Active Play เรื่อง ‘เล่น’..เรื่องใหญ่
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ชีวิตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้เด็กๆ ในยุคสังคมก้มหน้า มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงอย่างน่าตกใจ ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทั้งโลก สะท้อนผ่านความ ตื่นตัวจากนานาประเทศในเวทีประชุมระดับโลกด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 หรือ ISPAH 2016 ซึ่งประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในเอเชีย ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ไฮไลต์หนึ่งในงานนี้ คือ การเปิดเผยรายงาน Global Matrix 2.0 ผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน ใน 38 ประเทศ จาก 6 ทวีปทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งร่วมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติที่เรียกว่า The Active Healthy Kids Global Alliance โดยการริเริ่มของ ศ.ดร.มาร์ค เทรมเบรล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน สถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็ก ออนตาริโอตะวันออก จากประเทศแคนาดา
ผลสำรวจภาพรวมในระดับโลกครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ "Inactivity Crisis" ของเด็กทั่วโลกที่มีภาวะ "เนือยนิ่ง" สูง และมีกิจกรรมทางกายต่ำ โดยเกรดเฉลี่ยทั่วโลกอยู่เพียงแค่ระดับ D นั่นคือ ระดับ "แย่" เมื่อเทียบกับระดับการวัดผลไล่จากเกรดสูงสุด คือ A ไปจนถึงเกรดต่ำสุด F โดยมีเกณฑ์ตัวชี้วัด 9 ตัวเป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ ได้แก่ 1. การมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวัน 2. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา 3. การเล่นอย่างอิสระ (Active Play) 4. พฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การดูทีวี นั่งเล่นเกม 5. การเดินทางที่ใช้ แรงกาย (Active Transport) 6. การสนับสนุน จากครอบครัว 7. โรงเรียน 8. ชุมชน และ 9. การสนับสนุนจากรัฐบาล
"ผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึง การมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน ทั่วโลกที่อยู่ในระดับค่อนข้างแย่ โดยภาพรวม โซนเอเชีย อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ถือว่า เกรดค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับโซนยุโรป แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยให้เด็กเล่นอย่างอิสระ หรือ Active Play ประเทศในเอเชียยังค่อนข้าง ต่ำมาก สำหรับประเทศที่ภาพรวมเกรดเฉลี่ยดีที่สุดคือ สโลวีเนีย ซึ่งได้ A- ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศที่มีรายได้น้อยจะได้เกรดที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งเป็นผลมากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ ส่งผลให้เด็กไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศ ต่างมีจุดดีจุดด้อยต่างกันไป เช่น บางประเทศ แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง แต่ก็มีปัจจัยสนับสนุนอื่นที่ทำให้กิจกรรม ทางกายสามารถเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตได้เช่นกัน" ศ.ดร.มาร์ค เทรมเบรล ระบุ
เด็กไทยขาด Active Play
จากภาพใหญ่ในระดับโลก หันมาดู ผลสำรวจของเด็กไทยกันบ้าง ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการจัดทำโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย หรือ Report Card ร่วมกับ อีก 37 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 6 – 17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด 9 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย และกรุงเทพฯ
ผศ.เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ อธิบายถึงผลสำรวจครั้งนี้ว่า โดยภาพรวมประเทศไทยจัดอยู่ในระดับปานกลาง คือ เกรด C ถือได้ว่าเราไม่ได้เลวร้ายไปกว่าสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ในยุโรป และอเมริกา ปัญหาที่เราเจอ ต่างประเทศก็เจอ เช่นกัน โดยเมื่อลงไปดูที่ตัวชี้วัดแต่ละตัว พบว่า การมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวัน และพฤติกรรมเนือยนิ่งอยู่ที่ระดับ D-
พบว่ามีเด็กไทย 23.2 % ที่มีกิจกรรมทางกายรวมกันอย่างน้อยวันละ 60 นาทีต่อวัน ทุกวันในหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่มีเด็กไทยเพียง 21.8% เท่านั้นที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ทุกวันในหนึ่งสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การเล่นอย่างอิสระที่เรียกกันว่า Active Play ซึ่งไทยได้เกรดต่ำที่สุด คือ F สะท้อนถึงการขาดโอกาสของเด็ก ในการออกไปวิ่งเล่นอย่างอิสระด้วยตัวเองซึ่งตรงกันข้ามกับตัวชี้วัดด้านการให้สนับสนุนจากครอบครัวที่ไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี คือ เกรด B
จุดนี้ทำให้ต้องหันกลับมามองว่าปัญหาเกิดจากอะไร เกิดจากตัวเด็กเอง หรือในเชิงนโยบายเราไปกำกับให้เด็กนั่งอยู่แต่ในห้องเรียนมากเกินไปหรือเปล่า เด็กเรียนพิเศษมากเกินไป นั่งแชท นั่งอยู่หน้าจอมากเกินไปหรือไม่? โดยก่อนหน้านี้ เคยมีผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายระดับประเทศ โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กรุ่นใหม่กำลังขาดกิจกรรมทางกายอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเขตเมือง เด็กไทยใช้เวลาอยู่หน้าจอเฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะที่มีสถิติชี้ว่าเด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behaviour) ประมาณ 13.39 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการเนือยนิ่งติดต่อกัน เกิน 2 ชั่วโมง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้มาก เด็กไทย 1 ใน 5 จึงตกอยู่ใน สถานการณ์เสี่ยงเกิดภาวะอ้วน เมื่อเกิดภาวะอ้วนก็วนไปที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ นานาที่จะตามมาถึงก่อนวัยอันควร
รณรงค์ขยับวันละ 60 นาที
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรม เด็กไทยดังกล่าว จึงนับเป็นความท้าทายว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถชวนเด็กๆ ให้ออกจากหน้าจอ แล้วหันมาเล่น หันมา มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น
"ข้อมูลโครงการการสำรวจ Report card กิจกรรมทางกายของเด็กไทยครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างให้เกิดการรับรู้ต่อสังคม และชี้ไปที่ฝ่ายนโยบายให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาการขาดกิจกรรมทางกายของเด็กไทย ตลอดจนการจัดระบบและปรับเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น"
การออกมาเล่นอย่างอิสระทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเล่นเองคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่ม ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กได้รับความสนุกสนาน แต่ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะเมื่อเด็กออกมาเล่นอย่างแอคทีฟ ได้ขยับร่างกายจน ได้เหงื่อ สมองของเด็กจะตื่นตัวโดย ทำหน้าที่สั่งการให้เด็กเคลื่อนไหวไปในลักษณะและทิศทางต่างๆ จึงเท่ากับสมองได้รับการพัฒนาให้ทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ และเรียนรู้ในการตอบสนอง การอยู่ร่วมสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ เสริมสร้างสติปัญญา และเรียนรู้ทักษะสังคมผ่านการเล่น
นพ.ไพโรจน์ เล่าว่า ที่ผ่านมา การชวนเด็กๆ ให้ออกมาแอคทีฟ ขยับร่างกายอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวันภายใต้แคมเปญ Active Play นับเป็นหนึ่งในการรณรงค์ที่ สสส.พยายามผลักดัน โดยภายในหนึ่งวัน เราสามารถส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายสะสมให้ครบวันละ 60 นาทีตาม คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกได้
ด้วยการแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 10-20-30 นาทีในการทำกิจกรรม ได้แก่ การมีกิจกรรมตอนเช้า 10 นาทีก่อนเข้าเรียนเช่น เดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน ออกกำลังกายประกอบเพลง, การมีกิจกรรม ระหว่างวันหรือพักเที่ยง 20 นาที เช่น วิ่งเล่น กระโดดหนังยาง เตะฟุตบอล การลุกถามตอบ เดินเปลี่ยนห้องเรียน ปิดท้ายด้วยการมีกิจกรรมตอนเย็น หลังเลิกเรียนอีก 30 นาที เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้น วิ่งจ๊อกกิ้ง ฯลฯ
"เด็กๆจะสามารถมีเวลาทำสิ่งเหล่านี้ จะทำได้ต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัวชุมชน ครู อาจารย์ที่โรงเรียน เริ่มจาก หนึ่ง.. การแบ่งเวลาให้เขาได้มีโอกาสเล่น ไม่ใช่นั่งเรียนอย่างเดียว สอง..การจัดพื้นที่ให้มีมุมหรือสนามสำหรับทำกิจกรรม และสาม การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ต่างๆ
บทบาทของพ่อแม่นับว่า มีส่วนสำคัญอย่างมากในการชักชวนสร้างแรงจูงใจ ดึงเด็กออกมาจากหน้าจอ ชวนให้ทำกิจกรรมทางกาย เช่น การชวนลูกไปเล่นกีฬา แม้แต่ การให้ช่วยทำงานบ้าน หรือการใช้การเดินทางที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น" นพ.ไพโรจน์ กล่าวปิดท้าย