8 สิ่งที่ควรทำหลังน้ำลด และวิธีล้างบ้านขจัดเชื้อราเพื่อสุขอนามัยดี

ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

                    จากสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือ ส่งผลให้ในหลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมใหญ่ ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อน้ำผ่านไป สภาพบ้านเรือน ก็เต็มไปด้วยความเสียหาย เพราะในช่วงน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีจึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยตามหลักสุขาภิบาล  เพราะหากปล่อยไว้นาน จะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค

                    โดยเฉพาะเชื้อราที่พบได้หลังน้ำลด ตามบริเวณพื้น ฝาผนัง วอลล์เปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น จำเป็นต้องได้รับ การรื้อและล้างทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน

8 สิ่งที่ควรทำหลังน้ำลด

  • ตรวจระบบไฟ ก่อนการใช้งานต้องรอให้แห้งสนิทก่อน เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
  • สำรวจความเสียหาย โครงสร้างของบ้าน และบริเวณโดยรอบ
  • เตรียมก่อนล้าง เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด และอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง รองเท้ายาง ฯลฯ
  • ดูแล ปรับปรุง ห้องครัว ขัดล้างห้องครัวและทำความสะอาดเครื่องครัว กำจัดเชื้อรา
  • ลงมือล้างทำความสะอาดควรลงมือทันทีหลังน้ำลดจะช่วยให้ขจัดคราบสกปรกได้ง่าย
  • ดูแล ปรับปรุง ห้องส้วม ในกรณีที่ส้วมเต็ม หรืออุดต้น ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพเทราด ลงในคอห่าน หรือโถส้วม
  • ทำความสะอาดสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ควรซักให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง ก่อนนำมาใช้
  • แยกขยะรีไซเคิลทั่วไปก่อนทิ้ง คัดแยกขยะประเภทที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เช่น โลหะ กระป๋อง เพื่อนำไปจำหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า

วิธีทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด

                    ก่อนเข้าไปในบ้านต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย และมั่นใจว่าโครงสร้างของบ้านมีความมั่นคงแข็งแรง เมื่อเข้าไปแล้วให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดกลิ่นเหม็นอับ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้าน หรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อรา  ฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์  เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ด้วยการนำไปตากแดด ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา

3 ขั้นตอนขจัดเชื้อราในบ้าน

  • พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชู แผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิว   ไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด
  • ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง
  • ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60 – 90 เปอร์เซ็นต์

                    เช็ดทำความสะอาด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย โดยผู้ทำความสะอาดต้องหยุดพักสูดอากาศบริสุทธิ์ ทุก 1 – 2 ชั่วโมง อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหลังจากการล้างบ้านและกำจัดเชื้อรา เพื่อความปลอดภัย  และสุขอนามัยดี ที่สำคัญ ก่อนการทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราในบ้าน ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย สวมหน้ากาก ถุงมือยาง และรองเท้าบูททุกครั้ง

Shares:
QR Code :
QR Code