร หรือยังไม่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องรู้จักการป้องกัน และการปฏิเสธให้เป็น เพราะปัญหาที่ตามมาส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมโดยตรง