70 จุดเสี่ยง! ทางยกระดับมรณะ
นับเป็นความคลางแคลงใจแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนกันอีกครั้ง กรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกทางด่วน ถึงสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทิ้งคำถามแก่ประชาชนผู้สัญจรว่าถนนทางด่วนทางยกระดับในประเทศไทยนั้นมีมาตรฐานความปลอดภัยแค่ไหนกัน มิหนำซ้ำยังมีข้อมูลจาก กทม. เผยว่ามีจุดเสี่ยงบนถนนกว่า 70 จุด
หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรที่เวียนกลับมาไม่รู้จบ หลังสิ้นเสียงอึกทึกจากโครงเหล็กรถที่ปะทะลงเบื้องล่าง หลงเหลือเพียงซากและร่างไร้วิญญาณ ขณะเดียวกัน เสียงสะอื้นจากครอบครัวญาติมิตรของผู้ประสบอุบัติเหตุในครั้งนั้นก็ดังขึ้นอีกครั้ง
กรณีอุบัติเหตุรถตกทางด่วนนั้น เกิดขึ้นปรากฏภาพข่าวให้ได้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง อย่างปลายปี 2553 ก็มีเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ที่กลายเป็นที่จดจำ ‘คดีแพรวา 9 ศพ’ ขับรถเก๋งพุ่งชนรถตู้โดยสารเป็นเหตุให้รถตู้พร้อมคนขับและผู้โดยสารบุคลากรผู้มีคุณค่าของประเทศตกทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์
หรืออย่างเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ปรากฏกรณีรถยนต์ตกทางด่วนซ้ำซากเป็นข่าวใหญ่โตให้ประชาชนตื่นตัวและทวงถามถึงความปลอดภัยบนถนนทางด่วนทางยกระดับกันอย่างหนาหู
9 ส.ค. มาธวี วัฒนกุล หรือ น้องมายด์ ลูกสาวนักแสดงรุ่นใหญ่ที่เสียชีวิตจากอุบัติรถยนต์ตกทางยกระดับบริเวณสะพานข้าม ถนนแยกรัชวิภา
15 ส.ค. มัญชุกร นามวิชัย นักศึกษาของสถาบันการบินพลเรือน ขับรถยนต์ตกทางด่วนย่านปทุมธานี ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนสำรวจกันอย่างจริงจังยังมีอีกหลายกรณีที่ประสบอุบัติเหตุตกทางด่วน แต่ดูเหมือนว่าเหตุสะเทือนขวัญกลางกรุงที่เกิดไล่เลี่ยกันในครั้งนี้จะเพิ่งกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจสั่งการดูแลจัดระบบระเบียบความปลอดภัยบนทางด่วนกันอย่างจริงจัง
มาช้า..ยังดีกว่าไม่มา
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็รีบออกมาเปิดเผยหลังที่ประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ความว่า เบื้องต้นบริเวณแยกตัววายบนทางยกระดับในกรุงเทพฯ นั้นมีเครื่องหมายสะท้อนแสงและเสาล้มลุกไว้เป็นสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ตามมาตรฐานทางวิศวกรรม
ดูเหมือนว่ากรณี น้องมายด์ จะสร้างความตื่นตัวให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางป้องกันอย่างชัดเจนกันมากขึ้น ทางคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครก็ได้สั่งการให้สำนักการจราจรกรุงเทพฯ เร่งทำการตีเส้นชะลอความเร็วเพิ่มเติมบริเวณจุดคับขันของทางยกระดับทุกแห่ง ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพฯ ก็มีการตีเส้นชะลอความเร็วในบริเวณพื้นราบจำนวน 115 จุด ทางโค้ง 68 จุด และบริเวณทางแยกทุกแห่งในกรุงเทพฯ ด้วย
และกำลังจัดสรรงบประมาณติดตั้ง Crash Cushion หรือกำแพงกันชนแบบแบบใหม่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดูดซับแรงปะทะสามารถลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เบื้องต้นใช้งบประมาณ 8 ล้านบาท จัดซื้อจำนวน 18 ชุด ติดตั้งบริเวณจุดเสี่ยง 7 แห่ง จากทั้งหมด 70 กว่าแห่ง ได้แก่
1. ทางยกระดับจตุรทิศ เลียบบึงมักกะสัน 2. ทางยกระดับบรมราชชนนี 3. สะพานลอยข้ามแยกถนนรัชวิภา 4. สะพานข้ามแยกเอกมัยเหนือ 5. สะพานลอยข้ามแยกถนนบางกะปิ 6. สะพานลอยข้ามแยกถนนรามคำแหง 7. สะพานลอยข้ามแยกถนนพระราม 2
นอกจากนี้ ทางกรุงเทพฯ ก็จะทำการติดตั้งแถบยางบนพื้นผิวถนน หรือ Rubber Stripes เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอความเร็วตื่นกลัวว่าเข้าสู่โค้งอันตราย พร้อมเพิ่มป้ายเตือน ป้ายแนะนำจำกัดความเร็ว ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2553 บ่งชี้ว่าจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วน ที่เรียกว่า ‘ทอแคเรีย’ หรือ ‘จุดก้างปลาตัววาย’ มีสถิติเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตแทบทุกครั้ง
ปฎิบัติตามกฎลดอุบัติเหตุ
ต้องยอมรับว่าแม้ถนนจะสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน หรือติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดความรุนแรงกรณีรถประสบอุบัติเหตุ แต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือตัวผู้ขับขี่เองที่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดลดความสูญเสียด้วย
ด้าน สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็แสดงทัศนะไว้ความว่า กรณีรถตกทางด่วนไม่ควรมุ่งประเด็นอุบัติเหตุบนท้องถนนว่าเป็นเพราะการออกแบบถนนเพียงอย่างเดียว เพราะทางตรงธรรมดาๆ ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ฉะนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสติสัมปชัญญะของผู้ขับขี่ ช่วงเวลา สัญญาณจราจร ฯลฯ
ขณะเดียวกัน การออกแบบขอบกั้นช่วงแยกตัววายที่มีลักษณะป็นสโลปนั้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กรณีผู้ขับขี่วิ่งชนด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด ก็จะเบี่ยงออกทางซ้ายหรือขวาได้ หากตั้งเป็นกำแพงสูงอาจเกิดการปะทะที่รุนแรงกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ต้องมาระดมสมองคิดแนวทางป้องกันการพุ่งชนเพื่อไม่ให้รถที่ขับมาด้วยความเร็วตกสะพาน
ดร.วศิน เกียรติโกมล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ กทม. นำอุปกรณ์ช่วยลดความรุนแรงกรณีรถประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนมาติดตั้งนั้นจัดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี
“ทางประเทศอเมริกาก็ใช้กันอยู่ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะติดตั้งเข้าไปนะ มันช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ ก็คือไม่ได้เป็นการป้องกัน แต่เป็นการลดความรุนแรงของอุบติเหตุ แทนที่เราวิ่งออกนอกถนนแล้วไปชนกับอะไรที่อาจทำอันตรายถึงชีวิตก็จะเหลือแค่บาดเจ็บ”
ค่อยเป็นค่อยไปตามโมเดลต่างชาติ
ดร.วศิน เล่าถึงโครงสร้างการออกแบบถนนในต่างประเทศโซนอเมริกาว่า มีการออกแบบถนนโดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยไปพร้อมๆ กับติดตั้งอุปกรณ์ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ จำพวก Crash Cushion, Rubber Stripes ฯลฯ
“อย่างแรกการออกแบบ จะมีการพิจารณาการออกแบบอย่างน้อยต้องมีการช่วยลดอุบัติเหตุด้วย เน้นทางด้านความปลอดภัย มีมาตรฐานรองรับอย่างเช่นความกว้างถนน ความกว้างของไหล่ทาง ต้องมีความกว้างอย่างน้อยเท่าไหร่ถึงจะมีความปลอดภัย ตามพวกโค้งต้องมีรัศมีพอเพียง รถเข้าโค้งด้วยความปลอดภัยด้วยความเร็วต่างๆ และอีกอย่างคือกรณีที่รถออกนอกเลนไปแล้ว เขาก็จะใช้วัสดุที่ชนแล้วเกิดการยุบตัวได้ก็จะเพิ่มความปลอดภัยทั้งคนขับและตัวรถด้วย”
สำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดในเรื่องของการออกแบบถนน ก็สามารถฟ้องร้องได้ ตรงนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประเทศเขาก็สามารถป้องกันตัวเอง โดยการสร้างบนมาตรฐาน อีกอย่างไม่ว่าตรงไหนที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเขาจะเข้าไปดูแล้วทำการปรับปรุงทันที
“จริงๆ แล้วในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป ก็ดูแลได้ไม่ทั่วถึงทีเดียว แต่เขาดูจากสถิติอุบัติเหตุ สถานที่ไหนมีความเสี่ยงมากที่สุดก็จะไปดำเนินการตรงนั้นก่อนแล้วไล่ไปหาสถานที่จุดเสี่ยงน้อยที่สุด ถือว่าก็เป็นการแก้ปัญหาที่ค่อยๆ แก้ไป แต่ก็ไม่หมดไปทีเดียวเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของอุบัติเหตุรถตกทางด่วน ดร.วศิน ก็แสดงทัศนะสอดคล้องกับ นายกวิศวกรรมสถานฯ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการออกแบบถนนอย่างเดียว
“สาเหตุมาจากตัวคนขับด้วย ทำผิดกฎหมาย ขับรถเร็ว มันนอกเหนือจากการควบคุม เพราะว่าออกแบบมาดีอย่างไร แต่ว่าคนขับเร็วจนไม่สามารถป้องกันอะไรได้ก็จะเจอเหตุการณ์นี้ขึ้นได้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ได้นำนวัตกรรมในต่างประเทศเข้ามาใช้เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุแล้วก็อย่าหยุดที่จะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อผู้ใช้รถใช้ถนนกันต่อไป
คงต้องย้ำกันอีกครั้งว่า “อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้..ถ้าประมาท” ซึ่งการเกิดขึ้นในแต่ละครั้งก็ยากที่จะสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ผู้ขับขี่เองก็คงต้องมีสติตระหนักถึง และปฏิบัติตามกฎจราจรกันด้วย บางทีความสูญเสียอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง แต่ผลกระทบจากความประมาทของคุณอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตบริสุทธิ์บนท้องถนนก็เป็นไปได้
ยิ่งการขับขี่บนทางด่วนก็คงต้องระมัดระวังกันมากขึ้น เพราะไม่ว่าการออกแบบถนนจะดีหรือไม่ดี หรือมีอุปกรณ์ลดความรุนแรงกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ก็มีเปอร์เซ็นต์การเกิดอุบัติเหตุขึ้นทั้งนั้น ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อนำภาษีของประชาชนไปเป็นงบประมาณจัดซื้อนวัตกรรมลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ก็ขอให้เร่งสร้างความศรัทธาในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน