EFไกด์ไลน์ นวัตกรรมการสอนเพื่อครูปฐมวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เรื่องโดย พุสดี สิริวัชระเมตตา
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
EF ไกด์ไลน์ "นวัตกรรมการสอนเพื่อครูปฐมวัย"
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีบลูมเบิร์ก โกลบอล บิซิเนส ฟอรั่ม (Bloomberg Global Business Forum) ที่มหานครนิวยอร์ก แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ได้กะเทาะเปลือกระบบการศึกษาในยุคปัจจุบันว่า หากระบบการศึกษายังไม่มุ่งสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดในเชิงนวัตกรรมจะทำให้เด็กๆ ไม่มีงานทำในอีก 30 ปีข้างหน้า
คำถามคือ แล้วระบบการศึกษาบ้านเราควรปรับทำอย่างไร
เพื่อให้เด็กไทยต้องได้รับการฝึกฝนให้สามารถกำหนดเป้าหมายของตนเอง มีความมานะพยายาม ความมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมาย พร้อมกับการมีความสามารถในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ให้เป็นคนที่ "คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น" มีทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ หรือเอ็กเซ็กคิวทีฟ ฟังก์ชั่นส์ (Executive Functions-EF)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) สามพันธมิตรทางวิชาการ ซึ่งรวมตัวกันในนามภาคีเครือข่ายไทยแลนด์ อีเอฟ พาร์ตเนอร์ชิป Thailand EF Partnership ได้ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมการออกแบบการสอนอีเอฟ ไกด์ไลน์ (EF Guideline) เครื่องมือช่วยครูปฐมวัย ในการพัฒนาทักษะสมองเด็กไทย สู่ศตวรรษที่ 21
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทักษะสมอง (EF) จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า อีเอฟ ไกด์ไลน์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยครูปฐมวัยในการจัดระบบความคิดและวิเคราะห์เพื่อออกแบบ "การจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมทักษะสมอง อีเอฟ" สำหรับครูปฐมวัย ซึ่งมี 3 องค์ประกอบหลักสำคัญ ได้แก่ หนึ่งเป้าหมาย หมายถึง การให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายการสอนที่ชัดเจน ว่าจะนำไปสู่เป้าหมายใด เจตคติ ความรู้ หรือทักษะใด มุ่งพัฒนา ทักษะสมอง อีเอฟ ด้านใด รวมทั้งการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถประเมินได้
ถัดมา คือ กระบวนการ หมายถึง การให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ เป้าหมายเป็นลำดับขั้นตอน และครูเห็นได้ว่าในแต่ละขั้นตอนนั้น จะส่งเสริม ทักษะสมอง อีเอฟ ด้านใดบ้าง รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการทำงานของทักษะสมอง อีเอฟ และสุดท้ายคือ การประเมิน หมายถึง การให้ ความสำคัญกับการทบทวนโอกาสในการส่งเสริมทักษะสมอง อีเอฟ ที่เกิดขึ้น ระหว่างการจัดกิจกรรม รวมถึงการทบทวนขั้นตอน และกระบวนการสอน ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่คาดหวัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์ให้มีประสิทธิภาพในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ อีเอฟ ไกด์ไลน์ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็น "เพื่อน คู่ คิด" ของ ครูปฐมวัย ใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง คือ ใช้เป็นแนวทางการวิเคราะห์กิจกรรมในแผนการจัดประสบการณ์เดิมว่าองค์ประกอบแต่ละส่วนมีความชัดเจน และสอดคล้องกันหรือไม่ และใช้เป็นแนวทางการออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ โดยใช้องค์ประกอบแต่ละส่วนเป็นตัวนำทาง ให้กิจกรรมที่ออกแบบขึ้นมานั้นมี เป้าหมายชัดเจน
พลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่คนที่ท่องหนังสือเก่ง มีความรู้จดจำตำรับตำราได้มากที่สุดอีกต่อไป แต่ต้องการคนที่มีทักษะความสามารถในการคิดค้น ประยุกต์เป็น และลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมพัฒนาชาติได้ นั่นก็คือคุณสมบัติของผู้ที่มีทักษะสมอง อีเอฟ แข็งแรงนั่นเอง อีเอฟ ไกด์ไลน์ จะช่วยให้ครูวางแผนการเรียนรู้ให้เด็กได้ แยบยลขึ้น เพราะครูจะมองเห็น เป้าหมายชัดเจนขึ้น และคิดเป็นระบบขึ้นเพื่อให้ได้เป้าหมายที่ต้องการ