`9 ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามรอยพ่อ`

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'9 ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามรอยพ่อ' thaihealth


ระเบิดจากภายใน เน้นพัฒนาคน เป็นตัวตั้ง , เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา, รู้-รัก-สามัคคี,  พึ่งพาตนเอง ฯลฯ แนวคิดเหล่านี้  ล้วนเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้เป็น แบบอย่าง ผ่านการทรงงานโครงการต่างๆเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย


ที่สุดของการแสดงออกเพื่อ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงไม่มีอะไรดีเท่ากับการน้อมนำแนวทางเหล่านี้ มาสานต่อการทำงานเพื่อให้สมดัง พระราชปณิธานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


หนึ่งในก้าวย่างที่เริ่มดำเนินขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม คือ การสร้างการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ โดยการ "รู้-รัก-สามัคคี" ร่วมมือกัน ของ 4 ภาคี ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งวันนี้พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจ  9 เรื่องราวต้นแบบจาก 73 พื้นที่นำร่อง ภายใต้ชื่อ โครงการ "9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม" ถ่ายทอดเรื่องราว 9 พื้นที่ที่ได้น้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ต่อยอดจากสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงวางรากฐานไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน


"จังหวัดเพชรบุรี" นับเป็นจังหวัดหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎร ทรงก่อตั้งโครงการพระราชดำริหลายโครงการเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นี่ยังเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่า การน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเอง สามารถนำมาสู่การสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มเสี่ยงจากโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีตัวอย่างจากการดำเนินงานในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี


'9 ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามรอยพ่อ' thaihealth


สิริญา ฉิมพาลี หัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาล ท่ายาง จ.เพชรบุรี เล่าว่า โรงพยาบาลท่ายาง เป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ซึ่งต้องรับมือกับความต้องการด้านสุขภาพของคนอำเภอที่มากขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดัน หัวใจ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ  การพึ่งพาตนเองจึงเป็นคำตอบของการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง ควบคู่กับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ ซึ่งมีแนวคิดว่า คุณภาพชีวิตและสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องอาศัยการทำงานจากทุกภาคส่วนร่วมกัน การแก้ปัญหาที่การรักษาโรคภัยจึงเป็นแค่ปลายเหตุ ลำพังแต่สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลอำเภออย่างเดียวคงไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งหมด


"อ.ท่ายาง เป็นที่ตั้งของโครงการ พระราชดำริชั่งหัวมัน ซึ่งแนวทางการ ทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถเชื่อมโยงมาสู่กับขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งมีตัวอย่างความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถจัดการพึ่งพาตนเอง เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าแลง ซึ่งสามารถดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดัน อาทิ โครงการส่งเสริม สุขภาพเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย มีทีมอาสาสมัครชุมชนออกเยี่ยมและดูแล ผู้ป่วยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เกิดการพึ่งพาตนเอง ดูแลกันและกันในชุมชน จากเมื่อก่อนที่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลท่ายางอย่างเดียว เราพยายามสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยตัวเอง โดยใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชน เช่น การใช้ระบบอาสาสมัครดูแลกันเองในชุมชน บางชุมชนมีวัดเป็นกลไกระดมทุนกันเอง ในชุมชนเพื่อตั้งกองทุนสำหรับดูแลผู้ป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุที่นอนติดบ้าน ติดเตียง"


ในฐานะคนทำงานด้านสาธารณสุข  สิริญา มองว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ ซึ่งมีการตั้งบอร์ดระดับอำเภอ หรือ District Health Board (DHB) นับเป็นอีกก้าวของการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทำให้เกิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยน เข้าถึงข้อมูลความต้องการและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดตามบริบทของพื้นที่ ไม่ใช่การ แก้ปัญหาแบบตัดเสื้อโหล ตัวอย่างเช่น  เราได้สนับสนุนจาก สสส. จัดทำโครงการสำรวจข้อมูลชุมชนในรูปแบบ Community Data base ทำให้สามารถวิเคราะห์ลึกลงไปถึง ใต้ภูเขาน้ำแข็งถึงต้นตอสาเหตุปัญหาสุขภาพที่แท้จริงของชุมชน


'9 ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามรอยพ่อ' thaihealth


อีกหนึ่งใน 9 พื้นที่ซึ่งเป็นต้นแบบ ของการน้อมนำหลักการทรงงาน และ แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต คือ "พื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส"


