HPV สาเหตุมะเร็งปากมดลูก รู้สิทธิ เช็คก่อน ป้องกันได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 1.2 แสนคนต่อปี เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของไทยตั้งแต่ 2542 จนถึงปัจจุบัน หรือในทุกๆ 1 ชั่วโมง มีคนไทยเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็ง 8 ราย
โดย 5 อันดับมะเร็งในผู้ชายไทย ได้แก่ อันดับ 1 มะเร็งตับและ ท่อน้ำดี ถัดมา คือ มะเร็งปอด มะเล็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตามลำดับ ขณะที่ 5 อันดับมะเร็งที่พบใน หญิงไทย ได้แก่ อันดับ 1 มะเร็งเต้านม ถัดมาคือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ พบมะเร็งปากมดลูก8พันคน/ปี
นางสาวเรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงาน โครงการรณรงค์ Thailand HPV Cervical Cancer Free #เอชพีวีไม่รู้ไม่ได้แล้ว ซึ่งจัดโดย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ แห่งประเทศไทย และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ว่า แม้ในปัจจุบัน "มะเร็งปากมดลูก" จะลดลงมาเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิงไทย แต่ก็ยังมีตัวเลขผู้ป่วยและ ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ในแต่ละปี มีผู้หญิงไทย ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ราว 8 พันคน ในจำนวนนี้ มียอดการเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 รวมถึงค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก โดยรวมประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อ "เอชพีวี" (HPV : Human papilloma Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศ และทวารหนัก ผู้หญิง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก ขณะที่ผู้ชาย สามารถก่อโรคมะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ และมะเร็งทวารหนัก ติดเชื้อ HPV จากการสัมผัส
ทั้งนี้ เชื้อเอสพีวี แบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ HPV 6 และ 11 สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ สาเหตุ 90% ของหูดหงอนไก่ และ HPV 16 และ 18 สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก สาเหตุ 70% ของมะเร็งปากมดลูก และมีพัฒนาเป็นมะเร็ง ปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ HPV ถึง 35 เท่า สำหรับการติดเชื้อ HPV ที่พบบ่อย คือการสัมผัสทางผิวหนัง เพศสัมพันธ์จึงเป็น สาเหตุสำคัญทำให้ติดเชื้อ HPV บริเวณ ปากมดลูก และอวัยวะเพศส่วนอื่นๆ รวมทั้งทวารหนัก ซึ่ง 80% ของผู้หญิงเคยมีเชื้อหรือกำลังมีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ถ้าร่างกายแข็งแรง เชื้อจะถูกกำจัดไปได้เอง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ การติดเชื้อดังกล่าว อาจพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
พล.อ.ท.นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 100 ราย จะตรวจพบเชื้อ HPV เกือบทุกราย (ร้อยละ 99) แนวทางการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงทำได้โดย
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น การมีคู่นอนคนเดียว จะลดโอกาสรับเชื้อ HPV ได้
2.การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลเกือบ 100% แล้ว แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะติดไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์อื่นๆ
3. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างเป็นระบบ โดยในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2545 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว ด้วยวิธีตรวจ pap smear และ VIA หรือตรวจด้วยน้ำส้มสายชู ซึ่งทำให้ปัจจุบันอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกเริ่มลดลง
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ในเด็กนักเรียนหญิงชั้นป.5 หรือ อายุตั้งแต่ 9-15 ปี เพื่อเป็นการป้องกัน มะเร็งปากมดลูกปีละ 4 แสนคน เพื่อลด อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก รวมถึง สปสช. ดำเนินโครงการคัดกรองมะเร็ง ปากมดลูกหญิงไทยอายุ 30-60 ปี ตั้งแต่ ปี 2548 ด้วยวิธี "VAI" สามารถรับการ ตรวจคัดกรองได้ 1 ครั้งในทุก 5 ปี ซึ่งในกรณีที่ผู้มีผลตรวจแปปสเมียร์ ผิดปกติ จะได้รับการตรวจวินิจฉัย เพิ่มเติมหรือส่งไปรักษาทุกราย
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น สปสช. จึงเพิ่มสิทธิการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA test ให้แก่คนไทยทุกคน ทุกสิทธิ สำหรับหญิงไทยอายุระหว่าง 30-60 ปี ในปี 2563 นี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยหน่วยบริการที่มีความพร้อมในการเริ่มนำร่องในปี 2563 ทั้งหมด 24 จังหวัดทุกเขต ทั่วประเทศ เช่นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศูนย์ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในมี.ค.2563 เป็นต้นไปและจะมีการขยายผลให้ครอบคลุม ทั่วประเทศได้ก่อนปี 2565
ด้าน ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร อาจารย์คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่นำร่องวิจัยเรื่อง HPV ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 5,000 คน กล่าวว่า ในปี 2554 ขณะนั้นการตรวจ HPV DNA Test ข้อมูลการติดเชื้อ HPV ในไทยพบว่ามีราว 6% ประชาชนควรคัดกรอง เพราะกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ให้บริการแล้ว