Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th


Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว thaihealth


รู้หรือไม่ ทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์หยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์สากล หรือ Stop Cyberbullying Day ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เพื่อร่วมสร้างความตระหนัก เสริมความเข้าใจ ต่อต้านภัยร้ายบนโลกออนไลน์ พร้อมเรียนรู้วิธีรับมือ เมื่อถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์


ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้การใช้สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ตามมาพร้อมสื่อสังคมออนไลน์ คือ ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) หรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์  ซึ่งพบหลากหลายวิธีการที่ผู้ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำ เช่น ถูกเรียกด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ด่าทอ ให้ร้าย ใส่ความ ถูกกีดกันออกจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม ถูกนำเรื่องส่วนตัว หรือความลับไปเผยแพร่ ข่มขู่คุกคาม และถูกตัดต่อ รูปภาพ คลิปวิดีโอ ในทางเสื่อมเสีย เป็นต้น


ปัญหาการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำมากมาย เช่น ทำให้เกิดความเครียด กังวล เสียใจ อับอาย หดหู่ รู้สึกด้อยค่า รู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ ทำร้ายตัวเอง หรืออาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เช่นนั้นแล้วเราทุกคนจะช่วยกันหยุดปัญหานี้ได้อย่างไร


Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว thaihealth


“การกลั่นแกล้งระรานมีมาตลอดตั้งแต่ในอดีต แต่ทวีความรุนแรงเมื่อมาอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตี หลอกลวง ทำร้าย ไปจนถึงการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ยังขาดประสบการณ์ ไม่รู้เท่าทันสื่อ” เป็นความเห็นของ นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.


นางญาณี เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ว่า จากการสำรวจพบว่า มีเด็กและเยาวชนกว่า 30 % ที่เคยเป็นทั้งเหยื่อและเป็นคนกลั่นแกล้งด้วย ซึ่งพฤติกรรมไซเบอร์บูลลี่ ถือเป็นความรุนแรงวิธีหนึ่ง และเวลาที่มีการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ มักจะไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่หนึ่งคนที่เป็นเหยื่อจะถูกขยี้ซ้ำไปซ้ำมา ก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ ซึมเศร้า เครียด แยกตัวออกจากสังคม ขณะที่คนที่กลั่นแกล้งคนอื่นก็มีผลกระทบเช่นกัน โดยพบว่าเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จะมีแนวโน้มยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรง


Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว thaihealth


อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากการที่เหยื่อถูกไซเบอร์บูลลี่ ได้แก่


1. ส่งผลต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว


2. ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ


3. ส่งผลต่อการทานอาหาร


4. สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยสนุก


5. ภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่


ด้วยเหตุนี้ ทาง สสส. และภาคีเครือข่าย จึงให้ความสำคัญและพยายามส่งเสริมแนวคิด Media Information and Digital Literacy หรือ MIDL ว่าด้วยกรอบสมรรถนะ 4 ด้าน ได้แก่ 1. เข้าถึงสื่ออย่างปลอดภัย 2. วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน 3. สร้างสรรค์เนื้อหา และ 4. ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นพลเมืองรู้เท่าทันสื่อที่มีความรับผิดชอบ สามารถสื่อสารเรื่องราวดี ๆ  และมีภูมิคุ้มกันในการใช้สื่ออย่างเหมาะสม


นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันนโยบายการร่างบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องของฐานความผิดการใช้สื่อออนไลน์ ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ตกเป็นเหยื่อการไซเบอร์บูลลี่ และภัยออนไลน์ต่าง ๆ


Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว thaihealth


ทั้งนี้ สัญญาณที่บ่งบอกว่า เด็กอาจกำลังถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เช่น


  • อารมณ์เสียหลังใช้อินเทอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์
  • กังวลใช้หลังใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์
  • แยกตัวจากกลุ่ม หรือครอบครัว ไม่ร่วมกิจกรรมตามปกติ
  • เกรดตก หรือ ไม่มีสมาธิในงานที่ทำ สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
  • มีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น พฤติกรรม การนอน ความอยากอาหาร


สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหา นางญาณี แนะนำว่า ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ตัวเด็กเอง โดยเมื่อเจอปัญหาต้องรู้จักตั้งสติ อย่าวู่วามและทำตาม ดังนี้


  • STOP ไม่ตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน
  • BLOCK ปิดกั้นคนที่กลั่นแกล้ง
  • TELL ขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้ใจ
  • REMOVE ลบข้อความ หรือภาพที่โดนกลั่นแกล้ง
  • BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าให้ใครมาทำร้าย ทำให้เราเศร้าหมองได้


Cyberbully หยุด! ที่ปลายนิ้ว thaihealth


ขณะที่ด้านครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน รวมไปถึงบุคคลรอบตัวเด็ก สามารถให้ความช่วยเหลือได้ โดยรับฟังอย่างจริงใจ ให้ความรักความอบอุ่น ให้ความช่วยเหลือ เช่น ลบ ปิดกั้น และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมการพูดคุย หรือเพื่อนคนอื่น ๆ ของเด็กว่า มีความผิดปกติแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ ควรมีข้อตกลงภายในบ้านร่วมกัน เช่น อนุญาตให้ใช้สื่อออนไลน์ได้กี่ชั่วโมง ช่วงเวลาไหนบ้าง ซึ่งต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพื่อที่จะจัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสม


การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือไซเบอร์บูลลี่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ กลายเป็นภัยใกล้ตัว และส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดคิด แต่เราทุกคนสามารถช่วยกันหยุดวงจรไซเบอร์บูลลี่ได้ เพียงแค่หยุดกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งเริ่มได้ที่ปลายนิ้วของคุณเอง


สสส. ขอร่วมรณรงค์หยุดปัญหาไซเบอร์บูลลี่  สร้างความรู้เท่าทันสื่อ และสนับสนุนให้ทุกคนใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ก้าวสู่สังคมพลเมืองตื่นรู้อย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