8 มาตรการสร้าง ‘สุขภาวะ’ ที่ทุกคนทำได้
ปัจจุบันทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งปัญหาด้านอบายมุข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ปลอดภัยจากการขับขี่รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมไปถึงปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของการเป็นสถาบันการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังแผ่นดินฟื้นฟูการเรียนรู้ “โครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์” จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกทุกคนในสถาบันมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของคำว่า“สุขภาวะ” เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น”มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน”ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ส่งเสริม สนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์อย่างมีส่วนร่วม”คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้ประกาศเป็นนโยบายสุขภาวะและกำหนด 8 มาตรการเพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงาน ซึ่งประกอบไปด้วย1.การประกาศนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัย 2.การสร้างกระแสการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่บุคลากร 3.การพัฒนาสภาพแวดล้อม 4.พัฒนาระบบการให้บริการและสวัสดิการของมหาวิทยาลัย 5.จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 6.สนับสนุนการจัดกิจกรรมของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย 7.สร้างเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 8.การค้นคว้าวิจัยและการจัดกิจกรรมต่าง เพื่อการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ภายในมาตรการเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายคือสร้างความตระหนักในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาวะและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับบุคลากรทุกๆ คนภายในมหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.สัมพันธ์ รอดพึ่งครุฑ รองอธิการบดีและหัวหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการฯ ว่า คือการส่งเสริมด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคมที่ดี ที่จะเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรทั้งอาจารย์ ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ
“สิ่งที่เราเน้นเป็นอย่างมากก็คือการสร้างกระแสในเรื่องสุขภาวะให้เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างกระแสให้บุคลากรทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญในการที่เราจะเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาวะอย่างสม่ำเสมอมีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพภายในมหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่นจัดสถานที่นั่งพักผ่อนของนักศึกษา จุดบริการน้ำดื่มและดูทีวีตามจุดต่างๆ เพิ่มขึ้น มีการสร้างศูนย์ออกกำลังกายกลางแจ้ง เพิ่มขึ้นเพื่อเอื้อต่อการออกกำลังกายของนักศึกษา
นอกจากนี้ยังมีบริการเรื่องของการตรวจสุขภาพ จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรมและสัมมนาร่วมกับเครือข่ายจากภายนอก ที่สำคัญที่สุดและถือว่าประสบความสำเร็จมากก็คือ โครงการจัดประกวด 5 ส เพื่อให้สำนักงานและคณะต่างๆมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะซึ่งทุกคณะก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากการดำเนินงานมา 1 ปีพบว่าบุคคลากรของเราเริ่มเห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีเริ่มไปใช้บริการสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ ร่วมกับนักศึกษามากขึ้น และถ้านักศึกษาของเราตระหนักในเรื่องของการมีสุขภาวะที่ดี เขาก็จะช่วยนำไปเผยแพร่ ไปให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เขาตระหนักในเรื่องของการมีสุขภาวะที่ดีไปตลอดชีวิต”อาจารย์สัมพันธ์ กล่าว
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กรสสส. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะผ่านองค์กรต่างๆ เช่น สถาบันศึกษา สถานประกอบการ องค์กรภาครัฐต่างๆเป็นต้น โดยการสร้างสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏจะเน้นไปที่เรื่องของการสร้างระบบการทำงานภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการกระตุ้นให้เกิดนโยบายในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ และการมีผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย
“ผลที่ได้คือเกิดการพัฒนาไปที่บุคลากรกลุ่มต่างๆ ภายในองค์กร โดยในปีแรกเราจะเน้นในเรื่องของการรณรงค์ให้เกิดการสร้างความตระหนักทำอย่างไรให้คนในมหาวิทยาลัยเข้าใจในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ ซี่งไม่ใช่แค่เรื่องของการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกัน การมีจิตอาสา หรือสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพทั้งหมด” นางเพ็ญพรรณกล่าวสรุป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update: 11-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อภิชัย วรสิทธิ์ขจร