จากแรงบันดาลใจโครงการ "แกล้งดิน" แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดนราธิวาส จนสามารถ แก้ปัญหาความยากจน สามารถเพิ่มผลิตการทำนาในพื้นที่พรุบ้านโคกอิฐ-โคกโพธิ์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส นับเป็นการแก้ปัญหาที่ยึดหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" แก้ปัญหาโดยคำนึงถึงภูมิสังคม ซึ่ง นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลตากใบ บอกว่า หลักการทรงงาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นับเป็นแบบอย่างของการแก้ปัญหาตามบริบทพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยยึดหลักความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่การแก้ปัญหา แบบคิดเอง แล้วใช้วิธีสั่งการแนวทางการ


แนวทางนี้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเครือข่ายสุขภาพอำเภอตากใบ ซึ่งเลือกประเด็นคนพิการซึ่งเป็นปัญหาในพื้นที่มาเป็นประเด็นหลักในการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ นำมาสู่การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมจากภูมิปัญญาของชุมชนโดย คนพิการเองที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในตำบลบางขุนทอง รวมถึงนวัตกรรมจักรยานบัดดี้ปั่นมือและเท้า ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในตำบลพร่อน เป็นต้น


"เราพบว่าการเดินทางเป็นปัญหา ข้อจำกัดหนึ่งของผู้พิการและผู้สูงอายุ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการมาโรงพยาบาล นำมาสู่การริเริ่มศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในตำบลโดยคิดพัฒนาเครื่องมือแบบง่ายๆ ในชุมชน และอาศัยความร่วมมือทีมนักกายภาพจากโรงพยาบาล ลงไปช่วยทำงานร่วมกับอบต. ชุมชน รวมถึงชมรมคนพิการ การพัฒนาระบบ สุขภาพอำเภอ จึงทำให้เกิดการร่วมกันคิด สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยค้นหาปัญหาที่เป็นความต้องการของชุมชน และค้นหาศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ จากนั้นจึงเข้าไปช่วยหนุนเสริม ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา เมืองไทยเรายังขาดการมองถึงศักยภาพชุมชน มีแต่คิดจากข้างบน  มองลงไปข้างล่าง"


ในมุมมองของ นพ.สมชาย การจะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสาธารณสุขให้สำเร็จผล จำเป็นต้องทำงานรวมกันเป็นเครือข่าย จากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สปสช. สสส. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่การกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ระดับอำเภอ ซึ่งไม่ได้จำกัด แค่มิติด้านสุขภาพ หรือโรคภัยไข้เจ็บ  แต่ครอบคลุมการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านของประชาชน เช่น การส่งเสริมการบริโภคผักปลอดสารพิษที่ต้องมีหน่วยงานภาคเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้องส่งเสริมการปลูกตั้งแต่ต้นทาง เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เสริมพลังกันและกัน


'9 ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามรอยพ่อ' thaihealth


ด้าน นพ.บัณฑิต ศรไพศาลรองผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงบทบาทของสสส. ในฐานะหนึ่งภาคีขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นแนวคิดการปฏิรูปให้เกิดระบบสุขภาพระดับอำเภอ โดยเปลี่ยนโรงพยาบาลร่วมดูแลพื้นที่ ซึ่งไม่ลดความสำคัญของโรงพยาบาล และปรับมิติการให้บริการจากโรคเป็นประชาชน ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ สสส.จึงสนับสนุนให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงทรัพยากรจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน และ ท้องถิ่น พร้อมกับระบบข้อมูล คลังความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ และการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ระบบสุขภาพอำเภอตอบโจทย์สุขภาพของประชาชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมี จุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ประชาชน ไม่ใช่ที่โรคภัย จึงทำงานผ่านพื้นที่นำร่องที่สมัครใจ 73 อำเภอ และ จะขยายพื้นที่ดำเนินการให้ครอบคลุม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 250 อำเภอ


สำหรับโครงการ "9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม"เพื่อนำเสนอผลสำเร็จ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพอำเภอที่น้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้ ได้คัดสรร 9 เรื่องราวจาก 73 พื้นที่นำร่อง ได้แก่  1. อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 2. อ.ปัว จ.น่าน  3. อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร 4. อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 5. อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 6. อ.หล่มเก่าจ.เพชรบูรณ์ 7. อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 8. อ.นาทวี จ.สงขลา และ 9. อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นตัวแทนการนำเสนอผลงานในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน


ผู้สนใจสามารถติดตามได้ผ่านสารคดีในรายการคนค้นฅน ตอนพิเศษ "9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9  วันอังคารสุดท้ายของเดือน เวลา 20.35 น. เริ่มตอนแรกวันที่ 31 มกราคม 2560

Shares:
QR Code :
QR Code