9 จังหวัดนำร่อง งดเหล้างานศพ

หวังสร้างพื้นที่ต้นแบบ

 

9 จังหวัดนำร่อง งดเหล้างานศพ            9 จังหวัดเหนือล่าง รุก!!! งานบุญประเพณีปลอดเหล้ายึด งดเหล้าในงานศพนำร่อง หวังใช้พื้นที่ต้นแบบเป็นแนวทางดำเนินงานเน้นสร้างชุมชนปลอดแอลกอฮอล์ ฟื้นคุณค่างานบุญอย่างแท้จริง

 

            เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่โรงแรมเครสซิเดนท์ จ.พิษณุโลก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับประชาคมงดเหล้า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง พร้อมด้วยเครือข่ายเด็กและเยาวชน สภาวัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดเวทีเรียนรู้ประสบการณ์ สานเครือข่าย งานศพปลอดเหล้า ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่ต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการรณรงค์ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมในการจัดกิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายปรีชา เรืองจันทร์ เป็นประธานในพิธี

 

            นายสอน ขำปลอด ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการรณรงค์ ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีนั้น ได้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ชุมชนหลายแห่งในภาคเหนือตอนล่างยังให้ความสนใจ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาทำความเข้าใจและร่วมหาแนวทางในการรณรงค์ให้สัมฤทธิ์ร่วมกัน

 

            “การรณรงค์ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่างานบุญประเพณีในวัดได้รับการยอมรับแล้วว่าต้องปลอดเหล้า แต่ยังมีงานบุญอื่นอีกจำนวนมากที่ดำเนินกิจกรรมนอกวัดและยังมีการดื่มเหล้ากันตามปกติ โดยเฉพาะงานศพ ที่มักจะมีข้ออ้างต่างๆ เพื่อการดื่มเหล้าภายในงานโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ชุมชนต่างๆ เห็นความสำคัญถึงการจัดงานที่ปลอดเหล้า เครือข่ายฯ จึงจำเป็นต้องเปิดเวทีวิชาการเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่ต้นแบบที่เคยดำเนินการจนประสบผลสำเร็จมาก่อน และเป็นการประเมินความเหมาะสมในการนำรูปแบบการรณรงค์มาใช้ในการจัดงานในพื้นที่ของตนเอง” นายสอน กล่าว

 

            ด้านอาจารย์เยาวภา โตสงวน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้วิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเลิกธรรมเนียมการเลี้ยงเหล้าในประเพณีงานศพของชุมชนบ้านติ้ว กล่าวว่า งานบุญประเพณีปัจจุบันเบี่ยงเบนไปมาก มีการเลี้ยงเหล้าในงาน และในฐานะที่เป็นนักวิชาการ จะมีหน้าที่ช่วยดึงประเด็นและนำทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการบูรณาการได้ร่วมกัน

 

            “จากการวิจัยพบว่า แกนนำชุมชนต้องเข้มแข็งก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ พลังของชาวบ้านที่ร่วมสร้างชุมชนไปด้วยกัน โดยหากมองในมุมของวัฒนธรรมนั้น จะเห็นว่างานศพเป็นงานเชิงบวกที่มีการนำประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาในงาน รวมไปถึงหลักศีลธรรมความดีงามที่มีการนำมาสอนมาตักเตือนกันในงาน แต่พอมีเหล้าเข้ามากลับกลายเป็นงานด้านลบ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในงาน ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิดศีล และการทำผิดอื่นๆ ตามมา ฉะนั้นเราจะนำเหล้ามาเป็นตัวกำหนดการทำงานทำไม นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่คิดว่าต้องทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปบูรณาการต่อยอดต่อไปในงานอื่นรวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ได้อีก” อาจารย์เยาวภา กล่าว

 

            ทั้งนี้กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ 2 พื้นที่ต้นแบบ คือ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ที่ได้มีการประกาศเป็นอำเภองดเหล้าในงานศพได้สำเร็จทั้งอำเภอ และตำบลบ้านติ้ว จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการดื่มสุรามาก แต่สามารถพัฒนาได้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการรณรงค์ในหลายพื้นที่ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและสร้างกำลังใจพร้อมแนวคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้ากับพื้นที่อื่น พร้อมกันนี้ยังมีละครสะท้อนสังคม “งานศพ…ดื่มเหล้าเพื่ออะไร” ละครน้ำดีโดยกลุ่มกิ่งก้านใบแหล่ และแหล่ “งานศพปลอดเหล้า ส่งคนตายขึ้นสวรรค์” โดย ชัยพร ลูกบ้านแพน ศิลปินดีเด่นจังหวัดพิษณุโลก และเสมาทอง ศิลปินแห่งชาติ ร่วมงาน

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 26-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