EF ที่ดีมี 3 ข้อ

ที่มา : เว็บไซต์ thepotential.org  เรื่องโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thepotential.org โดย Mind Da Hed


EF ที่ดีมี 3 ข้อ thaihealth


เพิงห้องเรียนพ่อแม่จึงถูกปลูกขึ้นด้วยหวังลดจำนวนเด็กๆ ที่ป่วยและถูกยัดเยียดว่าป่วย นักเรียนของห้องนี้คือพ่อแม่และครู…เด็กๆ มีหน้าที่แค่เล่นรออยู่ข้างนอก


ห้องเรียนนี้สอนทั้งหมด 3 วิชา คือ 1. พัฒนาการเด็ก 2. EF (Executive Function) 3. ปรับพฤติกรรม ภายใต้คอนเซ็ปท์ที่ว่า “เอางานวิชาการมาเล่าให้ฟัง และทุกประโยคมีเอกสารทางวิชาการรองรับ”


คาบสอง: Executive Function (EF)


เมื่อเราเข้าใจพัฒนาการลูก คาบต่อมาคือ EF-Executive Function หมายถึงความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (อ้างอิงจากที่ประชุม EF ของรักลูกกรุ๊ป คำนิยามโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปนัดดา ธนเศรษฐกร)


“และต้องเป็นเป้าหมายที่เด็กกำหนดเอง ไม่ใช่พ่อแม่กำหนด” คุณหมอย้ำ


EF ที่ดีมี 3 ข้อ


1. ดูแลตัวเองได้ หมายถึง ดูแลร่างกายได้ ได้แก่


พื้นที่ 1) ร่างกายของตัวเอง เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน


พื้นที่ 2) รอบร่างกาย เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน


พื้นที่ 3) งานบ้าน เช่น ล้างจาน ตากผ้า เทขยะ


พื้นที่ 4) นอกบ้าน เช่น กินข้าวในร้านอาหาร วิ่งเล่นในห้าง เข้าคิว


“ย้ำว่างานบ้านมิใช่เพื่อให้บ้านสะอาดแต่เพื่อให้นิ้วมือขยับ นิ้วมือขยับ สมองก็ขยับ ก็จะเป็นฐานของ EF ที่ดีกว่า”


2. เอาตัวรอดได้ จากสถานการณ์เสี่ยง เช่น เป้าหมายคือมีเซ็กส์ในคืนวันวาเลนไทน์


“อยากมีก็อยาก แต่ก็กลัวท้อง ดังนั้นการมีเซ็กส์แบบ EF คือ สวมถุงยางอนามัย โดยผ่านการควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำที่ดีและมีสายสัมพันธ์กับแม่ที่แข็งแรง เพราะสายสัมพันฑ์ของแม่จะดึงรั้งสติของลูกไว้เสมอ เช่น หน้าแม่ลอยมา”


3. มีอนาคต คุณหมอยกมา 5 คำ #มองไปข้างหน้า #วางแผน #ลงมือทำ #รับผิดชอบ #ยืดหยุ่น ปรับเป้าหมาย ปรับแผนได้ตลอดเวลา ไม่โทษตัวเอง ไม่โทษผู้อื่น


“สมองส่วนหน้า เหมือนไฟหน้ารถ ใครสาดได้ไกลกว่าก็ชนะ” คำเปรียบเทียบจาก ผอ.ห้องเรียนพ่อแม่


ก่อนจะมี EF ที่ดี พ่อแม่ควรรู้ว่า EF ประกอบด้วย 3 วัตถุดิบสำคัญ


การควบคุมตัวเอง (self control) ข้อนี้สำคัญที่สุด จะทำได้ต้องผ่านกระบวนการ 3 ส่วนคือ 1.จดจ่อได้นาน (focus) 2. ไม่วอกแวก (distraction) 3.รู้จักประวิงเวลามีความสุข (delayed gratification) หรืออดเปรี้ยวไว้กินหวาน ลำบากแค่ไหนก็จะทนให้ผ่าน


ความจำพร้อมใช้ (working memory) เมื่อถึงสถานการณ์ ความจำต้องพร้อมใช้เสมอๆ พ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาการด้วยการเล่นและฝึกทำงานบ้าน เพราะทั้งสองกิจกรรมจำเป็นต้องบริหารความจำตลอดเวลา “ความจำใช้งานเกิดจากการลงมือ คือ action เท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการนั่งเรียนทฤษฎี”


การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่น (cognitive flexibility) คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ผ่านการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนตัวแปร เปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งพ่อแม่ช่วยได้ด้วยการส่งเสริมให้ลูกๆ เล่นตั้งแต่ช่วง 2-7 ขวบ และในช่วง 8-12 ปี ทั้งสองช่วงนี้สมองจะวางโครงสร้างด้านตรรกะ การใช้เหตุผล แล้วจึงนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ที่ยืดหยุ่นพลิกแพลงต่อไป


“ลูกเราอยากมีเซ็กส์ แต่ดั๊นลืมถุงยาง แต่ EF จะสอนให้เขาอดเปรี้ยวไว้กินหวาน การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่นจะบอกให้แวะไปซื้อถุงยางที่เซเว่นก่อน ระหว่างนั้นความจำพร้อมใช้จะคอยเตือนว่าท้องตอน ม.5 จะเป็นยังไงนะ แล้วถ้าติดเชื้อ HIV ด้วยล่ะ ทั้งหมดทั้งมวล คำอธิบายว่า รักแม่นะ อย่าทำนะ มันไม่พอแล้ว ความสามารถของสมองอย่าง EF จึงต้องเข้ามา”


มีอยู่หนึ่งคำถามที่อาจจะอยู่นอกหลักสูตรวิชา EF และคุณหมออาจจะไม่ค่อยได้ตอบในเวที และคาดว่ามีหลายคนอยากจะรู้


“ทำไมคำตอบจึงต้องเป็น EF” คำถามแบบกำปั้นทุบดินจากเรา


“อะไรที่เราเคยจนมุม เช่น บรรยายพัฒนาการเด็กได้จนถึงประถม วัยรุ่น แต่มาเจอระบบการศึกษาที่ไม่ปกติอย่างมาก เราก็ไม่รู้จะแนะนำอะไรพ่อแม่ เราก็เคยจนมุมเรื่องนี้จริงๆ แต่เพราะเป็นคนอ่านมาก คิดมาก ก็พบว่าความรู้ใหม่ที่เรียกว่า Executive Function หรือ EF พาเราออกจากจุดอับนี้ได้


แน่นอนแหละ ก็ไม่ได้เชื่อตั้งแต่วันแรก และตำรามันอ่านยาก มันใหม่ การใช้คำศัพท์สับสนอลหม่าน เราพยายามแปลเป็นภาษาไทย ก็ไม่รู้แล้วว่าตัวเองแปลได้หรืออยากแปล แปลๆ ไปก็มีคนชมนะว่าแปลดี (หัวเราะ) พูดดี อันนี้ไม่รู้ วิจารณ์ตัวเองไม่ได้ แต่ก็ทำให้มีกำลังใจว่าเราพยายามถ่ายทอดวิชา EF ที่เป็นภาษาไทยโดยมีวิชาการ back up”

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