Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3

ที่มา : ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


สสส.จับมือพันธมิตร Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3 สร้างต้นแบบ Young Blood ในกระบวนการยุติธรรม 


สสส.สนับสนุนพันธมิตร มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, กรมราชทัณฑ์ 3 ปี 16 ล้านบาท ระดมแนวคิด Healthy Prisons สร้างชุมชนแห่งความห่วงใย ผู้ต้องขังต้องคำพิพากษาให้จำคุกเฉือนหัวใจ ดร.ประกาศิต คีย์แมน สสส. ระดมหลายหน่วยงานสร้างต้นแบบนวัตกรรม Young Blood ในกระบวนการยุติธรรม รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ตีโจทย์คุกทั่วโลก ทำลายศักยภาพของคนเป็นล้านๆ ที่ถูกนำไปกักขังไว้ "สิ่งที่คนร่ำรวยได้รับคือการเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ส่วนสิ่งที่คนจนได้รับคือการถูกจำคุก" ผศ.ธีรวัลย์ ครูจิตอาสาสอนโยคะ ไขกุญแจเบื้องหลังความสำเร็จผู้ต้องขังหญิงโชว์ศักยภาพชิงแชมป์เอเชียครั้งที่ 5 กวาดเหรียญรางวัลจากเวทีโยคะระดับแอดวานซ์ถึงขั้นเทพ ต้องเป็นเด็กทำงานหนักที่มีกำลังดี แบกข้าวสารหรือแบกถุงปูนได้ครั้งละหลายๆ กก.เพื่อแลกกับสตางค์ยังชีพ


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


Healthy Prisons โครงการขับเคลื่อนนโยบายเรือนจำสุขภาวะครั้งที่ 3 เรื่อง "เรือนจำสุขภาวะ:จากพื้นที่การลงโทษสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย" จัดโดย สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ทึ่ 27 มี.ค. เวลา 08.45 น. ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม


รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ผู้จัดการประชุม กล่าวถึงแนวคิดเรือนจำสุขภาวะ หมายถึง เรือนจำที่มุ่งสร้างเสริมให้ผู้ต้องขังมีสุขภาวะซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน กฎระเบียบในเรือนจำต้องไม่เป็นเงื่อนไขที่ผลักดันหรือกีดกันผู้ต้องขังให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ส่งเสริมพัฒนากิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพลังสร้างสรรค์ความรู้และทักษะของผู้ต้องขังด้วย พร้อมกับเชิญชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับผู้ต้องขังที่เชือดเฉือนหัวใจ เมื่อผู้ต้องขังต้องคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดต้องโทษจำคุก เป็นการลงโทษที่ออกจากครอบครัว สังคมและชุมชน ขาดอิสรภาพที่เคยได้รับ ต้องเผชิญกับความทุกข์มากมาย


อายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ กล่าวเปิดงานว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีภาวะร่างกายแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย นโยบายปรับปรุงตามงบประมาณให้เกิดการปฏิบัติอย่างดีขึ้น ทั้งนี้ สสส. ให้ทุนสนับสนุนสร้างเรือนจำต้นแบบที่มีสุขภาวะสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ใช้งบประมาณ 16 ล้านบาท ภายใน 3 ปี สำหรับโครงการประสานและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำหญิงราชบุรีและเรือนจำหญิงอุดรธานีเป็นเรือนจำนำร่องตามที่ สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่นำเสนอโครงการ โดยมีภาคี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ภาคียุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ก่อนที่ผู้ต้องขังจะถูกปล่อยตัว กระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายองค์กรอิสระ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)


