Family – Friendly – Space สู่…ชีวิตวิถีใหม่ สร้างครอบครัวคุณภาพ
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
คำว่า "ครอบครัว" หลายคนอาจวาดฝันว่า "พ่อ-แม่-ลูก" ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ในความเป็นจริงสภาพความบีบคั้นทางสังคม เศรษฐกิจ อาจไม่เป็นดังหวัง เพราะต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ภาระ หน้าที่ สถานะทางการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้พ่อ-แม่ต้องไกลลูก ถูกเลี้ยงดูโดยปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติ ๆ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า.การจัดการพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว ควรเป็นแบบไหน และใครควรเป็นแกนนำหลักในการกำหนดทิศทาง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะครอบครัวที่ดีในสังคมไทย
เสียงสะท้อนต่าง ๆ ถูกถกประเด็นบนเวทีเสวนาสาธารณะ "สานพลังสังคมไทย สร้างครอบครัวคุณภาพ สู่.ชีวิตวิถีใหม่" เพื่อหาความหมายของคำว่า "ครอบครัว" ในยุคที่พ่อ-แม่ต้องออกเดินทางไกลไปทำงานต่างถิ่น มือถือเปรียบเสมือนอวัยวะในร่างกายที่ขาดไม่ได้ และเมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยว่า ควรสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับครอบครัวอย่างไร ให้เด็กเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพ
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "การจัดการพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว" ควรมีต้นแบบจากคำว่า Family – Friendly – Space คือทำให้ทุกพื้นที่เป็นมิตรกับครอบครัว สร้างเสริมการเรียนรู้ได้ทุกมิติอย่างมีคุณภาพ บ้านต้องอบอุ่น โรงเรียนต้องมีความรัก และสถานที่ทำงานต้องทำให้พ่อ-แม่คิดว่าการมีลูกไม่เป็นอุปสรรค มีพื้นที่ให้พ่อ-แม่ได้อยู่ กับลูกอย่างสบายใจ
เมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" แบบ 100% พบอัตราการเกิดน้อยลง สวนทางกับความตายที่มากขึ้น แต่กลับพบว่ามีเด็กจำนวนมากถูกเลี้ยงดูโดยปู่ ย่า ตา ยาย จากสถานการณ์ "แม่วัยใส" ท้องไม่พร้อม หรือพ่อ-แม่ต้องย้ายไปทำงานต่างถิ่นเพื่อหารายได้ประทังชีวิตที่สูงกว่าเดิม สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้มีการจุดประเด็นเรื่อง "การจัดการพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว" ขึ้นมา เพื่อจุดประกายสังคมให้เห็นคุณค่าของคำว่า "ครอบครัว" ว่าไม่ใช่แค่การให้กำเนิดเด็กคนหนึ่งขึ้นมา แต่.รวมไปถึงการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพด้วย
โลกคู่ขนานของ "สังคมสูงวัย" กับ "สังคมดิจิทัล" ทำให้ทุกครอบครัวมี "มือถือ" หลายบ้านเผชิญปัญหา "เด็กติดจอ" นางสาวณัฐยามองว่า การสร้างองค์ความรู้ให้ผู้สูงอายุ พ่อ-แม่ รู้เท่าทันการใช้งาน จะช่วยสร้างเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้มือถืออย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่เล่นเกม วิดีโอคอล หรือดูคลิปต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งการจะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องทำนโยบายการจัดการพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัวให้เป็นรูปธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หอการค้าไทย ต้องระดมความคิด แลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อทำบ้าน ชุมชน โรงเรียน ที่ทำงานให้เป็นมิตรกับครอบครัว
"เด็กปิดเทอม" คือ โจทย์ใหญ่ที่ถูกพูดถึงในวงเสวนาการจัดการพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว เพราะ พ่อ-แม่ต้องไปทำงาน ฝากปู่ ย่า ตา ยายเลี้ยงดู นางสาวณัฐยามองว่า การทำกิจกรรมในช่วงนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ครอบครัวได้ เช่น การสอนเล่นดนตรี แข่งกีฬา เรียนวิชาที่ชอบ หรือทำงานหารายได้เสริม โดยที่หน่วยงานท้องถิ่น และรัฐบาลต้องใช้ศักยภาพ งบประมาณที่มีสร้างสิ่งเหล่านี้ ขึ้นมา เพื่อไม่ให้ภาระค่าใช้จ่ายไปตกอยู่ที่ผู้ปกครอง ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่โตแล้วกระทรวงแรงงาน หอการค้าไทย ควรรวบรวมสถานประกอบการที่รับเด็กฝึกงาน ให้น้อง ๆ ได้ไปสมัคร เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อเป็นใบเบิกทางที่ดีให้พวกเขาหลังจบการศึกษา เพราะมีประสบการณ์ด้านการทำงาน ส่วนเด็กเล็กที่อยู่กับผู้สูงอายุ ควรหากิจกรรมให้ทำร่วมกัน เช่น เย็บ ปัก ถักร้อย วาดภาพ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ระหว่างอยู่บ้าน เพื่อตัดตอนปัญหา "เด็กติดจอ"
นางสาวณัฐยา เสนอทิ้งท้ายว่า เมืองไทยต้องแบ่งเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อตีกรอบปัญหาและวางทิศทางแก้ไขให้ถูกจุด โดยที่มีนักพัฒนาสังคม อาสาสมัครชุมชน ช่วยออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม คู่ขนานกับระบบบริการสาธารณสุขในท้องถิ่น โดยการดึงจิตแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหา หากพบว่าเบื้องหลังชีวิตเด็กบางคนมีความเปราะบางทางกายและใจ
"สถานที่ทำงานต้องเป็นมิตรกับครอบครัว" ถูกฉายเป็นภาพใหญ่ในงานเสวนาครั้งนี้โดย นางรัชนี ขวัญศรี หัวหน้าแผนก ฝ่ายบริหารและบริการทั่วไป บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ที่แสดงวิสัยทัศน์ CEO ว่าบริษัทของเราให้คุณค่ากับ "คุณภาพชีวิตของพนักงาน" เพราะการทำเครื่องประดับ 70% เป็น "พนักงานผู้หญิง" ซึ่งเป็นกำลังหลักที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของการสร้าง "ห้องเลี้ยงเด็ก" เพื่อให้พนักงานเอาลูกมาดูแลได้ในช่วงเช้าและกลางวัน มีพี่เลี้ยงและพยาบาลคอยดูแล เพื่อคลายความกังวลระหว่างที่ผู้ปกครองทำงาน
รูปแบบการสร้าง "ห้องเลี้ยงเด็ก" ของสถานประกอบการ ทำเครื่องประดับที่นี่ ถือเป็นตัวอย่างในการจัดการพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัวแห่งหนึ่ง เริ่มรับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีอาหารกลางวันตามหลักโภชนาการ เก็บค่าเลี้ยงดูวันละ 50 บาท ปัจจุบันมีพนักงานนำลูกมาฝากเลี้ยงมากกว่า 50 คน ต่อพี่เลี้ยง 3 คน หากวันไหนพนักงานไม่นำลูกมาก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นางรัชนี มองว่า สถานที่ทำงานควรเป็นพื้นที่สร้างความสบายใจให้พนักงาน ไม่ทำให้การมีลูกเป็นอุปสรรค จึงเกิดแนวคิดทำห้องเลี้ยงเด็กขึ้นมา เพื่อรักษาพนักงานเอาไว้ เพราะการทำเครื่องประดับ ต้องใช้ความซื่อสัตย์เป็นอันดับ 1 ถ้าพนักงานกังวลเรื่องลูก อาจจะมีผลกระทบกับพฤติกรรมและธุรกิจ นอกจากทำห้องเลี้ยงเด็ก บริษัทแห่งนี้ยังมองไปถึงอนาคตเด็กที่เข้าสู่วัยเรียน จึงสร้างพันธมิตรกับโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อให้รับเด็ก เข้าเรียนใกล้พ่อ-แม่
"สานพลังครอบครัวให้เข้มแข็ง สร้างพื้นที่พ่อ-แม่ให้อบอุ่น รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงเด็ก" คือ เป้าหมาย ปลายทางของการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว ซึ่งชุดความรู้แบบ Positive Parenting การสื่อสารเชิงบวก เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง ขณะที่แกนนำเครือข่าย นักพัฒนาครอบครัวในชุมชน เสมือนคนกลางที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในพื้นที่ และสุดท้าย "สื่อมวลชน" ถือเป็นกำลังหลักในการนำเสนอภาพกว้างระดับประเทศ ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดบทบาทผลิตสื่อที่สร้างสรรค์กับครอบครัว ในรูปแบบ Multi generation และกลุ่มเป้าหมายแบบ Cross generation เพื่อนำไปสู่การทำเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมไทย