7 Senses เครื่องมือแห่งการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

ที่มา : http://www.kidactiveplay.com


7 Senses เครื่องมือแห่งการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย thaihealth


เรารู้กันดีว่าในช่วง 6 ขวบแรกของชีวิตนั้น เด็กๆ จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัส พูดได้ว่าประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างแรกที่เด็กใช้ทำความรู้จักกับสิ่งแวดล้อม และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการใช้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เมื่อโตขึ้น ประสาทสัมผัสจะเริ่มทำงานตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์


เมื่อแรกคลอดประสาทสัมผัสเกือบทุกชนิดยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก ยังต้องการตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้วงจรประสาทที่มีอยู่ แตกแขนงเชื่อมโยง และแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจะทำให้ประสาทสัมผัสทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์


ประสาทสัมผัสที่เด็กใช้เรียนรู้โลกนั้น ที่เราคุ้นเคยกันดีก็อวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 ก็คือ ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ้น ลิ้นรับรส ผิวกายรับสัมผัส รวมกับอีก 2 ประสาทสัมผัส คือ การเคลื่อนไหว ซึ่งมีอวัยวะรับสัมผัสหรือความรู้สึกอยู่ที่มีอวัยวะการรับความรู้สึกอยู่ในหูชั้นใน และการรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ


อวัยวะรับสัมผัสทั้ง 7 หรือ 7 senses นี้ จะทำหน้าที่เปลี่ยนตัวกระตุ้นชนิดต่างๆ เช่น แสง สี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ฯลฯ ให้กลายเป็นสัญญาณประสาทเพื่อส่งเข้าไปในสมองบริเวณต่างๆ จนไปถึงเปลือกสมอง (Cerebral cortex) ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสัมผัสแต่ละชนิดจะถูกแยกแยะ และจัดเรียงกันไว้อย่างเป็นระเบียบราวกับแผนที่ หากแผนที่นี้มีรายละเอียดมากก็จะทำให้เด็กแยกแยะสัมผัสต่างๆ ได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวในภายหลัง แผนที่นี้จะมีรายละเอียดมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการได้ใช้ประสาทสัมผัสในวัยเด็ก


อุปสรรคที่ขัดขวางพัฒนาการ & การเรียนรู้


วัยเด็กมีช่วงเวลาสำคัญที่การกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของระบบประสาท โดยเฉพาะการกระตุ้นผ่านการใช้ประสาทสัมผัส เรียกว่าเป็น “ช่วงเวลาวิกฤตของการพัฒนาระบบประสาท” ซึ่งหากไม่ได้รับตัวกระตุ้นที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ ก็จะทำให้วงจรประสาทพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ และยากที่จะแก้ไขให้กลับคืนมาได้ในภายหลัง


สาเหตุที่เด็กจะสูญเสียช่วงเวลาในการพัฒนาระบบประสาทดังกล่าวมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ


1.ร่างกายเด็กไม่แข็งแรง ขาดภูมิคุ้มกัน จึงไม่เอื้ออำนวยให้ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้สูญเสียช่วงเวลาสำคัญที่ระบบประสาทจะได้พัฒนาไป ร่างกายที่ไม่แข็งแรงถือเป็น Physical Threat ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบประสาทและสมองไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่ดี


กรณีนี้ รศ.พญ.จันฑ์ทิตา พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก บอกว่าหากเด็กมีร่างกายไม่แข็งแรง เขาก็ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ เพราะต้องสูญเสียกำลังไปกับการต่อสู้กับอาการป่วยไข้ จึงไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้สิ่งใดๆ เขาเหนื่อยเกินกว่าจะเอื้อมมือไปคว้าโมบาย หรือเล่นของเล่นใหม่ๆ ที่เห็น การเรียนรู้ที่ควรจะเกิดตามวัยก็เกิดไม่ได้เต็มที่ ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กๆ นั้นมีความกระตือรือร้น อยากเรียนรู้ตลอดเวลา


2. การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เด็กๆ จะใช้ประสาทสัมผัสได้ดี เมื่อพ่อแม่ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้ พ่อแม่บางคนปกป้องมากเกินไป จึงทำให้ลูกที่มีร่างกายปกติ กลับไม่ได้ใช้ร่างกายหรือใช้ประสาทสัมผัสอย่างที่จะเป็น เช่น ไม่ยอมปล่อยให้ลูกได้ใช้มือเล่นทราย ไม่ปล่อยให้ลูกเดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้าบ้าง ฯลฯ ด้วยอาจจะเพราะเป็นกังวลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย จึงไม่ปล่อยลูก หรือพ่อแม่บางคนก็ส่งเสริมผิดวิธี ไปกำหนดสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้แต่ในบ้าน เช่น เรียนรู้เรื่องชีวิตสัตว์จากซีดีแทนที่การนำลูกออกไปดูของจริงที่สวนสัตว์ ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะเด็กๆ เรียนรู้จากการได้สัมผัส ได้ลงมือทำ หรือได้เห็นของจริง จึงเท่ากับว่าความกังวลของพ่อแม่ไปเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูก (โดยไม่ตั้งใจสำหรับบางคน)


ในกรณีนี้ พ่อแม่ควรจะจัดสมดุล (balanced) ระหว่างความกังวลกับการจัดประสบการณ์ที่หลากหลายให้ลูกได้เรียนรู้ให้ได้ เช่น หากกลัวว่า เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในดินหรือทราย ก็ปล่อยให้ลูกเดินบนพื้นแห้งๆ หรือบนทรายสะอาดๆ แทน กลัวว่าลูกจะเป็นหวัดหาพาออกแดด ก็ให้ลูกได้รับแสงแดดตอนเช้าๆ แทน เป็นต้น


พัฒนาการไม่สะดุด = การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง


เด็กที่มีร่างกายแข็งแรง ย่อมมีโอกาสในการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสได้มากกว่า เมื่อได้เรียนรู้อย่างเต็มที่แน่นอนว่า เขาจะมีพัฒนาการและการเรียนรู้ตามหน้าต่างแห่งโอกาสของการเรียนรู้ (window of opportunity) อย่างต่อเนื่อง


คุณหมอจันฑ์ทิตา พฤกษานานนท์ ได้ยกตัวอย่างว่าหากเด็กคนหนึ่งร่างกายไม่แข็งแรง วันๆ เอาแต่นอน เขาก็ไม่อาจพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก-ใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าต่างแห่งโอกาสที่สำคัญของเด็กปฐมวัยได้ และนำไปสู่การชะงักงันของพัฒนาการด้านอื่นๆ ด้วย


แต่…หากเขาสามารถลุกนั่งได้ พัฒนาการของกล้ามเนื้อหลังก็จะตามมา การทรงตัวก็ดี การเคลื่อนไหวดี กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ก็ดี การคว้าจับก็ทำได้ และพัฒนาการอื่นๆ ก็จะตาม นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการแข็งแรงพอที่จะนั่งได้ ยังนำไปสู่พัฒนาการอื่นๆ อีกมาก พูดได้ว่าเมื่อร่างกายแข็งแรง ร่างกายของเด็กก็มีกระบวนการของการเติบโต (Growth) และพัฒนาการ (Development) ที่ต่อเนื่องควบคู่กันไป


หรือลูกวัยอนุบาลที่การเรียนรู้ของเขาออกนอกบ้านมากขึ้น มีเรื่องราวมากมายให้ลูกได้เรียนรู้ ซึ่งบางเรื่องราวก็เรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่ได้หากร่างกายไม่เอื้ออำนวย เช่น เด็กคนหนึ่งเฝ้าสังเกตหนอนผีเสื้อบนใบไม้ แต่วันหนึ่งฝนตก เขาป่วย จึงไม่สามารถออกไปสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากหนอนผีเสื้อเป็นดักแด้ได้ การเรียนรู้ของเขาก็ไม่ต่อเนื่อง ต้องหยุดชะงักลง เพราะการเจ็บป่วย การมีร่างกายที่แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการเรียนรู้


ร่างกายแข็งแรงมาจากการมีภูมิคุ้มกันที่ดี


คนเราจะมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย ก็เพราะเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือภูมิต้านทานโรค ซึ่งคุณแม่สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคให้ลูกเพื่อการมีร่างกายแข็งแรง อันจะนำไปสู่พัฒนาการและการเรียนรู้ที่ได้ ด้วยการเลือกอาหารที่ดีครบทุกหมู่ให้ลูก ให้ลูกดื่มนมเพิ่มความแข็งแรง ให้ลูกได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับวัย


เมื่อลูกมีภูมิต้านทานที่ดี เรื่องที่พ่อแม่เป็นกังวล เช่น ไม่ปล่อยให้ลูกเดินบนพื้นดิน พื้นทราย เพราะกลัวเชื้อโรคที่ปนเปื้อน กังวลเรื่องความสะอาด ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยให้ร่างกายลูกแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้


เมื่อร่างกายแข็งแรง สดชื่น แจ่มใส เบิกบาน การเรียนรู้ก็ทำได้อย่างเต็มที่ 

Shares:
QR Code :
QR Code