งานของ สสส. ทำงานคู่ขนานกับส่วนราชการตรงกับยุทธศาสตร์อีกชุดหนึ่งของหน่วยงานกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กรมคุมประพฤติ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมีการยกระดับตัวเรือนจำขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการส่งมอบงานในปีที่ 5 การรวมพลังสร้างโอกาสถึงสุขภาวะในเรือนจำมีความเป็นไปได้สูงขึ้นด้วย "เราต้องการสร้างต้นแบบนวัตกรรม Young Blood หลายภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรมทำพื้นที่นำร่อง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กต้องการสร้างหลักสูตรผู้นำรุ่นใหม่ NGO ภาคประชาสังคมเข้าร่วม 1 เดือน 3 วัน และต่อเนื่อง 6 เดือน จะเปิดสอนได้ในปี 2561" ดร.ประกาศิต กล่าว


รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่า คุกทั่วโลกได้ทำลายศักยภาพของคนเป็นล้านๆ ที่ถูกนำไปกักขังไว้ คุกเป็นโรงเรียนสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการประกอบอาชญากรรม คนที่ออกไปจากคุกต้องเผชิญกับความยากลำบาก เมื่อต้องมาติดคุกถูกตัดขาดจากครอบครัวและเครือญาติ เข้ามาอยู่ในคุกทำให้ขาดรายได้และครอบครัวต้องไปเป็นหนี้สิน เรือนจำสามารถสลายตัวตนของผู้ต้องขังด้วยการทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกต่ำต้อย อับอาย ไร้ศักดิ์ศรี นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในเรือนจำ การตรวจค้นตัวอย่างละเอียด การยึดทรัพย์ที่ติดตัวมา การให้ใส่ชุดสำหรับผู้ต้องขัง การถ่ายรูป การพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้ผู้เข้ามาสู่เรือนจำตระหนักถึงความเป็นผู้ไร้อำนาจ เรือนจำมุ่งใช้อำนาจแห่งระเบียบวินัยเป็นเครื่องมือในการปกครองและดูแลให้ผู้ต้องขังอยู่ในความสงบเรียบร้อย ทั้งเชื่อว่าจะเป็นการฟื้นฟูผู้ต้องขังด้วย


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


ผู้ต้องขังหญิงจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้อำนาจ และไร้ตัวตน เป็นเพียง "สิ่งมีชีวิตที่ถูกต้อนให้เดินไปตามเส้นทางที่ผู้คุมกำหนดให้เดิน" สอดคล้องกับสภาวะที่ ฟูโกต์ มองว่า เรือนจำได้ควบคุมผู้ต้องขังในระดับของจิตวิญญาณ ดังนั้นกิจกรรมที่ไม่สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับของจิตวิญญาณจึงยากที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการมองตนเองของผู้ต้องขังแนวคิดการปฏิรูปเรือนจำจากสถาบันการลงโทษสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย ดังนั้นการฝึกโยคะในเรือนจำจึงมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถควบคุมจิตใจและร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุล การฝึกโยคะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพที่ดี มีจิตใจที่สงบ มีกำลังใจและมีพลังชีวิต สามารถใช้ชีวิตในเรือนจำได้อย่างมีคุณภาพ มีศูนย์กลาง HUB ฝึกครูโยคะที่เรือนจำกลางราชบุรี


ด้วยเทคโนโลยีแห่งตัวตนจากร่างกายที่สยบยอมสู่การดูแลตนเอง การฝึกโยคะทำให้ผู้ต้องขังตระหนักว่าตนเองสามารถจัดการให้ร่างกายเป็นอย่างที่ต้องการได้ การเคลื่อนไหว การหายใจ และท่าต่างๆ ของโยคะช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่น กล้ามเนื้อแข็งแรง เลือดไหลเวียนได้ดี ช่วยให้หายจากอาการที่ทำให้เกิดความไม่สบาย การปวดเมื่อย การนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ผู้ที่มีอาการของโรคเรื้อรัง คามดันสูง เบาหวาน ไมเกรน รู้สึกได้ว่าร่างกายเริ่มปกติ ไม่มีโรคภัยรบกวน จิตใจสงบเยือกเย็น การฝึกโยคะได้เปิดพื้นที่ให้คนตระหนักถึงความเป็นไปได้ในอันที่จะดูแลตนเอง ไม่ปล่อยตัวเองไปตามยถากรรม


