Kick off ปิดเทอมสร้างสรรค์ สสส.-ภาคีฯ ระดมกิจกรรมฉ่ำเว่อ ต้อนรับปี 67 เปิดพื้นที่เรียนรู้กว่า 1,000 แห่งทั่วไทย ให้เด็ก-เยาวชนเข้าถึงกิจกรรม เพิ่มทักษะชีวิต
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย Kick off ปิดเทอมสร้างสรรค์ ระดมกิจกรรมฉ่ำเว่อ ต้อนรับปิดเทอม 2567 เปิดพื้นที่กว่า 1,000 แห่งทั่วไทย ให้เด็ก-เยาวชนเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์-สร้างฝัน-สร้างทักษะชีวิต ชวนเข้าแพลตฟอร์ม “ปิดเทอมสร้างสรรค์.com” ให้ทุกวันเป็นวันเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2567 ที่ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park Park) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เปิดตัวกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แต่ละปีเด็กมีวันว่างรวมปิดเทอมกว่า 150 วัน สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาค โดยมี 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุตรดิตถ์ กรุงเทพฯ นครราชสีมา ยะลา พร้อมหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในอีก 25 จังหวัด รวมถึงภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 องค์กร ที่มีแหล่งเรียนรู้รวมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ รวมกันจุดประกายให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวันวันหยุดและปิดเทอม ผ่าน www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กและผู้ปกครองเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สนใจ
“แพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ทำหน้าที่เชื่อมองค์กรและเด็ก ๆ มาเจอกันแล้ว จับคู่กันตามความสนใจ เพื่อให้วันว่างสร้างโอกาสมหาศาลที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ สร้างฝัน สร้างทักษะชีวิต หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ ซึ่งสำคัญไม่แพ้การเรียนในระบบการศึกษา และยังลดปัญหาเด็กติดหน้าจอมือถือ ลดความเสี่ยงที่จะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรืออันตรายอื่น ๆ ปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย เพิ่มความพิเศษให้กับโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ด้วยการกำหนดแนวคิด “ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ” มีเป้าหมายเปิดพื้นที่กิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ ในชุมชนให้เด็ก ๆ เข้าถึงพื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัยได้ภายใน 15 นาที เนื่องจากการสำรวจในปีที่ผ่าน ๆ มา พบหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ สถานที่จัดงานไกลบ้าน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการเดินทาง หรือกรณีเด็กเล็ก ผู้ใหญ่จะต้องพาไป ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรม สสส. จึงเพิ่มการเข้าถึง ลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย สร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนต่าง ๆ ให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ได้มากกว่าปีที่แล้ว” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาและความต้องการของเด็กกรุงเทพฯ คือ 1. การเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ หรือพื้นที่เรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายยังมีจำกัด 2. ความเหลื่อมล้ำ เมื่อพื้นที่เรียนรู้ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ กทม. เชื่อว่าหากมีพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนได้เข้าร่วม ได้แสดงศักยภาพฟรีมากขึ้น เขาจะไม่เอาเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า หรืออะไรที่ไม่ดี โดยหลายสำนักของ กทม. อาทิ สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม ทำกิจกรรมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม อาทิ ร่วมกับภาคเอกชนเปิดให้เด็กและเยาวชนฝึกอาชีพ ศึกษาดูงานในบริษัทตามความสนใจ เพิ่มจำนวนห้องสมุดให้เด็กเข้าถึงโอกาสเรียนรู้มากขึ้น ในวันที่ 31 มี.ค.2567 มีงานหนังสือในสวน ที่รวมการเรียนรู้และนโยบายด้านการศึกษาของ กทม.ทั้งหมดให้ผู้สนใจเข้าร่วมที่สวนเบญจกิตติ เดือน พ.ค. ก่อนเปิดเทอม จัดเทศกาลกีฬาให้เด็กและครอบครัวได้ร่วมออกกำลังกายและใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ กทม. ยังแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก กทม.มากขึ้นจากปัจจุบัน 200 พื้นที่ เป็น 1,000 พื้นที่
น.ส.อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้รับผิดชอบเครือข่าย Feeltrip และเชื่อมต่องานปิดเทอมสร้างสรรค์ จ.ชลบุรี จ.สงขลา กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา พบความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของทั้ง 2 พื้นที่ คือการใช้ต้นทุนเดิม ทั้งวิถีชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน แกนนำเยาวชน เชื่อมต่อกับกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์แบบไร้รอยต่อ ดึงเด็กจากหน้าจอมือถือ สร้างประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชนและต่างชุมชน ตัวอย่างความสำเร็จของ จ.สงขลา คือการทำงานกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด เปิดพื้นที่ชุมชนเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ที่เด็กสามารถเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว เช่น ใบตาล ที่สามารถทำหุ่นไว้เล่นเชิดหุ่นเงาผ่านผ้าดิบได้ โดยวันงานน้อง ๆ นำมาจัดแสดงให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมและร่วมเวิร์คช้อปด้วย ส่วน จ.ชลบุรี เน้นทำงานกับเยาวชนหลายรูปแบบ เปิดพื้นที่ชุมชนให้เด็กได้เรียนรู้กับพ่อครูแม่ครู และรุ่นพี่แกนนำด้านต่าง ๆ อาทิ งานหัตถกรรม หรืองานคราฟท์ วาดภาพสะท้อนวิถีชีวิตชาวประมงในพื้นที่ ทำให้เด็ก ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม ที่ติดตามพ่อแม่แรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามา เข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ฟรี เกิดประสบการณ์ ทักษะ และสร้างคุณค่าร่วมกัน ปิดเทอมสร้างสรรค์ทั้ง 2 พื้นที่ จึงเป็นการสร้างความหมายใหม่เรื่องพื้นที่เรียนรู้ ที่เพียงก้าวเท้าออกจากบ้านก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกวัน