Happy8 สร้างสุขภาวะกำลังพล
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
Happy 8 สร้างสุขภาวะในเลขาธิการสภาผู้แทนฯ กำลังพลกองทัพไทย 4.4 แสนคนน้ำหนักเกิน 30%
MOU สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สสส. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ฯ ให้เป็นองค์กรแห่งความสุข นำ Happy 8 Pyramid สร้างสุขภาวะในที่ทำงาน รักองค์กร-เพื่อนร่วมงาน พนักงานเจนเอ็กซ์เจนวายจำนวนสูงสุดในสภา กำลังพลกองทัพไทย 4.4 แสนคน หัวหน้าครอบครัวเครียดจากเงินไม่พอใช้ หลายหน่วยงานน้ำหนักเกินถึง 30% มีพฤติกรรมชอบดื่มน้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดื่มน้ำเปล่า หากอยากหวานใช้หญ้าหวานเพื่อสุขภาพ สร้างวินัยในการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำงานบ้าน ล้างรถด้วยตัวเอง
ในงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการพัฒนาระบบสุขภาพในองค์กร:การสร้างเสริมสุขภาพบุคลากรในวงงานรัฐสภา ณ ห้องประชุม 213-216 อาคารรัฐสภา 2 ชั้น 2 บรรยากาศคึกคัก ผู้ร่วมงานทุกคนจะได้รับโคมกระดาษพับได้ Happy 8 PYRAMID สุขภาวะ:การรักษาระดับคุณภาพชีวิตแต่ละด้านให้สมดุลและยืดหยุ่นได้ในแต่ละคนพร้อมด้วยผ้าขนหนูปักชื่อ สสส.รัฐสภา-สัญลักษณ์พระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่โรงอาหารของรัฐสภา คนไทยไร้พุง, สสส., กทม. สนับสนุนให้มีป้ายโปสเตอร์ขนาดใหญ่ติดเต็มรอบห้องเพื่อสร้างบรรยากาศเรื่องรักสุขภาพ คิดจะลดพุงดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม แค่ขยับ เท่ากับออกกำลังกายแล้ว ลดกินอาหารมันๆ ป้องกันโรคอ้วน กินกล้วยหอมให้คลายเครียดและเพิ่มพลัง ส้มตำ เมนูบ้านๆ คุณค่าเพียบ อยากสมองดีต้องกินปลา เทคนิคกำจัดหน้าท้อง ทานผลไม้แทนขนมหวาน พักผ่อนให้เพียงพอ ความจำดี ภูมิคุ้มกันเพิ่ม
สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การพัฒนาสุขภาพชีวิตการทำงานในหน่วยงานรัฐสภาไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การสร้างสมดุลชีวิตในการทำงานด้วยยุทธศาสตร์เพื่อให้สำนักเลขาธิการฯ ตระหนักรู้ เข้าใจคุณภาพชีวิต ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ตอบสนองความพึงพอใจในการให้บริการให้เป็นองค์กรที่มีความสุข สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจบุคลากรในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีบุคลากรทั้งสิ้น 2,240 คน กลุ่มเจนเอ็กซ์มีสัดส่วนสูงสุด 59% เจนวาย 24% เบบี้บูม 17% ดังนั้นต้องทำให้กลุ่มเจนเอ็กซ์และเจนวายมีความสุขในการทำงาน มีความรักความผูกพันในองค์กร ทั้งนี้ผลจากการสำรวจของ สถาบันวิจัยและสังคม จุฬาลงกรณ์ฯ สถานการณ์ความสุขคนทำงานในเมืองไทยช่วงปี 2555-2557 จะเห็นได้ว่ากลุ่มเจนวายพร้อมเปลี่ยนแปลงงานสูงสุด 80% หากมีโอกาส
ผลการสำรวจคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปี 2558 พบว่า การประเมินสุขภาพตนเองอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่รับประทานอาหารเช้า พักผ่อนเพียงพอและอัตราการสูบบุหรี่ในเกณฑ์น้อย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ 52% มีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง ชีวิตการทำงานมีระดับความเครียดจากการทำงานบทบาทในการวางแผนงานที่ทำ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง ความรักในองค์กรพบว่าอยู่ในระดับปานกลางจนถึงดี ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในผลตอบแทน ส่วนภาระหนี้สินเป็นอันดับ 1 คือ หนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัย 48% การผ่อนชำระหนี้สินสินค้าหรือบริการ 37% ยานพาหนะ 32% ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออมนั้นส่วนใหญ่มีการออมแต่ขาดการวางแผนถึง 51% มีเพียง 28% ที่วางแผนการออม และ 15% ไม่มีการออม การทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรแห่งความสุขจึงเป็นโจทย์ท้าทายการทำงาน ขออวยพรให้มีร่างกายสุขภาพสมบูรณ์ มีบุคลากรร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนงานสู่ภารกิจต่อไป
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ผู้ที่ทำงานสนับสนุนอยู่เบื้องหลังนักการเมืองเป็นงานสำคัญมาก โดยเฉพาะหน่วยงานเลขาธิการรัฐสภา สภาผู้แทนเป็นองค์กรสำคัญของประเทศถ้างานของสภาผู้แทนฯ ทำได้สำเร็จบุคลากรมีความแข็งแรงก็จะมีความสุขเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่น คนที่จะมีความสุขได้นั้นต้องจัดแบ่งเวลาออกกำลังกายเพื่อร่างกายแข็งแรง ในระหว่างการทำงานสามารถหมุนข้อเท้าจะทำให้เลือดไม่คั่ง การที่เลขาธิการรัฐสภามีวิสัยทัศน์ที่ดีเรื่องสุขภาพ มีจิตใจที่ดีงามเป็นบุญกุศล สนับสนุนให้ข้าราชการและพนักงานออกกำลังกาย จะทำให้โครงการคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
เมื่อพิจารณาถึง 100 องค์กรหลากสุข ที่ สสส.ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น พบว่า มีคุณลักษณะคล้ายกัน 4 เรื่อง คือ 1.ใส่ใจปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพของบุคลากรอย่างเหมาะสม ทั้งค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความมั่นคงในชีวิต 2.บุคลากรมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานหรือเป็น สมาชิกขององค์กร 3.บรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรเน้นความเป็นครอบครัวเดียวกัน ส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นทีม มีสายสัมพันธ์ภายในอย่างใกล้ชิด และ 4.มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจหรือมีธรรมาภิบาล ผู้บริหารเน้นคุณค่าความมีจริยธรรมทางธุรกิจ ไม่เอาเปรียบพนักงานและลูกค้า เคารพและใส่ใจต่อชุมชนรอบข้าง
การพัฒนาให้เกิดองค์กรแห่งความสุขไม่ได้ดูสุขภาพดีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ผ่อนคลาย ความสุขจากการบริหารการเงินเป็น ครอบครัวมีความสุข สสส.สนับสนุนองค์ความรู้และระบบการจัดการสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข มีโปรแกรมวัดสุขภาพชีวิตและความสุขของคนทำงานที่ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาหลากหลายเครื่องมือที่นำไปใช้ได้ เครื่องมือที่เรียกว่า Cu-QWL พัฒนาโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เครื่องมือแฮปปี้โนมิเตอร์ พัฒนาโดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สสส.และโปรแกรมการบริหารจัดการความสุข ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้นำเครื่องมือนี้ไปใช้ส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขมีความสุขในการทำงาน เมื่อเจ้าหน้าที่มีความสุขในการทำงานจะส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนด้านการรักษาพยาบาล ลดการขาดงาน การลาออก และมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปมีผล กระทบต่อคนทำงาน องค์กร สังคมทั้งความเสี่ยงทางสุขภาพ ความเครียด ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่สูงขึ้น พนักงานผูกพันต่อองค์การลดลงและมีผลิตงานคุณภาพต่ำลง แนวคิดดูแลคุณภาพชีวิตคนทำงานปรับเปลี่ยนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการทำงาน ภาครัฐของไทยมีคนทำงานถึง 3 ล้านคน ก็ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจและการบริหารจัดการในหลายหน่วยงาน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจาก สสส. ได้ประยุกต์ใช้ Happy 8 เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเลือกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรภาครัฐ ดำเนินการในภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ 50 หน่วยงาน การทำให้คุณภาพชีวิตการทำงานในระบบราชการที่มีทิศทางชัดเจนสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของส่วนราชการและความต้องการของบุคลากร ต้องมีการศึกษาลักษณะเฉพาะของคุณภาพชีวิตการทำงานในภาครัฐ มีกลุ่มนักสร้างสุของค์กรที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร มีการสื่อสารให้เกิดการรับรู้ มีโครงสร้างองค์กรภาครัฐที่เอื้อต่อสุขภาพ สร้างความรู้และจัดการความรู้ใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลาย และมีการแลกเปลี่ยนความรู้
พลโทแพทย์หญิงกมลพร สวนสมจิตร ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตกำลังพลกองทัพไทย หรือนักรบปกป้องชาติบ้านเมืองไทย กล่าวว่า หน่วยทหาร 4.4 แสนคน รวมสมาชิกในครอบครัวอีก 8 แสนคน เมื่อปี 2546 จัดกิจกรรมเต้นแอโรบิก โยคะ ขี่จักรยาน ในขณะที่เหล่านายทหารบอกว่าอยู่ในภาวะเครียดเรื่องผ่อนหนี้สิน แล้วนายยังให้มาเต้นแอโรบิก การสร้างเสริมคุณภาพชีวิต สร้างเสริมสุขภาพเป็นองค์รวมคือเรื่องเดียวกัน ทหารบอกว่าก็ผมไม่ได้ป่วยจะมาสร้างเสริมสุขภาพกันทำไม ก็ได้รับคำตอบว่าทำอย่างไรให้คนเรามีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความสุข มีตัวชี้วัดเมื่อทำงานไปได้ 2 ปี การเจ็บป่วยลดลง การเสียชีวิตลดลง ปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ เหล้า อุบัติเหตุควรลดลง เราต้องตรวจสอบสุขภาพกาย จิตใจที่มีความเครียดจากการทำงาน เครียดจากปัญหามีเงินไม่พอใช้ ทหารหลายหน่วยประสบโรคเครียดเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องหมอกควัน การเผาป่า มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขยะ น้ำเน่าเสีย ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ในที่ทำงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกจ้างหน่วยงานใดมีความสัมพันธ์ที่ดีก็จะมีความสุข การจัดกิจกรรมมีส่วนร่วมกี่เปอร์เซ็นต์พัฒนาปัญญา มีจริยธรรม ไม่เห็นแก่ตัว มีจิตอาสาทำประโยชน์ให้กับสังคม
การแบ่งงานให้มีสุขภาพที่ดี ใครอยู่ส่วนไหนช่วยกันทำงาน มีคณะกรรมการบริหารแผนมีตัวแทน 5 เครือข่ายของทหาร ตัวแทนสำนักงานแพทย์ฝ่ายกำลังพล ทรัพยากรบุคคล ปฏิบัติจริงได้มากน้อยเพียงไหน มีป้ายประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือน ติดตามประเมินผล จัดทำนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บังคับบัญชาให้ผู้รับผิดชอบโครงการทำต่อไปได้ เมื่อสำรวจพบว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ น้ำหนักเกินด้วยโรคอ้วน เยาวชนติดปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นแต่ละกลุ่ม ความสะอาดของที่ทำงานให้ทุกคนมีส่วนร่วม ตรวจสุขภาพประจำปี ให้โรงพยาบาลกองทัพแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มปกติสร้างสุขภาพป้องกันโรคก่อนป่วย กลุ่มเสี่ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มเป็นโรคต้องนำไปรักษา ด้วยการใช้ IT เข้ามาช่วย เมื่อเจาะลึกเข้าไปถึงสุขภาพจิต เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ต้องหาสาเหตุความเครียดให้พบ รักษาความลับเพื่อให้ความช่วยเหลือ
เมื่อตรวจสุขภาพน้ำหนักเกินเป็นโรคอ้วน 30% จากคนจำนวนแสนก็ถือว่าจำนวนเยอะ ทุกหน่วยงานต้องออกกำลังกาย มีการถอดบทเรียนวิเคราะห์รอบเอวเพิ่มขึ้นหรืออ้วนลงพุงต้องให้วิ่งขึ้นลงบันได เมื่อสำรวจเจาะลึกนายทหารหญิงยศพันโทสูง 153 ซม. น้ำหนัก 69 กก. มีพฤติกรรมชอบดื่มน้ำอัดลมแทนน้ำเปล่า ดื่มชาเย็น กาแฟเย็นในร้านกาแฟที่กิจการดีวันดีคืน ขยายใหญ่โตขึ้นเพราะมีนายทหารอุดหนุนกันเป็นจำนวนมาก เมื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดื่มน้ำเปล่า ปั่นจักรยาน ทำต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน น้ำหนักลดลงได้ 10 กก. พบว่าน้ำหนักลดลงเหลือ 59 กก.
กิจกรรมงานบ้าน กวาดบ้าน ล้างรถ ตัดหญ้า รดน้ำต้นไม้ เป็นการออกกำลังกายเต็มรูปแบบ จอดรถไกลจากที่ทำงานเพื่อจะได้ออกกำลังกายด้วยการเดิน ให้ขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ ให้ขี่จักรยาน ลีลาศเพื่อสุขภาพ จากเดิมที่ทำ 150 นาที/สัปดาห์ เพิ่มเวลาเป็น 300 นาที/สัปดาห์ เมื่อมีการออกกำลังกาย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ลดเนื้อสัตว์ หมู นม เนย น้ำตาล ให้รับประทานปลา ลดการดื่มน้ำอัดลม ชาเย็น กาแฟเย็น จะทำให้ลดน้ำตาลในเลือด สามารถลดน้ำหนักได้ 70% น้ำตาลเป็นตัวร้ายทำให้ผนังเลือดแต่เดิมเรียบจะขรุขระ ไขมันเกาะได้ ไขมันอุดตัน เกิดหลายโรคตามมา โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ตีบ ตัน ตับไตวาย ถ้าคนติดหวานให้เลือกใช้หญ้าหวานชงในน้ำ คนที่เส้นเลือดหัวใจตีบเมื่อใช้หญ้าหวานแล้วจะขยายเส้นเลือดหัวใจขึ้นได้อีก สามารถปลูกหญ้าหวานในกระถางเพื่อสุขภาพที่ดี
เราต้องหาบุคคลต้นแบบเพื่อลดบุหรี่ หมอเสนารักษ์เลิกบุหรี่ในหน่วยทหารได้โดยไม่ต้องใช้ยา ทำสัญญาว่าจะไม่สูบบุหรี่อีก ห้ามขายสุราในหน่วยทหารเพื่อป้องกันไม่ให้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ เพราะจากสถิตินั้นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 1 ของคนไทย เราต้องใช้กระบวนการลด ละ เลิก การจัดกิจกรรมขี่จักรยาน รดน้ำต้นไม้ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ให้มีการปลูกพืชผักปลอดสารพิษในบ้านตัวเอง เป็นการออกกำลังกาย เมื่อผลิตได้มากก็แบ่งปัน
อนึ่ง จีรพงศ์ วัฒนรัตน์ ที่ปรึกษากฎหมาย (ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา กล่าวว่า บุคลากรในรัฐสภา 80% เป็นนักกฎหมาย และยังมีจำนวนหนึ่งเป็นนักอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ทำงานเกี่ยวกับการใช้ภาษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีเอกสารการประชุมเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อาหรับ งานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ดังนั้นบุคลากรในรัฐสภาจึงมีความเครียดค่อนข้างสูง เพราะกฎหมายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นการออกแบบเพื่อสังคม หากร่างกฎหมายไม่รัดกุมเพียงพอจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมได้