9 ศิลปินแห่งชาติปลื้มใจ สุชาติ-เฉลิมชัย-เศรษฐา-ประภัสสร’กุงกาดิน’เสียดายได้รับรางวัลตอนแก่

9 ศิลปินแห่งชาติปลื้มใจ สุชาติ-เฉลิมชัย-เศรษฐา-ประภัสสร'กุงกาดิน'เสียดายได้รับรางวัลตอนแก่


 


วธ.ประกาศรายชื่อ 9 ศิลปินแห่งชาติปี’54 ‘เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ด้านจิตรกรรม ประภัสสร เสวิกุลนวนิยายและกวีนิพนธ์ เศรษฐาศิระฉายาดนตรีไทยสากลและขับร้อง เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ


เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) มอบหมายให้ นางสุกุมล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานประชุม กวช.เพื่อพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2554 ใช้เวลาประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง


นางสุกุมลแถลงว่า ผลการคัดเลือกยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปิน ผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี 2554 ใน 3 สาขา จำนวน 9 คน ดังนี้สาขาทัศนศิลป์ 3 คน ได้แก่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (จิตรกรรม) นายเมธา บุนนาค(สถาปัตยกรรม) นายทองร่วง เอมโอษฐ(ประณีตศิลป์ศิลปะปูนปั้น) สาขาวรรณศิลป์ 2 คน ได้แก่ นายประภัสสร เสวิกุล (นวนิยายและกวีนิพนธ์) นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) สาขาศิลปะการแสดง 4 คน ได้แก่ นางรัจนา พวงประยงค์ (นาฏศิลป์ไทยละคร) นายนคร ถนอมทรัพย์ หรือกุง กาดิน (ดนตรีสากลประพันธ์และขับร้อง) นายเศรษฐา ศิระฉายา(ดนตรีไทยสากลขับร้อง) และนางสดใส พันธุมโกมล (ละครเวทีและละครโทรทัศน์)


นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า เกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์คือ1.เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะและเป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะ รวมถึงเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น 2.คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ เช่น ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงามคุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติหรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ของชาติไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่น และ 3.มีการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องมีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัดผลงานได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณ ระดับท้องถิ่นระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ


นางปริศนากล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปี 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อปี 2528 จนปี 2553 มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 212 คน เสียชีวิตไปแล้ว 92 คน มีชีวิตอยู่ 120 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท และเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และหากเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก120,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศิลปินแห่งชาติทั้งหมดจะเข้ารับพระราชทานโล่ และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดง และนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ความเป็นศิลปินแห่งชาติ ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิต คนที่ทำงานคณะกรรมการ จะเห็นคุณค่า ตนก็เป็นคนทำงานคนหนึ่ง จึงเชื่อมั่นว่า วันหนึ่ง คณะกรรมการจะเห็นคุณค่า แต่ไม่คิดว่าจะได้รับการยกย่องรวดเร็วในช่วงอายุเพียง 57 ปี สำหรับการทำงานศิลปะถือเป็นงานยิ่งใหญ่ ประเทศไทยไม่สามารถจะสร้างความยิ่งใหญ่ทางวัตถุเหมือนต่างชาติได้ แต่สามารถสร้างศิลปะให้ยิ่งใหญ่ได้ดังนั้น ทุกคนจึงถืองานศิลปะเป็นครู ตนก็เป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่สืบทอดงานจากครู เพื่อฝากไว้ให้กับประเทศชาติ


นายประภัสสรกล่าวว่า รู้สึกดีใจ และขอบคุณที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ที่ผ่านมาทำงานในวงการวรรณกรรมตามหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทนใดๆ โดยหลักคิดหลักทำสร้างวงการวรรณกรรมให้เข้มแข็ง และก้าวไปข้างหน้า ผลักดันให้นักเขียนไทยเป็นที่ยอมรับในสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ตนมีส่วนสำคัญใช้วรรณกรรมส่งเสริมความเข้าใจระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เนื่องจากเห็นว่าความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องการค้า ธุรกิจ แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม จึงมีความเชื่อมั่นว่าปี 2558 ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พลังวรรณกรรมจะเป็นส่วนสำคัญสร้างความ สามัคคีระหว่างประเทศ


นายทองร่วงกล่าวว่า รู้สึกขอบใจหน่วยงานราชการที่เห็นความสำคัญงานปูนปั้นพื้นบ้านเพราะงานสาขานี้ไม่เคยได้รับการยกย่องมาก่อนตนเป็นแค่เพียงช่างปั้นปูนบ้านนอก ทำงานปูนปั้นตามวัดไปเรื่อยๆ วันนี้ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นเกียรติสูงสุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ช่างปูนปั้นเมืองเพชรถือว่ากำลังได้รับความนิยม ยิ่งมีกระแสคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญยิ่งเป็นการต่ออายุสืบทอดงานปูนปั้นเมืองเพชรให้มีความมั่นคงต่อไป


นายนครกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัล แต่น่าจะได้รับตอนที่อายุยังน้อย จะได้ทำงานให้สังคมมากกว่านี้ ตนทำงานด้านเพลงมาตลอดชีวิตไม่เคยคิดทำอย่างอื่น เริ่มต้นเป็นศิลปินตั้งแต่อายุ12 ปี ทำมาตั้งแต่เขียนป้ายโรงหนัง พากย์หนังแต่งเพลง ร้องเพลง อยู่กับงานนี้มาอย่างต่อเนื่องงานดนตรีเป็นงานที่ทำให้คนมีความสุข เป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตให้การรักษาบำบัด ปลุกปลอบ แม้กระทั่งงานศพยังมีดนตรีเลย คนที่ทำหน้าที่นี้ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะได้เป็นตัวอย่างของสังคม


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code