8 ข้อควรจำ เลือกรับประทานอาหารในงานเลี้ยง
เทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในการพบปะสังสรรค์ และจัดงานเลี้ยงบ่อยๆ ส่วนใหญ่อาหารที่นำมาเลี้ยงฉลองมักหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีรสชาติอร่อยและสีสันสวยงาม
นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล แพทย์ประจำศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลรามาธิบดี และเลขานุการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า อาหารในงานเลี้ยงส่วนใหญ่ นอกจากมีส่วนประกอบหลักเป็นแป้ง น้ำตาลและไขมันแล้ว ยังแฝงไปด้วยโซเดียมในปริมาณมากด้วย ดังนั้นผู้ที่ต้องไปร่วมงานเลี้ยงบ่อยๆ หรือทานอาหารประเภทนี้บ่อยๆ มักเป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคไต
วิธีการเลือกรับประทานอาหารในงานเลี้ยง มีหลักง่ายๆ ดังนี้
1.ไม่ควรอดอาหารหรือปล่อยให้ท้องว่างก่อนถึงงานเลี้ยง เพราะจะทำให้บริโภคได้มากกว่าปกติและมักไม่เลือกอาหารที่ดีเท่าที่ควร
2.เมื่อถึงงานเลี้ยงควรเดินดูอาหารให้ครบทุกจานก่อน เพื่อเป็นตัวเลือกและเลือกอาหารที่ดีที่สุด
3.ควรเลือกทานอาหารประเภทผักรองท้องก่อนเลือกทานอาหารชนิดอื่นๆ
4.ควรเลือกทานอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลัก เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิดไม่ติดหนัง ไม่ติดมันหรือนำออกก่อนทาน เพราะอาหารประเภทโปรตีนทำให้อ้วนน้อยกว่าอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และทำให้อิ่มนานขึ้น
5.เลือกอาหารที่พลังงานต่ำ เช่น อาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ยำ แทนอาหารที่มีพลังงานสูงจำพวกแกงกะทิ อาหารทอดและชุปแป้งทอดแต่ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ทานปริมาณเล็กน้อย อาหารชุปแป้งทอดควรนำแป้งออกก่อนทาน
6.เลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งเป็นส่วนประกอบสูง เช่น ขนมไทย ขนมเค้ก เบเกอรี่ต่างๆ เลือกทานผลไม้แทนขนมหวาน แต่ควรตระหนักว่าผลไม้ 1 จานเล็ก (8-10 ชิ้นคำ) ให้พลังงานใกล้เคียงกับข้าว 1 ทัพพีเช่นกัน
7.ควรดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำอัดลมประเภทไม่มีพลังงานแทนน้ำอัดลมธรรมดา หรือแอลกอฮอล์ เพราะน้ำอัดลม 1 กระป๋อง (325 ซีซี)ให้พลังงาน 140-250 กิโลแคลอรี ใกล้เคียงกับข้าวประมาณ 2-3 ทัพพี และแอลกอฮอล์ 1 ส่วน (วิสกี้ 1 เป็ก ไวน์ 100 ซีซีและเบียร์ ½ กระป๋อง) ให้พลังงาน80 กิโลแคลอรี เท่ากับข้าว 1 ทัพพี
8. หลีกเลี่ยงการกินอาหารซ้ำซ้อนในอาหารกลุ่มเดียวกัน เช่น ถ้าทานเค้กก็ควรงดข้าวเพราะเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเหมือนกัน ถ้าเลือกทานผลไม้สดก็ควรงดดื่มน้ำผลไม้ และถ้าอาหารที่เลือกทานส่วนใหญ่เป็นอาหารทอดก็ควรงดอาหารที่มีกะทิ เป็นต้น
นอกจากการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมและพอเหมาะกับความต้องการของร่างกายแล้ว อาหารที่ถูกสุขลักษณะก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยควรเลือกอาหารที่ปรุงร้อน สด สะอาดและปรุงสุกโดยเฉพาะประเภทเนื้อสัตว์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารหมักพิษ ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารใส่ปาก ควรล้างมือด้วยสบู่ก่อนทานอาหารและหลังการใช้ส้วมทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ
ดังนั้นทั้งการเลือกอาหารและชนิดของอาหารในงานเลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยควรตระหนักทั้งผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน และควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อจะได้เฉลิมฉลองอย่างมีความสุข
**ตัวอย่างอาหารที่มักเลือกมาจัดตามเทศกาล และให้พลังงานสูง ได้แก่
1. พิซซ่า 1 ชิ้น (236 กรัม) ให้พลังงาน 553 กิโลแคลอรี่
2.โดนัท (บัตเตอร์นัท) 1 ชิ้น ให้พลังงาน 384 กิโลแคลอรี่
3.ไก่ทอด, สะโพก 1 ชิ้น (107 กรัม) ให้พลังงาน 380 กิโลแคลอรี่
4. เฟรนซ์ฟรายส์ขนาดกลาง ให้พลังงาน 360 กิโลแคลอรี่
5.ไอศครีม 1 ถ้วย ให้พลังงาน 300 กิโลแคลอรี่
6.บราวนี่ ชีสเค้ก บัตเตอร์เค้กและเค้กช็อกโกแลต 1 ชิ้น ให้พลังงาน 280 กิโลแคลอรี่
7. คุกกี้เนย 3 ชิ้น ให้พลังงาน 240 กิโลแคลอรี่
8. บัวลอยเผือก 1 ถ้วย ให้พลังงาน 230 กิโลแคลอรี่
9. กาแฟ ไมโลเย็น 1 แก้ว ให้พลังงาน 200 กิโลแคลอรี่
10. ปอเปี้ยทอด 3 ชิ้น ให้พลังงาน 188 กิโลแคลอรี่
ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง