Family Time สร้างสุขภาพจิตให้ลูก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


Family Time สร้างสุขภาพจิตให้ลูก thaihealth


แฟ้มภาพ


          เป้าหมายของพ่อแม่ทุกคนคือ การเลี้ยงดูให้เจ้าตัวน้อยสุขภาพดี ปรับตัวและมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข เราอาจอ่านตำราเลี้ยงลูกเป็นสิบๆ เล่ม เพื่อกลับมาพบว่าทั้งเราและลูกต่างก็ไม่ได้มีความสุขมากกว่าเดิม หนำซ้ำยังดูยิ่งห่างเหิน ช่องว่างของความไม่เข้าใจยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นเพราะว่า คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง "ความสำเร็จ" ในการเลี้ยงดูลูกมากเกินไป จนลืมไปว่าหัวใจสำคัญของการเลี้ยงดูชีวิตน้อยๆ นั้น อยู่ที่การใช้เวลาด้วยกันอย่างมีคุณภาพมากกว่า


          ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อคิดแก่พ่อแม่ยุคใหม่ว่า "การใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่สมัยนี้อาจหลงลืมไป เราอาจสรรหาของเล่นเสริมพัฒนาการที่ดีที่สุดให้ลูกได้สารพัด เปิด Youtube (ยูทูบ) ให้ลูกฝึกภาษาอังกฤษ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องสอนสักคำ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนเวลาคุณภาพที่พ่อแม่มีให้กับลูกได้เลย"


          คุณหมอระบุว่า "เวลาคุณภาพ คือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้เวลากับบุตรหลานอย่างเต็มที่ ให้พวกเขารู้สึกมีตัวตน และมีความสำคัญ บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักคิดว่าเด็กๆ เล่นเองได้ ไม่จำเป็นที่เราต้องให้เวลาอะไร แค่หาข้าวให้กิน อาบน้ำแต่งตัวให้ก็พอแล้ว แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังคงต้องพึ่งพิงพ่อแม่ผู้ปกครองในการดำรงชีวิต พวกเขาจำเป็นต้องรู้ว่า พวกเขามีความสำคัญ เพราะความรู้สึกนี้จะเป็นพื้นฐานของการเห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งจะทำให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข นอกจากนี้การใช้เวลาร่วมกันยังทำให้พ่อแม่ได้เรียนรู้พฤติกรรม จุดอ่อน จุดแข็งของลูก เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้อีกด้วย"


          สำหรับการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในครอบครัวนั้น ผศ.พญ.ปราณี ยังได้แนะนำต่อไปว่า กิจกรรมที่ครอบครัวใช้เวลาร่วมกันได้ เช่น ช่วยกันเตรียมอาหาร รับประทานอาหารพร้อมกัน พูดคุยมองหน้ากันจริงๆ แทนการมองหน้าจอโทรศัพท์ สอนการบ้านลูก เล่านิทานให้ลูกฟัง ออกไปเดินเล่นรอบๆ หมู่บ้านตอนเย็นๆ ด้วยกัน หรือในวันหยุดสุดสัปดาห์อาจมีสักวันหนึ่งที่ไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมได้


          "อีกสิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ เมื่อใช้เวลาร่วมกัน การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็น บ่อยครั้งเมื่อพ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกๆ ก็อดไม่ได้ที่จะตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ หรือคอยตามแก้สิ่งที่ลูกทำอยู่ตลอดเวลา แทนที่เด็กๆ จะรู้สึกว่าพวกเขาได้รับความรักความเข้าใจ มีความสำคัญ กลายเป็นพวกเขารู้สึกไม่มีค่า ทำอะไรก็ผิด อย่างนี้ถือว่าการใช้เวลาด้วยกันไม่เป็นผลสำเร็จ บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ควรวางใจให้นิ่ง และปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกเองบ้าง รับฟังสิ่งที่ลูกพูดจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพียงผ่านๆ หรือฟังเพื่อคอยจะสอนอยู่ตลอดเวลา จริงอยู่หน้าที่ของพ่อแม่คือการอบรมสั่งสอน แต่หากคุณไม่มีสายสัมพันธ์ที่ดีอันเกิดจากการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกันแล้ว สิ่งที่คุณสอนก็อาจไม่เข้าไปถึงใจของลูกได้เลย" พญ.ปราณีกล่าว.

Shares:
QR Code :
QR Code