“ISPAH” ยกระดับกิจกรรมทางกายสู่สากล
เรื่องโดย แพรวพรรณ สุริวงศ์ Team content www.thaihealth.or.th
ปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสนใจและดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ทั้งการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกาย แต่แนวโน้มด้านสุขภาพจากทั่วโลกกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื่อรัง (NCDs) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาวะอ้วน ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกกลุ่มวัย
คนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้านคน ภาวะความดันโลหิตสูงถึง 13 ล้านคน และคนที่เป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน อีกทั้งยังพบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งหมายถึง ร้อยละ 5-10 ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ
ด้วยปัญหาด้านสุขภาพดังกล่าวจึงทำให้ทั่วโลกเกิดความตระหนัก และให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ การประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 ที่จะจัดขึ้นใน ระหว่าง 16-19 พฤศจิกายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีสมาคมนานาชาติเพื่อการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (The International Society for Physical Activity and Health – ISPAH) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกทม.เป็นเจ้าภาพร่วม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการและแนวทางแก้ปัญหาด้านสุขภาพ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุม ISPAH จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 และเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นการประชุมที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเข้าสู่เวทีระดับโลกด้านนโยบายและด้านวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย และสร้างเวทีระดับนานาชาติสำหรับนำเสนอผลงานวิชาการของคนไทยด้านการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพ เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้มีการผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น และสร้างให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องนี้ ยิ่งขึ้นในประเทศไทย นอกจากนั้นการประชุมครั้งนี้ ยังจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสดีในการร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การขับเคลื่อนและงานวิชาการด้านสุขภาพจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงการออกแบบเวทีในการนำเสนอทางวิชาการและภาพรวมการประชุมจะเน้นให้ความสำคัญกับการสะท้อนแนวคิดกิจกรรมทางกายในบริบทประเทศอาเซียน
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบายเพิ่มเติมว่า “สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1. เปิดโอกาสให้ประเทศไทยเข้าสู่เวทีระดับโลกด้านนโยบายและด้านวิชาการเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ 2.ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการและการผลักดันนโยบายในระดับสากลที่กว้างขวางขึ้น 3.เป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านวิชาการและด้านนโยบายเรื่องการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพนำสู่การพัฒนาทิศทางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันของประชาชนเสริมจากการส่งเสริมเรื่องกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในประเทศไทย 4.มีเวทีระดับนานาชาติสำหรับนำเสนอผลงานวิชาการของคนไทยด้านการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพเพื่อกระตุ้นและผลักดันให้มีการผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น 5.เป็นการขยายบทบาทและศักยภาพของประเทศไทย หลังการที่ได้ร่วมลงนามในกฎบัตรโตรอนโตด้านการมีกิจกรรมทางกายเมื่อปี 2010 และ 6.เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทยในด้านการเป็นประเทศเป้าหมายของการการประชุมระดับนานาชาติและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน จากทั่วโลก จะทำให้เกิดรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่า 100 ล้านบาท
“สสส. มีภารกิจในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ มีรูปแบบการทำงานที่ต้องพัฒนาแก้ไขในเชิงระบบ ปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เช่นการที่จะส่งเสริมให้คนมาออกกำลังกายเพียงให้ความรู้ว่าการออกกำลังกายแล้วดีต่อสุขภาพคงไม่เพียงพอ ต้องไปดูเพิ่มว่ามีพื้นที่ให้ออกกำลังกายหรือสวน หรือเส้นทางเดินหรือปั่นจักรยานด้วยหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นน้ำมันหล่อลื่นในการประสานให้ทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมสุขภาพอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวทิ้งท้าย