Anyone Can Draw ผู้วาดชีวิตใหม่ให้คนพิการ
“anyone can draw ใครๆ ก็วาดได้” คือกิจการเพื่อสังคม ที่ขับเคลื่อน ศิลปะเพื่อคนพิการ พวกเขาชักชวนคนพิการ ให้มาวาดรูป วาดเป็นก็ป้อนงานให้ทำเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ให้โลกรู้ว่าแม้ร่างกายจะพิการแต่ก็สามารถประกอบอาชีพได้ ลิขิตชีวิตได้ด้วยสองมือของตัวเอง
จีราวัฒน์ คงแก้ว รางวัล “กิจการเพื่อสังคม” (social enterprise) ประจำปี 2555 จาก โครงการ unltd thailand โดยสำนักงาน สร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) และสถาบันเชนจ์ ฟิวชั่น ไม่ใช่รางวัลแรก ที่พิสูจน์ความมุ่งมั่น ของ “anyone can draw” ผู้ประกอบการสังคมด้านศิลปะเพื่อคนพิการ ทว่า ก่อนหน้านี้สาวเก่ง “จอมขวัญ-กิตติอาภา ปุรณะพรรค์” project manager & comic artist สตูดิโอ woxmim เจ้าของโครงการ anyone can draw ก็เพิ่งคว้ารางวัล popular vote ด้านศิลปะเพื่อสังคม จากโครงการ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพิมพ์สามสี ร่วมกับ thai pbs มาแล้ว
วันที่ได้พูดคุยกับ “anyone can draw” โลกใบเล็ก ของคนพิการก็ค่อยๆ เปิดกว้างขึ้น ไปพร้อมกับเรื่องเล่าของพวกเขา
“ช่วงที่เรียนอยู่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโอกาสทำโครงการศิลปะบำบัดให้กับเด็กพิการ เราได้รับทุนจากกลุ่มนวัตกรรมเยาวชนเพื่อสังคม(yiy) พอจบโครงการก็ยังติดต่อกับหลายคนอยู่ จึงเกิดความคิดว่า นอกจากสอนเราน่าจะช่วยให้เขามีอาชีพด้วย เรียกว่าไม่ใช่แค่บำบัด แต่อยากสร้างอาชีพให้กับเขา”
“anyone can draw” ผู้ประกอบการสังคมด้านศิลปะเพื่อคนพิการ จึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้แรงบันดาลใจสำคัญ มองเห็นปัญหาของคนพิการ ที่ว่างงาน มีรายได้น้อย (กว่าค่าแรงขั้นต่ำ) ถูกนายจ้างกดขี่จากความพิการ จึงอยากใช้สิ่งที่พวกเขาถนัด อย่างความรู้ ความชำนาญในการทำสื่อ”การ์ตูน” มาอบรมอาชีพให้แก่คนพิการ
จากว่าที่วิศวกรที่ชอบวาดการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เบนเข็มสู่งานศิลปะเต็มตัว เมื่อเห็นช่องทางของศิลปะที่สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพได้ เพราะระหว่างจัดอบรมวิชาชีพแก่ คนพิการ เพื่อขยายทีมงานนักวาดภาพให้กว้างขึ้น ก็ยังสามารถรับงานด้านการ์ตูนคอมมิคหรือแอนิเมชัน ทั้งใน และต่างประเทศ มาหล่อเลี้ยงธุรกิจเล็กๆนี้ต่อไปได้
งานพัฒนาศักยภาพมนุษย์ด้วยการ์ตูนคอมมิค ขับเคลื่อนไปพร้อมหนึ่งผู้ร่วมอุดมการณ์ ” หนุ่น-สุริยา ธิขวัญ” art director & animation artist พวกเขาเริ่มงานด้วยการจัดกิจกรรมให้กับผู้พิการรุ่นใหม่ อายุ 18-25 ปี ที่ส่วนใหญ่ พิการท่อนล่าง ทำให้เดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวก ซึ่งเมื่ออบรมเสร็จทุกคนสามารถกลับไปทำงานที่บ้านและติดต่อรับงานผ่านช่องทางออนไลน์ โดยที่พวกเขาจะคอยป้อนงานให้อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนเหตุผลที่เน้นเฉพาะการ์ตูนและแอนิเมชั่น เพราะมองว่ากว่าใครสักคนจะวาดรูปดีๆ เพื่อขายได้นั้น จะต้องเก่ง ทั้งวาด เก่งทั้งลงสี แต่กับการ์ตูน สามารถทำเป็นกึ่งอุตสาหกรรมได้ หมายถึง คนหนึ่งคนอาจทำเป็นแค่ตัดเส้น อีกคนถนัดแค่ลงสี แต่สามารถแบ่งงานกันทำได้ เพื่อให้งานเสร็จไวขึ้น เรียกว่า ไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง จากพลังเล็กๆ ส่งต่อความหวังให้กับน้องๆ และเพื่อน ผู้พิการ โดยการนำเหล่าวิทยากร ทั้ง นักวาดการ์ตูน, แอนิเมเตอร์,บล็อคเกอร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ มาอบรม ให้ความรู้ เริ่มจาก โรงเรียนศรีสังวาลย์ เชียงใหม่ ศูนย์ฝึก อาชีพผู้พิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ และหวังจะ ขยายไปสู่กลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ถึงวันนี้ได้อบรมคนพิการไปแล้วกว่า 60 คน และมีสมาชิก เครือข่ายอยู่ประมาณ 10 ราย ที่ยึดการวาดการ์ตูนเป็นอาชีพ
ผลงานทุกชิ้น ที่ผลิตโดยคนพิการ จะระบุเครดิต สตูดิโอ “woxmim” เพื่อประกาศความสามารถว่าคนพิการก็ ทำผลงานคุณภาพได้ไม่ต่างจากคนปกติ และถ้าอยาก สนับสนุนพวกเขาก็ขอให้เป็นเพราะผลงานดี ชิ้นงานประกาศตัวเอง ไม่ใช่แค่เห็นอกเห็นใจในความพิการ
“ทุกวันนี้เรารับงานทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศก็มีทำพวกการ์ตูนความรู้ให้สำนักพิมพ์ วาดภาพประกอบในหนังสือ การ์ตูนผีก็มี ส่วนอีกครึ่งรับงานจากเมืองนอก ซึ่งรายได้ดีกว่า สามารถหล่อเลี้ยงบริษัทได้”
และเพื่อความยั่งยืนของกิจการพันธุ์เล็ก น้องๆ บอกว่า อนาคตจะลดงานรับจ้างลง แต่จะสร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอันของสตูดิโอมากขึ้น เช่น ทำการ์ตูนแอนิเมชั่น ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีงานอย่างต่อเนื่องไปให้กับทีมวาดผู้พิการ ไม่ต้องออกวิ่งหางานให้เหนื่อยหนักเหมือนที่ผ่านมาอีก
“เริ่มทำเป็นธุรกิจมา 1 ปี แล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยบาลานซ์เรื่องธุรกิจกับสังคมเท่าไร”
พวกเขายอมรับปัญหา โดยเฉพาะความยากในการ บริหารคน หลายคนฝีมือดี แต่มีไม่น้อยที่ขาดความ รับผิดชอบ ซึ่งอาจส่งผลกับการส่งงานลูกค้า ทำให้ต้องคัดกรองคนมากขึ้น แต่ที่ยังมั่นใจ คือ ฝีมือของทุกคน ไม่ได้ด้อยกว่าใคร
“หลายคนบอกว่า ทำไมเราไม่โฆษณาไปเลยว่าเป็นสตูดิโอคนพิการ แต่เราคิดว่าไม่จำเป็นเลย เพราะมั่นใจในฝีมือคนของเราว่าไม่ได้เป็นรองใคร จึงไม่คิดแค่ชูประเด็นทางสังคมเท่านั้น”
ทั้งคู่ยังเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟยังแรง กล้าคิดกล้าทำ กล้ากระโดดออกจากกรอบเดิมๆ เพื่อเดินตามวิถีของตัวเอง
“สมัยผมทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เงินเยอะกว่านี้ แต่ได้รู้จักคนน้อยมาก เหมือนอยู่ตัวคนเดียวเลย เจอกันก็คุยแต่เรื่องงาน ผมสึกรู้ว่า ไม่ไหวแล้ว อยากรู้จักคนอื่นบ้าง อยากคุยกับคนอื่น อยากเจอคนที่ ชอบการ์ตูนเหมือนกัน และอยากให้งานของเราเป็นประโยชน์มากกว่านี้ จนได้มาทำงานนี้ รู้สึกว่าดีจังได้รู้จักคนเยอะมากและยังช่วยให้สังคมดีขึ้นด้วย” สุริยา บอกเหตุผลที่ยังอยู่ในงานนี้ แม้ด้วยศักยภาพของเขาอาจไปทำงานอื่นเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพได้มากกว่านี้
เช่นเดียวกับ “กิตติอาภา” นิสิตวิศวะอุตสาหการ ที่ยังมีหนทางมากมายให้เติบใหญ่ แต่เธอกลับเลือกเส้นทางนี้ “ตอนเลือกเรียนที่บ้านอยากให้เรียนหมอไม่ก็วิศวะ พอสอบหมอไม่ติด เลยมาเรียนด้านวิศวะ ซึ่งทุกวันนี้ท่านก็ยังอยากให้ไปเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ๆ เข้าใจว่าท่านไม่ได้หวังร้าย แต่เป็นค่านิยมในสังคมเราไปแล้ว สำหรับตัวเองรู้สึกว่า ทำไมต้องเดินตามทางที่เขาขีดให้ เพราะการเป็นลูกจ้างใครตลอดชีวิตก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป”
คนที่ไม่อยากอยู่ในกรอบ เลยเลือกออกมาตามหาเส้นทางชีวิตตัวเอง ยอมเหนื่อยกับการวิ่งหางานมาป้อนสมาชิก ต้องแบกความหวังใครหลายคนไว้ แต่สิ่งที่ได้เต็มๆ และดูจะหายากเย็นในยุคนี้ เธอเรียกมันว่า “ความสุข” “ที่พูดว่าทำแล้วสุขใจ อาจเป็นคำตอบที่ตื้นเขินมาก รู้สึกว่า ความสุข อาจยังไม่พอ ประทับใจพี่คนนึงซึ่งเคยอบรมกับเรา เขาบอกว่า รู้ไหมว่าสิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับการเป็นคนพิการ คือ ไม่สามารถทำงานได้ คนพิการจึงมีความรู้สึกว่า เขาไม่มีคุณค่าแต่งานนี้ ทำให้ชีวิตเขามีค่ามากขึ้น ฟังแล้วรู้สึกดีมาก และเป็นกำลังใจอย่างมาก”
เธอบอกคำประทับใจ ที่หล่อเลี้ยงความมุ่งมั่นมาจนถึงทุกวันนี้ ที่คอยเติมเชื้อไฟในวันที่อ่อนล้า
หนึ่งความงดงามของคนหัวใจไม่พิการ ที่อยากร่วมวาดชีวิตใหม่ให้คนพิการในสังคม บนความเชื่อแค่ว่า.. anyone can drawหลายคน บอกว่า ทำไมเราไม่โฆษณา ไปเลยว่าเป็นสตูดิโอ คนพิการ แต่คิดว่า ไม่จำเป็นเลย เพราะเราไม่คิดชูประเด็นทางสังคม