9 เหตุผลที่ทำให้หลงเชื่อ ข้อมูลสุขภาพออนไลน์
ที่มา : ข้อมูลสุขภาพออนไลน์ จริงหรือเท็จ เชื่อได้แค่ไหน โดย มูลนิธิหมอชาวบ้าน จากงาน SOOK Festival
แฟ้มภาพ
จากสถิติพบว่าคนไทยส่งต่อข้อมูลทางออนไลน์เรื่องสุขภาพมากที่สุด ซึ่งกลุ่มคนที่ส่งส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงวัยและเด็กๆที่อาจไม่มีวุฒิภาวะพอจะตัดสินใจได้ว่าเรื่องไหนน่าเชื่อถือ โดยสาเหตุที่ทำให้หลงเชื่อได้ง่ายๆ มีดังต่อไปนี้
1.เชื่อถือผู้ป่วยด้วยกัน น่าเชื่อกว่าหมอเสมอ : คนส่วนมากรู้สึกว่าหมอคือผู้ที่รักษาโรค แต่ไม่ได้เป็นโรค ดังนั้น การเลือกเชื่อคนที่เป็นโรคเหมือนกัน จะดูมีน้ำหนักมากกว่าความเห็นของหมอ
2.ยิ่งมีพรีเซ็นเตอร์คนดัง ยิ่งน่าเชื่อถือ : คนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนดังเหล่านี้จะเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ทำให้คล้อยตาม และอยากเลียนแบบมากขึ้น
3.เป็นเรื่องที่โดนใจ ทำให้มีอารมณ์ร่วม : เป็นปัญหาที่หลายๆคนประสบอยู่ เช่น ความแก่ ความอ้วน หรือโรคมะเร็ง ทำให้มีอารมณ์ร่วมได้มาก
4. คนเราชอบความสบาย : ในปัจจุบันผู้คนได้รับข้อมูลเยอะ รับรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรถึงจะเห็นผลลัพธ์ แต่ถ้าหากว่ามีทางลัดที่สบายกว่า ก็ย่อมเลือกทางนั้น
5. ถูกจริตและถูกใจ : ในหลายสิ่งที่เป็นข้อห้ามหรือไม่ดี ถ้าหากมีคนส่งต่อข้อมูลให้ทำแล้วถูกใจผู้รับสาร ก็ย่อมจะมีแนวโน้มเลือกสิ่งเหล่านั้นอยู่ดี
6. ชื่อใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม : แม้ว่าจะเป็นของเดิมที่ผู้คนไม่สนใจถ้าหากมีการรีแบรนด์หรือเปลี่ยนชื่อใหม่ก็ดึงดูดผู้คนได้ดี
7.ราคาถูกและใช้ง่าย : สิ่งที่ดึงดูดคนทั่วไปมักจะเป็นของที่มีราคาถูกและใช้ง่ายไม่ยุ่งยาก เช่น ยาลดความอ้วน หรือครีมที่ทำให้ผิวขาวขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ
8. เป็นความเชื่อบางอย่างที่อยู่ในสังคม : เช่น ความเชื่อว่าสิ่งใดที่เป็นสมุนไพรคือสิ่งที่ดีเพราะมาจากธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป อาจมีผลข้างเคียงทำให้แพ้ได้
9. ดูมีความหวัง จึงทำให้เกิดความ “เชื่อ” : ส่วนใหญ่เวลาไปพบแพทย์ จะรู้สึกหมดหวัง เพราะแพทย์จะพูดกลางๆเสมอว่า “ต้องรักษาไปเรื่อยๆ” แต่เมื่อพบข้อความชวนเชื่อ มักจะเกิดความคล้อยตาม เพราะสิ่งเหล่านั้นสร้างความหวังให้กับตัวเอง
มาตรการ ช่วยแยกแยะความน่าเชื่อถือของข้อมูลคือ การเข้าไปค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้