“8+4” หลักสูตรท้องถิ่นเทศบาลปริก สร้างพลเมืองตื่นรู้
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจาก สสส.
“สังคมคนดี” หนึ่งในรูปธรรมการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต 7 สังคม ของเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่ประกอบไปด้วย สังคมสันติสุข สังคมสวัสดิการ สังคมรักษ์โลก สังคมเอื้ออาทร สังคมปรับตัว และสังคมไม่เดือดร้อน โดยโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก เป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างคนดี มีหน้าที่ให้ความรู้ สอนคุณธรรมและจริยธรรม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้สนับสนุนส่งเสริม การทำงานของเทศบาลตำบลปริก ผ่านกระบวนการทำงานที่เรียกว่า “มหาวิชชาลัยปริก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน มุ่งสร้างคนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทุกกลุ่มคน
โรงเรียนเทศบาลปริก มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรมาตรฐานและจัดการสอนนอกระบบสอดคล้องกับคำสอนทางศาสนา ภายใต้วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า จัดการศึกษาดี มีคุณภาพ ส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต จัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนบนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เพราะหากท้องถิ่นใดให้ความสำคัญกับการศึกษา เด็กจะมีความกล้า และมีความเป็นผู้นำ โดย นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า ต้องการสร้างพลเมือง โดยเฉพาะพลเมืองที่ตื่นรู้ เทศบาลตำบลปริกมีโรงเรียนที่มีหลักสูตร 8+4 เพราะเราต้องการสร้างและปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดีให้กับเด็ก อย่างน้อยเด็กต้องรู้จักบ้านของตัวเอง มีสำนึกรักบ้านเกิดและสามารถทำกิจกรรมที่สอดรับกับกิจกรรมที่ชุมชนกับเทศบาลกำลังขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและภัยพิบัติ และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหลักสูตร 8+4 จะเป็นเนื้อหาที่แตกต่างจากหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรนี้ถือเป็นกลไกในการสร้างพลังพลเมืองในอนาคตของเทศบาลปริก
โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับ อนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนทั้งหมด 520 คน นับถือศาสนาพุทธ 13% และนับถือศาสนาอิสลาม 87% โดย นางสาวอุษณีย์ เหล็มหมัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก กล่าวว่า โรงเรียนเทศบาลตำบลปริกเน้นสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้ง กาย ใจ ปัญญา ภายใต้แนวคิดที่อยากให้เด็ก ดี เก่ง และมีความสุข โดยเน้นการสร้างคนดีควบคู่กับการสร้างคนเก่ง ความแตกต่างในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเทศบาลปริกกับโรงเรียนทั่วไป คือ 1) โรงเรียนมีการเรียนวิชาศาสนา ทั้งอิสลามศึกษาและพุทธศาสนา เน้นให้เด็กเรียนรู้หลักธรรมของศาสนาตัวเอง โดยเชื่อว่าการจะเป็นคนดีต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยว เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและนำมาบูรณาการกับชีวิตจริง 2) มีกิจกรรมโครงการที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น วันฮารีรายอ ค่ายวิถีอิสลาม วันเข้าพรรษา และการบวชบรรพชา เป็นต้น ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมดังกล่าว และ 3) หลักสูตรเพิ่มเติม 4 หลักสูตร นอกเหนือจาก 8 กลุ่มวิชาแกนกลาง ที่เชื่อว่าเป็นหลักสูตรสร้างคนดี ได้แก่ วิชาวิถีชุมชน วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา วิชาพลังงานทดแทนและภัยพิบัติ และวิชาเศรษฐกิจพอเพียง
นางสาวอุษณีย์ อธิบายถึงรายละเอียดของ 4 วิชาหลักสูตรท้องถิ่นที่เพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลางว่า วิชาวิถีชุมชนจะปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ชุมชน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตโดยการให้ความรู้ผ่านปราชญ์ชาวบ้าน กำหนดร่วมกันว่าเด็กควรจะเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง เช่น ประวัติบุคคลสำคัญ สถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา จะเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ชุมชน คลอง เพื่อให้เห็นปัญหาและเกิดการแก้ไข มีจิตสาธารณะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน ส่วนวิชาพลังงานทดแทนและภัยพิบัตินั้นปลูกฝังเรื่องการประหยัดพลังงาน การรับมือ เตรียมความพร้อมและป้องกันภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ และวิชาเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เรียนรู้และถอดบทเรียน เช่น การรับประทานอาหาร การมีเหตุผล โดยดูบริบทของท้องถิ่น นโยบาย และความต้องการของชุมชนเป็นหลัก
ด้าน นางสาวรัตติยา เจะอาหลี ครูประจำชั้น ห้อง ป.6/2 กล่าวว่า ครูทุกคนต้องร่วมกันทำหลักสูตรและปรับความเข้าใจกันว่าจะมีวิธีการสอนแบบใด ใน 1 สัปดาห์ ครูแต่ละรายวิชาจะต้องมีวิชาหลักสูตรท้องถิ่น 1 ชม. โดยสอนทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าเด็กชอบหลักสูตรแบบนี้ เนื่องจากเป็นพื้นฐานในเรื่องที่เด็กอยากรู้ เช่น วิชาวิถีชุมชน เด็กจะตื่นเต้นในเนื้อหาสาระ รู้สึกว่าเด็กจะมีความสุขกับการเรียน ผูกพันและรักชุมชน แต่หากเป็นวิชาหลักอย่างวิชาสังคมเด็กก็จะเรียนในภาพกว้างมากขึ้น แต่วิชาวิถีชุมชนจะเจาะลึกเฉพาะในชุมชนของเราเท่านั้น
“รู้สึกตื่นเต้นและสนุกในการเรียน เพราะข้อมูลบางอย่าง ไม่เคยรู้มาก่อนว่าชุมชนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร” เด็กหญิงสิรัญญา หมุดเส็ม ชั้น ป.6/2 สะท้อนความรู้สึกในการเรียนภายใต้หลักสูตรท้องถิ่นที่แตกต่างจากสถานศึกษาอื่น ๆ โดยเล่าว่า เนื้อหาของรายวิชาหลักสูตรท้องถิ่นไม่ยาก สามารถเข้าใจได้ง่าย โดยส่วนตัวชอบวิชาวิถีชุมชนมากที่สุด เพราะทำให้รู้ถึงประวัติต่าง ๆ และชอบการสอนผ่านการทำกิจกรรมเพราะได้เรียนรู้เองและได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การแยกขยะ และการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
แนวคิดของผู้นำเทศบาลปริกที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญ และการส่งเสริมการศึกษาเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถสร้างสังคมคนดีผ่านกระบวนการโดยชุมชนเพื่อชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของเทศบาลตำบลปริกที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชุมชน คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประชาสังคมสันติสุข” นั่นเอง