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


อาคารราชอารีย์เป็นอาคารอเนกประสงค์ซึ่งเป็นอาคารเปิดโล่งมีขนาดกว้างเพียงพอสำหรับผู้ฝึกโยคะจำนวนมาก รอบบริเวณอาคารมีต้นไม้ให้ความร่มรื่น กรมราชทัณฑ์ สนับสนุน ให้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ส่งผู้ต้องขังมาฝึกเป็น ครูโยคะที่เรือนจำกลางราชบุรี โดยมี ครูโยคะชาวไทย ชาวอินเดีย และ ผู้ต้องขังซึ่งเป็นครูโยคะ ที่ เรือนจำกลางราชบุรี เป็นผู้สอนและดูแลการฝึกอย่างใกล้ชิด


รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอฐานคิดและภาคปฏิบัติการสู่การสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยในเรือนจำ คำกล่าวที่ว่า "สิ่งที่คนร่ำรวยได้รับคือการเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ส่วนสิ่งที่คนจนได้รับคือการถูกจำคุก" The Rich get richer, The poor get prison :Reiman 1979  สำหรับสังคมไทย คนยากจนมีแนวโน้มจะเข้าสู่เส้นทางของการประกอบอาชญากรรมมากกว่าคนร่ำรวย อัตราการประกอบอาชญากรรมในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคม จะสูงกว่าสังคมที่มีความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะคนยากจนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผลักดันให้ต้องกระทำผิดเพื่อความอยู่รอด หรือคนที่ยากจนมีแนวโน้มจะมีความรู้ที่จำกัด และถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนที่ร่ำรวย ทำให้ต้องเข้าสู่เส้นทางการประกอบอาชญากรรมโดยความไม่รู้หรือโดยไม่มีทางเลือก


คนที่ถูกศาลสั่งให้จำคุกอยู่ในเรือนจำสะท้อนว่าจำเลยมีความผิดจริงจึงถูกพิพากษาจำคุก คำพูดที่ติดหูถึงคำพิพากษาของศาล จำเลยมีความผิด จำคุกกี่ปีเป็นประโยคข้อกฎหมาย การจำคุกเป็นภาคปฏิบัติ การทำให้ความยุติธรรมทางอาญาเป็นมาตรการลงโทษที่ไม่สามารถมีข้อขัดแย้งได้ ไม่ได้รับการดูแลตัดสินจากสังคม สาธารณชน เพิกเฉยต่อสภาพความเป็นอยู่ เมื่อทำความผิดต้องถูกลงโทษเพื่อให้เกิดความหลาบจำ ผู้ต้องขังเมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำมีข้อจำกัดในการเข้าถึงความเป็นธรรมในสังคม สวัสดิการสังคม


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


ระบบยุติธรรมทางอาญาในส่วนการออกกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีส่วนทำให้คนยากจน คนชายขอบ หรือคนด้อยโอกาสต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย จากการศึกษาในประเทศสหรัฐ การดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมมีอคติต่อคนกลุ่มน้อย คนผิวสี หรือคนที่อพยพมาจากอเมริกากลางหรืออเมริกาใต้ พุ่งเป้าไปที่การจับกุมและตั้งข้อหากับคนกลุ่มนี้ การวินิจฉัยคดีมีข้อมูลว่ากลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาสจะถูกอคติในเชิงวัฒนธรรมและสังคมตัดสินใจว่ากระทำผิดจริง ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศพบว่าคนยากจน คนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาสที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มจะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในการต่อสู้คดี ตั้งแต่ขั้นตอนการสอบสวน การส่งฟ้อง การสืบพยาน การพิจารณาคดี การขาดแคลนหลักทรัพย์เพื่อการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่สามารถเข้าถึงทนายความที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ ขาดคำแนะนำและขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ถึงกับมีผู้กล่าวว่า การควบคุมอาชญากรรมมีผลกระทบต่อกลุ่มคนที่สังคมประสบความล้มเหลวในการดูแลสวัสดิการสังคมโดยเฉพาะคนยากจน เท่ากับว่าเราลงโทษคนซึ่งชีวิตของพวกเขาถูกลงโทษโดยระบบสังคมอยู่แล้ว


