9 ข้อควรระวังสำหรับผู้ปกครอง ในกิจกรรมวันเด็ก

 

9 ข้อควรระวังสำหรับผู้ปกครอง ในกิจกรรมวันเด็ก

 

ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา แนะ 9 ข้อควรระวัง สำหรับผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานร่วมกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2555 ในวันเสาร์ที่ 14 ม.ค.นี้…

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จังหวัดให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอนาคตของชาติขึ้นอยู่กับเด็ก เยาวชน วัยรุ่นเป็นสำคัญ ถ้าเราดูแลไม่ดีโดยไม่ใส่ใจต่อลูกหลานเยาวชน ณ เวลานี้ ต่อไปวันข้างหน้าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ ฉะนั้นจังหวัดจะเน้นเรื่องเด็ก เยาวชน ทุกอย่างที่เราทำงานก็อยากจะให้ช่วยกันมองไปถึงวันข้างหน้า มองไปถึงอนาคตงานที่เราทำเวลานี้จะเป็นผลดีกับลูกหลานเยาวชนของเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราช่วยกันคิดช่วยกันวางแนวทางให้กับเขา

ด้านนาย วัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2555 หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมใจกันจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ และความสนุกสนานให้กับเด็ก และเยาวชนตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ผู้ปกครองจะพาบุตรหลานไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก จึงอาจเกิดอุบัติภัยที่ไม่คาดคิดขึ้นมาได้ หากตั้งอยู่บนความประมาท เช่น อุบัติเหตุจราจรทางถนน อุบัติภัยจากเครื่องเล่นเด็ก และอุบัติภัยทางน้ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้ปกครอง เรามีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในวันเด็ก ดังนี้ 1. ผู้ปกครองควรเขียนชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ใส่ในกระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงของเด็กๆ เพื่อความสะดวกในการติดต่อกลับ เมื่อเกิดการพลัดหลง 2. การพาเด็กเข้าชมงาน และชมการสาธิตต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้ความชำนาญ เพราะอาจจะทำให้เด็กได้รับอันตรายได้3. การเข้าชมสวนสัตว์หรือสวนสนุก ไม่ควรเข้าใกล้กรงสัตว์มากเกินไป เพราะอาจถูกสัตว์ทำร้าย 4. ไม่ควรพาเด็กเข้าไปในจุดที่มีผู้ชมแออัดมากๆ เช่น บนสะพานไม้ ริมสระน้ำ ริมถนน ฯลฯ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นมาได้ 5. การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ไม่ควรห้อยโหน หรือขึ้นรถที่แน่นจนเกินไป ควรลงจากรถตรงจุดหยุดรถประจำทาง และข้ามถนนในจุดที่มีตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก 6. การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เด็ก และระวังอย่าให้ยื่นศีรษะ หรือแขนออกนอกตัวรถ 7. ควรพิจารณาเลือกเครื่องเล่นแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับ อายุ และ ส่วนสูง ของเด็ก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ 8. ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ไข้สำหรับเด็ก ยาหม่อง ยาแก้อาเจียน ยาแก้เมารถ พลาสเตอร์ปิดแผล ติดตัวไปด้วยเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บเบื้องต้น และ 9. ไม่ควรปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เพราะอาจพลัดหลงกับเด็กได้ง่าย และควรนัดจุดที่เด็กสามารถจำได้ง่าย หากเด็กเกิดพลัดหลงจะได้สามารถมาหาตามจุดนัดหมายได้โดยไม่พัดหลงหรือหากันไม่พบ.

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code