9 โรคต้อง ‘ห้ามขับ’ เสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง

/data/content/24782/cms/e_ablnopsz3458.jpg


          กรมควบคุมโรค เปิด 9 กลุ่มโรคสุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ไม่ควรขับรถเด็ดขาด ระบุกฎหมายโรคต้องห้ามขับรถ ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ กรมขนส่งทางบกและแพทยสภาเร่งเสนอโรคเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบการมองเห็น การได้ยิน ระบบประสาท และโรคหัวใจ-โรคเรื้อรัง


          นายแพทย์โสภณ เมฆธนอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน นอกจากกรณีเมาแล้วขับแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่นกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนเกิดอาการลมชักจนขับรถจนพุ่งชนนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า โรคและปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ มีดังนี้ 1. โรคที่เกี่ยวกับสายตาต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลากลางคืนแล้วมองไม่ชัด ส่วนคนเป็นต้อหินทำให้มุมสายตาแคบลง มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี และมองเห็นแสงไฟบอกทาง หรือไฟหน้ารถพร่าได้ 2. โรคทางสมอง ที่ยังเป็นไม่มากมีอาการหลงลืม ขับรถหลงทางในบางครั้ง การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี?


          3. โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้แขนขาไม่มีแรงขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ บางคนมีอาการเกร็งจนขากระตุกเวลาเหยียบคันเร่งหรือเบรก บางคนประสานงานแขนกับขาไม่ดี หรือสมองสั่งให้แขนขาทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง 4. โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี 5. โรคลมชัก เมื่อมีอาการชักจะเกร็ง และกระตุกไม่รู้สึกตัว 6. โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบปวดจากโรคเก๊าต์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลังจากกระดูกหลังเสื่อม ทำให้นั่งขับรถได้ไม่นาน??


          7. โรคหัวใจ อาจมีอาการแน่นหน้าอก เมื่อขับรถนานๆ เครียดจากรถติด 8. โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการ หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลงและ 9. การกินยา ซึ่งบางคนกินยาหลายชนิด บางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึมหรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ และทำให้การตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ไม่ดีหลังกินยาแล้วควรพักผ่อนหรือวานให้คนข้างๆ ช่วยขับจะมีความปลอดภัยมากกว่า?


          "ปัจจุบันกฎหมายกำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่รถยนต์เพียงแค่ 1.ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ 2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต และ 3. ไม่ติดสุรา ยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือว่าไม่เพียงพอและไม่เกี่ยวข้องกับการขับรถและไม่สามารถป้องกันภัยในการขับรถ กรมการขนส่งทางบกและแพทยสภากำลังพิจารณาเสนอโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถโดยตรงประกอบด้วย 1. โรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า ความพิการ 2. โรคระบบการมองเห็น เช่น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว 3. โรคระบบการได้ยิน 4. โรคหัวใจและโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ประวัติการผ่าตัด เป็นต้น"อธิบดี คร.กล่าว?


          นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไปการให้ความรู้ เรื่องโรคมีผลต่อสมรรถนะการขับขี่ ต้องระมัดระวังและให้หลีกเลี่ยงต่อการขับขี่ยานพาหนะ ดื่มสุราและง่วงไม่ขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงประเด็นผู้สูงอายุ การเสื่อมสภาพของอวัยวะของร่างกายและโรคประจำตัวที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งก็ผลต่อการขับขี่ยานพาหนะของผู้ขับขี่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ คนไทยไม่ควรเจ็บและตายโดยไม่จำเป็น หากท้องถิ่นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หมั่นย้ำเตือนรณรงค์ให้ประชาชนตระหนัก และร่วมป้องกันอุบัติเหตุด้วยตนเอง ครอบครัว ชุมชน จะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตได้


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code