รศ.ดร.นภาภรณ์ นำเสนอเป็นภาพถ่ายบรรยากาศภายในเรือนจำ เมื่อความยุติธรรมทางอาญาปรากฏความเป็นธรรมทางสังคมอาจถูกกดทับ เสี้ยววินาทีเดียวที่ได้เห็นท้องฟ้าก่อนเดินเข้าสู่เรือนนอน ในเรือนนอนที่เดียวที่แออัดด้วยผู้คนแต่กลับเงียบเหงา ในล็อกเกอร์เล็กๆ คือสมบัติส่วนตัว คือทั้งหมดที่มีทั้งหมดในชีวิตของเขาในเรือนจำ เราหวังว่าเรือนจำนี้จะทำให้ผู้ต้องขังผ่อนคลายจากแรงกดดันภาคปฏิบัติการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


งานเสร็จเพราะมิใช่เราคนเดียว ดังนั้นการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เหมือนอยู่ในหมู่บ้านของเราเอง เรามีอิสรภาพ แม้จะอยู่ในคุก มีสิ่งดีๆ เข้ามามากมาย ขึ้นอยู่ว่ารับมันได้แค่ไหน ไม่เคยคิดว่าจะมีสิ่งดีๆ ในคุก อย่างชุมชนโยคะ งานวิจัยระบบเรือนจำควบคุมผู้ต้องขังในเรื่องจิตวิญญาณ ต้องตรวจตราอย่างเข้มข้นว่าทำความผิดเมื่อไหร่ การกำกับดูแลให้คนทำตามโดยไม่ขัดขืนบังคับให้เชื่อฟัง ตัวระบบถูกสร้างให้เป็นเช่นนี้ ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ การใช้อำนาจบังคับอย่างเข้มข้นทำให้ผู้ต้องขังเกิดการสยบยอม ยิ่งอยู่ในสภาวะที่ไร้อำนาจ คนอยู่นานๆ จะปล่อยชีวิตไม่ดูแลตัวเอง ไร้ความหวัง เรือนจำสร้างวัฒนธรรมความเงียบ ไม่บอกถึงความทุกข์ยากลำบากให้ผู้คุมได้รับทราบ ด้วยไม่แน่ใจว่าบอกไปแล้วผลจะดีขึ้นหรือเลวลง เราคาดหวังว่าผู้ต้องขังได้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า


Healthy Prisons สู่ชุมชนแห่งความห่วงใยครั้งที่ 3  thaihealth


"ทุกแห่งหนต้องทำตามกฎเกณฑ์ เราต้องอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม คิดนอกกรอบนอกกล่องไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ในกล่อง พลังสร้างสรรค์ก็ไม่มี" เริ่มต้นที่เรือนจำราชบุรี การทำงานสร้างสรรค์ทำให้ผู้ต้องขังหญิงตระหนักในพลังความสามารถของตนเอง การถักโครเชต์ ทำผ้าบาติก พับกระดาษออริกามิ การทำเทียนหอมที่บ้านเทียนหอม สวนผึ้งหวาน ราชบุรี เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ช่วยกันคิด อิสระที่จะคิด สนุกกับการทำงานทุกขั้นตอน อาจารย์ซิกคอยให้คำแนะนำสอนการถักไหมพรม ยิ่งทำไปยิ่งเกิดแรงบันดาลใจ การทำงานที่ผ่อนคลาย เกิดพลังสร้างสรรค์ สีสันของผ้าบาติก สีสันของชีวิตหลังกำแพงสูง เทียนหอม ผลงานของผู้ต้องขังหญิงเรือนจำกลางราชบุรี ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นผลงานของผู้ต้องขังหญิงเรือนจำกลางอุดรธานี ทำสวนผักและปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่ว่าง


พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จที่เรือนจำอุดรธานี ก็ทรงนำผลงานของผู้ต้องขังหญิงไปจัดแสดงด้วย ทั้งยังประทานพันธุ์ผักให้แก่แดนหญิงเรือนจำกลางอุดรธานี ทีมปลูกผักทำป้ายชื่อสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในเรือนจำมีบรรยากาศแห้งแล้ง ผบ.เรือนจำอุดรฯ ใช้ความพยายามให้ผู้ต้องขังช่วยกันปลูกผัก คุกกลายเป็นสวนผัก ทุกคนดีใจมากที่มีส่วนร่วมในการปลูกผัก มีคำพูดของผู้ต้องขังว่าไม่ได้กลิ่นหอมของผักมาร่วมสิบปี ได้ปลูกผักรู้สึกคิดถึงบ้าน เกิดเป็นความละเอียดอ่อนขึ้นภายในจิตใจ การรับประทานผักเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ของขวัญสุดพิเศษสำหรับผู้มาเยือนเรือนจำ การได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารกลางวันในสวนผัก พักผ่อนในสวนผักที่เรือนจำกลางราชบุรี อบรมการทำยาหม่องในสวนสมุนไพร การดูแลสุขภาพในเรือนจำ โรงพยาบาล หน่วยแพทย์ ปรึกษาแพทย์ทางไกล พัฒนาคลินิกสุขภาพในเรือนจำ สาธารณสุขมูลฐานในเรือนจำ การอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขโดยทีมสหวิชาชีพ ณ เรือนจำกลางราชบุรี การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้การวัดความดัน:วิทยากรจากคณะสหเวชศาสตร์ การทำแผลที่ถูกต้อง การวัดน้ำตาลในเลือด หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่:เรือนจำกลางราชบุรี มศว ศรีนครินทรวิโรฒ เรือนจำกลางอุดรธานีปรับเปลี่ยนห้องเด็กเป็นห้องผ่าตัดฟันคุด ทำฟันปลอมเสร็จภายใน 2 วัน


ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย นำเสนอว่า โยคะในเรือนจำ 5 ปีของภาคปฏิบัติการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย ทำอย่างไรจึงจะสร้างอิสรภาพจากภายใน แม้ร่างกายจะถูกจองจำ ในปี พ.ศ.2553 จุดเริ่มต้นของโครงการ "โยคะในเรือนจำ" ณ เรือนจำกลางราชบุรี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปสู่การปฏิบัติ สุขภาพเป็นเรื่องร่างกาย ความเยือกเย็นเป็นเรื่องของจิตใจ ความสงบเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เทคโนโลยีแห่งตัวตนหมายถึงชุดของเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้ปัจเจกบุคคลสามารถควบคุมร่างกาย ความคิดและการกระทำของตัวเองได้อย่างดี


"ในช่วงแรกของการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักโยคะ โดยส่วนตัวเป็นคนโลดโผนบ้าบิ่น ชอบความท้าทาย ท่าไหนที่ว่ายากก็จะนำมาสอนและหลอกล่อเด็กผู้ต้องขัง เราต้องยอมรับความฉลาด ความแข็งแกร่งและความเป็นคนของเขา คนจะสงสัยว่าทำไม อ.ธีรวัลย์กินเก่งจัง เมื่อไปสอนเด็กจะใส่ผลไม้ในกระเป๋ากางเกง เรากินร่วมกับเขาแบ่งปันความเจ็บปวดร่วมกันได้ เราต้องไม่ทำตัวเป็นวิทยากร เด็กเหล่านี้เล่นโยคะแอดวานซ์ถึงขั้นเทพ เมื่อเขายอมรับเราเขาจะทำท่าโยคะยากๆ ตามที่เราแนะนำได้ เราจ้างครูอินเดียมาประกบสอนท่ายากๆ ครูแต่ละคนก็มีท่าเฉพาะตัว เราก็จดจำมาสอนเด็กๆ การเล่นโยคะสิ่งที่ต้องพบก็คือเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เอ็นขาดประจำ แต่ถึงกระนั้นหมอก็จะใช้คำพูดว่าเล่นโยคะยังไงก็ไม่ตาย แต่มีเรื่องแปลกคือเด็กมหาสารคามหงายหลังตึงระหว่างการเล่นโยคะท่าไหว้พระอาทิตย์ หมอก็ถามว่าเขามาจากอีสานใช่ไหม คนอีสานจะขาดวิตามินบี 1 คือ ออกกำลังกายเหงื่อออกแล้วจะเป็นลม เป็นภาคอีสานที่ไม่ใช่อุดรธานี เราก็นำท่ายาก Hand Stand ที่ส่วนตัวก็ยังเล่นไม่ได้มาสอนเด็กเหล่านี้ บอกได้เลยว่าไฮโซมีสตางค์เล่นท่าอย่างนี้ไม่ได้ อึดไม่พอ ต้องเป็นเด็กที่มีกำลังดี แบกข้าวสารหรือแบกถุงปูนได้ครั้งละหลายๆ กก. ทำงานหนักเพื่อแลกกับสตางค์ ถึงแม้ว่าเด็กจะฝึกตั้งแต่เช้าจรดเย็นก็ยังขอร้องให้ครูอยู่กับเขาจนถึงค่ำๆ เพื่อจะได้สิทธิขึ้นเรือนนอนทีหลัง ครูมาสอนโยคะในเรือนจำตั้งแต่เช้าตรู่จรดค่ำจนเกือบจะเป็นเจ้าหน้าที่ในเรือนจำแล้ว การฝึกโยคะทุกวันจะทำให้กล้ามเนื้ออยู่ตัว กำลังจะเกิดขึ้นเอง บางคนเป็นเบาหวานเมื่อฝึกโยคะมีวินัยจะทำให้ร่างกายแข็งแรง" ผศ.ธีรวัลย์ กล่าวถึงการทำงาน


การสร้างศูนย์กลาง Hub ของการฝึกโยคะ ณ เรือนจำกลางราชบุรี Certificate of Participation ได้รับใบรับรองประกาศนียบัตรจาก Mr. Sanyasi Yogeshwa ผู้อำนวยการสถาบัน IIYSAR จากมหาวิทยาลัย UTKAL of Culture ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย"ถึงหนูเองจะเกเร ทำให้ครอบครัวต้องเสียชื่อเสียง แต่ก็เหมือนมีเกียรติยศขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและนี่ก็เป็นครั้งแรกของชีวิตที่ได้มีโอกาสทำแบบนี้ พ่อแม่ต้องภูมิใจในตัวหนูมาก" จากผู้ต้องขังสู่การเป็นครูโยคะ


"พี่ๆ ครูฝึกของเราแต่ละคนทุ่มเทมาก เอาใจใส่และใส่ใจ ทุกท่าทุกจังหวะ 1 เดือนกับอีก 15 วัน พี่ๆ ครูฝึกคอยเป็นกำลังใจให้ดีมาก ของใช้ที่จำเป็นหมด เสื้อผ้าไม่มีใช้ ขนมของกิน พี่ๆ ครูฝึกก็คอยหาให้ คอยช่วยเหลือ จากที่รู้สึกท้อก็กลับมีกำลังใจ"


"การฝึกโยคะได้เปิดพื้นที่ให้คนตระหนักถึงความเป็นไปได้ในอันที่จะดูแลตนเอง ไม่ปล่อยตัวเองไปตามยถากรรม ช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่น กล้ามเนื้อแข็งแรง เลือดไหลเวียนได้ดี"

Shares:
QR Code :
QR Code